คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7739/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การจ่ายค่าตอบแทนการทำงานหรือสวัสดิการไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา เงินเบี้ยเลี้ยงหรือเงินสวัสดิการต่าง ๆ แก่ลูกจ้างนั้น นายจ้างหรือจำเลยจะต้องเป็นผู้จ่ายไม่ใช่บริษัทนำเที่ยวผู้ว่าจ้าง การที่จำเลยยินยอมให้บริษัทนำเที่ยวผู้ว่าจ้างจ่ายให้ลูกจ้างหรือโจทก์ทั้งหกโดยตรงก็เพื่อความสะดวกที่ลูกจ้างจะได้รับเงินเร็วขึ้น เมื่อจำเลยเปลี่ยนหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายใหม่จากเดิมบริษัทนำเที่ยวผู้ว่าจ้างเป็นผู้จ่ายผ่านมัคคุเทศก์ให้แก่พนักงานขับรถแทนจำเลยผู้รับจ้างเปลี่ยนใหม่เป็นจำเลยผู้รับจ้างเป็นผู้จ่ายให้แก่พนักงานขับรถด้วยตนเอง โดยปรากฏว่าเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาที่ลูกจ้างหรือพนักงานขับรถได้รับยังคงมีจำนวนเท่าเดิมไม่ได้ลดจำนวนลงอย่างใดเพียงแต่ลูกจ้างได้รับเงินล่าช้าไปจากที่ได้รับทันทีเป็นได้รับเมื่อลูกจ้างนำเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องส่งในช่วงเช้าจะได้รับเงินในช่วงบ่าย หากส่งในช่วงบ่ายจะได้รับเงินในช่วงเช้าของวันทำงานถัดไป ประกอบทั้งเหตุที่จำเลยประกาศเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยง หรือค่าล่วงเวลาก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งหกกับพวกซึ่งเป็นพนักงานขับรถฟ้องเรียกให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา จำเลยจึงต้องประกาศเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่มีปัญหาข้อขัดแย้งติดตามมา เมื่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่โจทก์ทั้งหกจะได้รับจากการทำงานยังคงมีอยู่เท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหกหรือพนักงานขับรถอื่น จำเลยย่อมมีอำนาจในการบริหารจัดการงานของตนเองได้ตามเหตุผลที่จำเป็นและสมควร การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของสภาพการจ้างงานเดิม ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง

ย่อยาว

คดีทั้งหกสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งหกสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ตามลำดับ และเรียกจำเลยทั้งหกสำนวนว่า จำเลย
โจทก์ทั้งหกสำนวนฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกัน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามสภาพการจ้างเดิมโดยยกเลิกประกาศเรื่องเก็บค่าขนส่งผู้โดยสารเกินเวลาจากบริษัทนำเที่ยวและลูกค้าทั่วไป จำเลยทั้งหกสำนวนให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบกิจการขนส่ง รับขนส่งให้แก่บริษัทนำเที่ยว บริษัทเฟิสท์ ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัทโกลเด้นไทยแทรเวล จำกัด และจำเลยเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานพนักงานขนส่งและการท่องเที่ยว สหภาพแรงงานโกลเด้นไทย และสหภาพแรงงานเอสซีสมชัยบริการ โจทก์ทั้งหกทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถ มีเวลาเริ่มทำงานและอัตราค่าจ้างตามที่ระบุไว้ในคำฟ้อง กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนนอกจากโจทก์ทั้งหกจะได้รับเงินเดือนแล้ว ยังได้รับค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าโชว์ ค่าบิลทัวร์ สำหรับกรุ๊ปทัวร์จากจีนไต้หวัน และได้ค่าดูแลรักษารถ รวมทั้งค่าอยู่เวรในบางกรณี เมื่อเดือนมีนาคม 2547 โจทก์ทั้งหกกับลูกจ้างอื่นเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางเรียกค่าล่วงเวลา ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งหกกับพวกอุทธรณ์คำพิพากษา วันที่ 8 ตุลาคม 2547 จำเลยออกประกาศเกี่ยวกับเงินเบี้ยเลี้ยงและค่าล่วงเวลา หลังจากจำเลยออกประกาศ สหภาพแรงงานทั้ง 3 แห่งได้ทำหนังสือโต้แย้งคัดค้านและยื่นคำร้องต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้ช่วยเจรจาข้อขัดแย้ง สำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องไปพบและมีการเจรจา ในที่สุด
