แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่จำเลยทำหนังสือว่าจะซ่อมแซมทาวน์เฮาส์ของโจทก์ เป็นกรณีที่จำเลยกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดที่จำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถือว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ซึ่งขณะที่จำเลยทำหนังสือทั้งสองฉบับนั้นยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี ตามสิทธิเรียกร้องที่คู่ความทั้งสองฝ่ายยอมรับตรงกันว่าเหตุละเมิดเกิดขึ้นในกลางปี 2541 อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและให้เริ่มนับอายุความใหม่ แต่จะนับอายุความใหม่ก็ต่อเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดก็ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/15
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ให้อยู่ในสภาพที่ดีและแข็งแรง รวมถึงซ่อมแซม ตกแต่งปรับปรุงส่วนต่าง ๆ ภายในซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องจากการทรุดตัวทั้งหมดโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยไม่สามารถซ่อมแซมได้ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 800,000 บาท กับให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์หรือชดใช้ค่าเสียหายเสร็จ
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 7,500 บาท แก่จำเลย ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 79468 ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี พร้อมทาวน์เฮ้าส์ 2 ชั้นเลขที่ 33/35 ซึ่งเป็นที่ดินและทาวน์เฮ้าส์ในโครงการหมู่บ้านร่มรื่นวิลล์ของจำเลยในราคา 836,000 บาท และโจทก์ได้ต่อเติมที่ระเบียงคอนกรีตเสริมเหล็กด้านหน้าใช้เป็นที่จอดรถกับลานซักล้างด้านหลังของทาวน์เฮ้าส์เป็นห้องครัว เมื่อประมาณกลางปี 2541 ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์เกิดการทรุดตัว ผนังและเพดานแตกร้าวทั้งหลัง นางพจนารถภริยาโจทก์จึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง และร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่ ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2541 องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่มีหนังสือถึงนางพจนารถว่าได้ประสานงานกับจำเลยเพื่อนัดเจรจากับโจทก์ และองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่ได้แจ้งนางพจนารถว่า ตามที่นางพจนารถได้เจรจากับตัวแทนของจำเลยนั้น จำเลยได้ส่งผลการเจรจามาให้องค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่เพื่อประสานงานกับนางพจนารถให้ทราบว่าจำเลยได้ชี้แจ้งว่าทาวน์เฮ้าส์ทรุดตัวมีสาเหตุมาจากการทรุดตัวของฐานรากอาคาร จำเลยยอมรับผิดและยินดีซ่อมแซมแก้ไขอาคารซึ่งรวมถึงทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ที่ทรุดตัวให้อยู่ในสภาพดีและแข็งแรง ตามหนังสือขององค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2541 กับวันที่ 23 เมษายน 2542 กับหนังสือของจำเลยลงวันที่ 3 มิถุนายน เหตุที่ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ทรุดตัวจึงมีสาเหตุจากการทรุดตัวของฐานรากอาคารนั่นเอง แต่หลังจากนั้นจำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ เพื่อซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย เมื่อโจทก์มอบหมายให้นายทวีซึ่งเป็นวิศวกรเข้าไปตรวจสอบทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ในเดือนธันวาคม 2548 โจทก์และครอบครัวยังคงอาศัยอยู่ในบ้านตามปกติ และตอนนางพจนารถภริยาของโจทก์มาเบิกความต่อศาล นางพจนารถก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการแรกว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าตามคำฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายให้ชัดแจ้งถึงฐานความผิดที่จะให้จำเลยรับผิด ทำให้จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จึงเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม เห็นว่า ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า