แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้ออกตรวจสถานประกอบการค้ามีอำนาจหน้าที่เสนอต่อผู้บังคับบัญชาให้ออกหรือไม่ให้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบกิจการค้าถือได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการพิจารณาออกใบอนุญาต จำเลยเรียกร้องเงินเป็นการตอบแทนการออกใบอนุญาต จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149,157 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา5, 13 คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครตำแหน่งเจ้าหน้าที่อนามัย สังกัดงานอนามัย สำนักงานเขตพระโขนงกรุงเทพมหานคร จำเลยเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายไว้ 2,000 บาทเกินกว่าอัตราค่าธรรมเนียมตามกฎหมายซึ่งผู้เสียหายต้องเสียเพียงปีละ 1,000 บาท เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต แต่จำเลยมีหน้าที่เพียงตรวจงานสุขาภิบาลโรงงาน และรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเท่านั้น การที่จำเลยรับเงินไว้จึงมิใช่เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งหน้าที่ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157ลงโทษจำคุก 5 ปี คืนของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งคงฟังได้ตามที่ศาลล่างวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นข้าราชการกรุงเทพมหานครระดับ 2 ตำแหน่งเจ้าหน้าที่อนามัย สังกัดงานอนามัยสำนักงานเขตพระโขนง ระหว่างเกิดเหตุจำเลยมีหน้าที่ตรวจโรงงานรับผิดชอบในเขตพื้นที่แขวงพระโขนง แขวงคลองตัน ผู้เสียหายเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดอมรศุภกิจเอ็นจิเนียริ่ง ซึ่งเป็นโรงงานรับจ้างกลึงโลหะต่าง ๆ อันเป็นการประกอบกิจการซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของจำเลย โดยยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการดังกล่าวจากเขตพระโขนง ผู้มีอำนาจในการออกใบอนุญาตคือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แต่ในทางปฏิบัติผู้ว่ากรุงเทพมหานครได้มอบอำนาจให้แก่ผู้อำนวยการเขต ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตปฏิบัติราชการแทน เมื่อประมาณกลางเดือนมกราคม 2530 จำเลยไปตรวจโรงงานของผู้เสียหายพบว่ามีข้อบกพร่องในการขอออกใบอนุญาต ต่อมาวันที่ 26 มกราคม 2530 จำเลยรับเงินจากผู้เสียหาย 2,000 บาท เป็นค่าธรรมเนียมในการออกใบอนุญาต1,000 บาท ส่วนที่เกินเป็นเงินที่จำเลยเรียกร้องเอาเป็นค่าตอบแทนในการทำเรื่องเพื่อออกใบอนุญาต มีปัญหาในชั้นฎีกาว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 หรือไม่ …จำเลยฎีกาว่าจำเลยไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตในการประกอบการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพแม้จำเลยจะเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการทำเรื่องออกใบอนุญาต การกระทำของจำเลยก็ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นั้น ได้ความจากนายกระจ่างว่า โดยหน้าที่แล้วจำเลยมีหน้าที่ในการเสนอต่อผู้บังคับบัญชาว่าจะออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอใบอนุญาตหรือไม่เพราะจำเลยเป็นผู้ไปตรวจ ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของว่าที่ร้อยตรีบุญชอบ สุคนธ์สิงห์ หัวหน้างานอนามัยซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยว่า เจ้าพนักงานที่ออกตรวจพื้นที่มีอำนาจที่จะเสนอความเห็นว่า ให้ออกหรือไม่ให้ออกใบอนุญาตก็ได้ จึงถือได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงในการพิจารณาว่าจะออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลใดในการประกอบกิจการค้าซึ่งเป็นที่รังเกียจหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครการที่จำเลยเรียกร้องเงินจากผู้เสียหายเป็นการตอบแทนในการดำเนินการออกใบอนุญาตดังกล่าว จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าจำเลยเป็นหญิงไม่เคยต้องโทษจำคุก รับราชการด้วยดีมานานไม่มีประวัติด่างพร้อยมาก่อน เงินที่เรียกและรับไปจากผู้เสียหายก็มีจำนวนเล็กน้อย และมีบุตรอายุยังน้อยที่จะต้องอุปการะเลี้ยงดูถึงสองคน พฤติการณ์สมควรรอการลงโทษจำเลยไว้เพื่อให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดีต่อไป…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 3 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.