มีการทำบันทึกไว้ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2547 วันที่ 27 ธันวาคม 2547 และวันที่ 23 ธันวาคม 2547 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ ต่อมาโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องกล่าวหาจำเลยว่า กระทำการอันไม่เป็นธรรมต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ข้อพิพาทอยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรรมการแรงงานสัมพันธ์ โจทก์ที่ 4 และที่ 5 ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์อ้างว่า จำเลยกระทำการอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับเรื่องไม่มอบงานให้ทำ ข้อพิพาทอยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2547 จำเลยจัดประชุมร่วมกับผู้ว่าจ้างซึ่งประกอบกิจการนำเที่ยวที่โรงแรมรามาการ์เด้น ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายค่าล่วงเวลา จากเดิมบริษัทนำเที่ยวผู้ว่าจ้างเป็นผู้จ่ายผ่านมัคคุเทศก์ให้แก่พนักงานขับรถแทนจำเลยผู้รับจ้าง เปลี่ยนใหม่เป็นจำเลยผู้รับจ้างเป็นผู้จ่ายให้แก่พนักงานขับรถด้วยตนเอง โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2547 เป็นต้นไป หลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาแบบใหม่แตกต่างจากเดิมแต่เพียงว่าแต่เดิมบริษัทนำเที่ยวเป็นผู้จ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาแก่พนักงานขับรถแทนจำเลย แต่วิธีใหม่เมื่อพนักงานขับรถได้รับเงินเบี้ยเลี้ยงจะต้องนำส่งมอบให้จำเลยพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จำเลยคำนวณและแจกแจงรายละเอียดแล้วจำเลยจึงจ่ายให้แก่พนักงานขับรถสำหรับจำนวนเงินเบี้ยเลี้ยงที่พนักงานขับรถได้รับยังคงมีจำนวนเท่าเดิม ไม่ได้มีจำนวนลดลงแต่อย่างใด
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกว่า การที่จำเลยประกาศให้โจทก์ทั้งหกรับเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาจากผู้ว่าจ้างแล้วนำส่งจำเลยเพื่อให้จำเลยคำนวณแล้วจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งหก เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างและถือไม่ได้ว่าเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าหรือไม่ ข้อเท็จจริงปรากฏตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกว่าโจทก์ทั้งหกยอมรับว่าที่จำเลยประกาศให้โจทก์ทั้งหกรับเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาจากผู้ว่าจ้างแล้วนำส่งจำเลยเพื่อให้จำเลยคำนวณแล้วจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งหก เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างแล้ว แต่โจทก์ทั้งหกเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่านั้น โดยปกติทั่วไป การจ่ายค่าตอบแทนการทำงานหรือสวัสดิการไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา เงินเบี้ยเลี้ยง หรือเงินสวัสดิการต่าง ๆ แก่ลูกจ้างนั้น นายจ้างหรือจำเลยจะต้องเป็นผู้จ่าย ไม่ใช่บริษัทนำเที่ยวผู้ว่าจ้าง การที่จำเลยยินยอมให้บริษัทนำเที่ยวผู้ว่าจ้างจ่ายให้ลูกจ้างหรือโจทก์ทั้งหกโดยตรงก็เพื่อความสะดวกที่ลูกจ้างจะได้รับเงินเร็วขึ้น เมื่อจำเลยเปลี่ยนหลักเกณฑ์และวิธีจ่ายใหม่โดยปรากฏว่า เงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาที่ลูกจ้างหรือพนักงานขับรถได้รับยังคงมีจำนวนเท่าเดิมไม่ได้ลดจำนวนลงอย่างใด เพียงแต่ลูกจ้างได้รับเงินล่าช้าไปจากที่ได้รับทันทีเป็นได้รับเมื่อลูกจ้างนำเงินและเอกสารที่เกี่ยวข้องส่งในช่วงเช้าจะได้รับเงินในช่วงบ่าย หากส่งในช่วงบ่ายจะได้รับในช่วงเช้าของวันทำงานถัดไป ประกอบทั้งเหตุที่จำเลยประกาศเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งหกกับพวกซึ่งเป็นพนักงานขับรถฟ้องเรียกให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลา จำเลยจึงต้องประกาศเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายเงินเบี้ยเลี้ยงหรือค่าล่วงเวลาใหม่เพื่อให้เกิดความชัดเจนไม่มีปัญหาข้อขัดแย้งติดตามมา เมื่อสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งหกจะได้รับจากการทำงานยังคงมีอยู่เท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำไปโดยไม่สุจริตหรือมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ทั้งหกหรือพนักงานขับรถคนอื่น จำเลยย่อมมีอำนาจในการบริหารจัดการงานของตนเองได้ตามเหตุผลที่จำเป็นและสมควรการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงในรายละเอียดไม่ใช่ข้อสาระสำคัญของสภาพการจ้างเดิม ยังถือไม่ได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหกฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share