เมื่อประมาณกลางปี 2541 จำเลยได้เข้าดำเนินการทุบรื้อถอนทาวน์เฮ้าส์ซึ่งสร้างอยู่ในแถวเดียวกันและใกล้เคียงกับทาวน์เฮ้าส์โจทก์ ส่งผลให้ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์เกิดการทรุดตัว ผนังและเพดานร้าว นางพจนารถภริยาโจทก์จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง และร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่ ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่นัดโจทก์และจำเลยมาเจรจากัน ผลการเจรจาปรากฏว่า บริษัทจำเลยยอมรับว่าเหตุที่ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์และของผู้เสียหายรายอื่นเกิดการทรุดตัวเนื่องมาจากการทรุดตัวของฐานรากอาคาร และจำเลยยอมรับที่จะซ่อมแซมแก้ไขอาคารที่ทรุดตัวรวมถึงทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ให้อยู่ในสภาพดีและแข็งแรง แต่จำเลยก็ไม่ได้ดำเนินการซ่อมแซมแต่อย่างใด โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์มีความประสงค์ที่จะให้บริษัทจำเลยซ่อมแซมบ้านของโจทก์ให้เสร็จตามที่จำเลยได้ทำหนังสือยินยอมรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือทวงถามไปยังจำเลยอีกครั้ง จำเลย ได้มีหนังสือตอบปฏิเสธความรับผิดอ้างว่า ความเสียหายของโจทก์ไม่ได้เกิดจากการกระทำของจำเลย และความเสียหายที่เกิดขึ้นล่วงระยะเวลาความรับผิดตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยซ่อมแซมบ้านของโจทก์ให้อยู่ในสภาพที่ดีและแข็งแรง หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 800,000 บาท ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ประสงค์จะให้จำเลยรับผิดตามข้อตกลงที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ แม้โจทก์จะมิได้แจกแจงรายละเอียดของค่าเสียหายไว้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ เนื่องจากจำเลยยังสามารถให้การต่อสู้คดีในเรื่องนี้ได้ว่าค่าเสียหายของโจทก์หากมีก็ไม่เกิน 50,000 บาท กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ฟ้องโจทก์จึงหาเคลือบคลุมไม่ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการต่อไปว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าไม่ว่าโจทก์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดอันเนื่องมาจากการส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายชำรุดบกพร่องหรือให้รับผิดในมูลละเมิดตามฟ้องโจทก์ก็ขาดอายุความแล้ว เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เหตุการณ์ที่ทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์แตกร้าวเกิดจากการที่จำเลยทุบรื้อถอนทาวน์เฮ้าส์ข้างเคียงเมื่อกลางปี 2541 ต่อมาโจทก์จึงได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางบัวทอง แล้วร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลบางรักใหญ่จนได้มีการเจรจากัน ต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2541 จำเลยมีหนังสือยอมรับว่าเหตุทาวน์เฮ้าส์ทรุดตัวเนื่องมาจากการทรุดตัวของฐานรากอาคาร และจำเลยยินดีที่จะแก้ไขอาคารที่ทรุดให้อยู่ในสภาพที่ดีและแข็งแรง ส่วนกำหนดเวลาที่จะเริ่มดำเนินการจะแจ้งให้ทราบในภายหน้า เนื่องจากจำเลยกำลังประสบปัญหาการเงินและวันที่ 5 เมษายน 2542 จำเลยได้มีหนังสือยืนยันว่าจะดำเนินการซ่อมแซมให้แต่เหตุที่ล่าช้าเพราะอยู่ในขั้นตอนการออกแบบและต่อรองหาผู้รับเหมาที่มีความชำนาญโดยเฉพาะถ้างานออกแบบและสอบราคาจ้างเหมาเรียบร้อยระยะเวลาเริ่มซ่อมที่แน่นอน จำเลยจะแจ้งให้ทราบก่อนอย่างน้อย 30 วัน ก่อนที่จะดำเนินการซ่อมแซมอาคารให้กลับสู่ภาวะปกติ เช่นนี้ การที่จำเลยทำหนังสือแจ้งผ่านองค์การบริหารส่วนตำบลตำบลบางรักใหญ่ว่า จะซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ เป็นกรณีที่จำเลยกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ละเมิดที่จำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ถือว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ได้รับสภาพหนี้ต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) ซึ่งขณะที่จำเลยทำหนังสือทั้งสองฉบับนั้น ยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 1 ปี ตามสิทธิเรียกร้องที่คู่ความทั้งสองฝ่ายยอมรับตรงกันว่า เหตุละเมิดเกิดขึ้นในกลางปี 2541 อายุความแห่งสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและให้เริ่มนับอายุความใหม่ แต่จะนับอายุความใหม่ก็ต่อเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดลงเวลาใดก็ให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/15 เมื่อมีข้อความว่าจำเลยจะเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์เวลาใด จำเลยจะแจ้งให้โจทก์ทราบก่อนอย่างน้อย 30 วัน แสดงว่าการยอมรับสภาพหนี้ของจำเลยมีเงื่อนไขว่าจำเลยจะชำระหนี้โดยเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์เมื่อใด จำเลยจะแจ้งล่วงหน้าให้โจทก์ทราบอย่างน้อย 30 วัน ดังนั้นตราบใดที่จำเลยยังไม่ได้แจ้งกำหนดวันเริ่มซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ให้โจทก์ทราบ ก็ถือว่าจำเลยยังคงยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องดังกล่าวสืบต่อเนื่องตลอดมา แต่เมื่อจำเลยมีหนังสือแจ้งทนายความของโจทก์ว่าความเสียหายที่โจทก์ได้รับมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลย จำเลยจึงไม่เข้าดำเนินการซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ตามหนังสือลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 เป็นกรณีจำเลยปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ ถือว่าเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงได้สิ้นสุดลงในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2547 อายุความตามสิทธิเรียกร้องในมูลละเมิดจึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 28 มกราคม 2548 จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปว่า ค่าเสียหายที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดมานั้นเหมาะสมแล้วหรือไม่ เห็นว่า เป็นค่าเสียหายที่มากเกินไป ศาลฎีกาพิเคราะห์ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท สำหรับที่จำเลยอ้างว่าหนังสือเสนอราคาเพิ่งทำขึ้นในภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องแล้ว จึงไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า เอกสารใดจะใช้เป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาในแง่ว่ามีคุณค่าต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามประเด็นในคดีหรือไม่ มิใช่พิจารณาจากวันเวลาที่ทำเอกสาร และแม้โจทก์ไม่อ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยาน นายทวีผู้ทำเอกสารดังกล่าวก็คงจะเบิกความได้ความตามเอกสารอยู่ดี การทำเอกสารดังกล่าวขึ้นมาก็เป็นพยานเอกสารประกอบคำเบิกความของนายทวีเท่านั้น ดังนั้นแม้เอกสารหมาย จ.2 จะทำขึ้นในภายหลัง แต่เมื่อเป็นเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ โจทก์ก็ย่อมอ้างเอกสารดังกล่าวเป็นพยานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ตนกล่าวอ้างได้ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นประการสุดท้ายว่า การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ไปทีเดียวโดยมิได้ให้จำเลยดำเนินการซ่อมแซมทาวน์เฮ้าส์ของโจทก์ตามที่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น เป็นการชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยมีคำขอบังคับให้จำเลยเข้าดำเนินการซ่อมแซมบ้านของโจทก์ให้อยู่ในสภาพที่ดีและแข็งแรง หากจำเลยไม่สามารถดำเนินการได้ ก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 800,000 บาท เป็นคำขอที่ให้ศาลบังคับจำเลยอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์และให้ยกคำขออื่น โดยมิได้พิพากษาให้จำเลยเข้าดำเนินการซ่อมแซมบ้านของโจทก์ให้อยู่ในสภาพดีและแข็งแรงด้วย ถือเป็นกรณีที่ศาลใช้ดุลพินิจบังคับจำเลยและตามคำขอของโจทก์เพียงอย่างเดียว คดีไม่จำเป็นที่ศาลต้องพิพากษาตามคำขอของโจทก์ทุกข้อ คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 300,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