คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7919/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น ต่อมาระหว่างที่โจทก์และจำเลยทั้งสามเจรจาทำความตกลงเพื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ทนายจำเลยทั้งสามแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามตกลงรับข้อเท็จจริงตามฟ้องทุกประการ และคู่ความต่างไม่ติดใจสืบพยานอีกต่อไป เพียงแต่ให้โจทก์ส่งเอกสารประกอบการแถลงรับข้อเท็จจริงของจำเลย หลังจากนั้นคดียังตกลงกันไม่ได้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าประหว่างประเทศกลางจึงนัดฟังคำพิพากษา ซึ่งคู่ความก็ยังคงไม่ติดใจสืบพยานและไม่ได้โต้แย้งการนัดฟังคำพิพากษา ครั้งถึงวันนัด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงพิพากษาคดีไปตามวันเวลาที่กำหนดไว้ กรณีเช่นนี้ ไม่เพียงแต่มีผลเท่ากับจำเลยทั้งสามยอมสละประเด็นข้อต่อสู้ต่าง ๆ ตามที่ยื่นคำให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์เท่านั้น ยังเท่ากับยอมรับรองด้วยว่าฟ้องของโจทก์ถูกต้องเป็นจริงทุกประการ ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามยอมรับจึงเป็นอันยุติไปตามนั้น ไม่หลงเหลือข้อเท็จจริงใดเป็นประเด็นข้อพิพาทอีกตาม ป.วิ.พ. มาตรา 183 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ดังนั้นการที่จำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่โจทก์คำนวณไว้ในฟ้องไม่ใช่อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่ได้ตกลงกันในเรื่องอัตราดอกเบี้ยให้แน่นอนชัดเจน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น และการติดต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่โจทก์ออกเงินทดรองไปก่อนไม่ใช่สัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท ย่อมล้วนแต่เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคแรก ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม 2547 ถึงวันที่ 8 ธันวาคม ปีเดียวกัน จำเลยที่ 1 ขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารโจทก์ สาขาซอยอารี เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากประเทศต่าง ๆ รวม 130 ฉบับ โดยตกลงให้ดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดนับแต่วันที่โจทก์ชำระค่าสินค้าแทน รวมทั้งค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระค่าสินค้าที่ผู้ขายส่งมาให้ได้จึงขอทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้แก่ธนาคารโจทก์ สาขาราชวัตร 182 ฉบับ เพื่อรับสินค้าไปจำหน่ายโดยสัญญาว่าจะชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยตามเงื่อนไขการคิดอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และประกาศธนาคารโจทก์และตามอัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ะละฉบับ ท้ายที่สุดจำเลยที่ 1 ผิดนัด คงชำระหนี้เพียงบางส่วน โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยที่ 1 รวมทั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่างเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ต้นเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยซึ่งโจทก์คิดตามเงื่อนไขการคิดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตามที่ตกลงกันไว้เป็น 214,489,801.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 14.5 ต่อปี จากต้นเงิน 210,943,952 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารโจทก์ จึงไม่มีเหตุต้องทำสัญญาทรัสต์รีซีทซึ่งเป็นเอกสารปลอมเพราะลายมือชื่อที่ปรากฏมิใช่ลายมือชื่อกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้อง อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่โจทก์ใช้คำนวณหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทมิใช่อัตราแลกเปลี่ยนในวันครบกำหนดตามสัญญาทรัสต์รีซีทแต่ละฉบับ และในส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้นมิได้ตกลงกำหนดอัตราที่ชัดแจ้ง โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี ส่วนการติดต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเพียงข้อตกลงฝ่ายเดียว เพื่อสำรองการจ่ายเงินให้แก่กัน จึงไม่ใช่สัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีท เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องเกินกำหนด 1 ปี ย่อมขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า นอกจากไม่เคยทำคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือสัญญาทรัสต์รีซีทตามฟ้องแล้ว จำเลยที่ 3 ยังไม่เคยลงชื่อและประทับตราจำเลยที่ 1 ในเอกสารเหล่านั้น จึงเป็นลายมือปลอม จำเลยที่ 3 ไม่เคยทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจของจำเลยที่ 3 นั้นเป็นของปลอม ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ไม่มีการตกลงกันให้ชัดแจ้งว่าให้คิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าใด โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละ 7.5 ต่อปี การติดต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นข้อตกลงฝ่ายเดียวเพื่อการทดรองจ่าย เมื่อโจทก์มิได้ยื่นฟ้องภายในกำหนดเวลา 1 ปี จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 214,489,853.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 9 ต่อปี จากต้นเงิน 210,943,952 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 กับที่ 3 ร่วมกันรับผิดใช้เงินต้นจำนวนเดียวกันแก่โจทก์ แต่เมื่อคำนวณแล้วต้องไม่เกินผลรวมของเงิน 1,989,445.73 ดอลลาร์สหรัฐ 162,190 ยูโร และ 16,824,400 เยน ตามสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.12 และอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราประเภทราคาขายธนบัตรตามที่ธนาคารโจทก์ประกาศไว้ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2548 รวมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 14 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2548 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2548 และร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2548 นั้นจนถึงวันฟ้องกับร้อยละ 9 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 7,000 บาท
จำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “คดีนี้ เดิมจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้น ต่อมา ระหว่างที่โจทก์และจำเลยทั้งสามเจรจาทำความตกลงเพื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในข้อพิพาทนั้น ทนายจำเลยทั้งสามแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2551 ว่า จำเลยทั้งสามตกลงรับข้อเท็จจริงตามฟ้องทุกประการ และคู่ความต่างไม่ติดใจสืบพยานอีกต่อไป เพียงแต่ให้โจทก์ส่งเอกสารประกอบการแถลงรับข้อเท็จจริงของจำเลย 10 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.16 หลังจากนั้นคดียังตกลงกันไม่ได้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงนัดฟังคำพิพากษา ซึ่งคู่ความก็ยังคงไม่ติดใจสืบพยานและไม่ได้โต้แย้งการนัดฟังคำพิพากษา ครั้นถึงวันนัด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงพิพากษาคดีไปตามวันเวลาที่กำหนดไว้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีเช่นนี้ ไม่เพียงแต่มีผลเท่ากับจำเลยทั้งสามยอมสละประเด็นข้อต่อสู้ต่าง ๆ ตามที่ยื่นคำให้การปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์เท่านั้น หากแต่ยังเท่ากับยอมรับรองด้วยว่าฟ้องของโจทก์ถูกต้องเป็นจริงทุกประการ ข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสามยอมรับจึงเป็นอันยุติไปตามนั้น ไม่หลงเหลือข้อเท็จจริงใดเป็นประเด็นข้อพิพาทอีกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางว่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่โจทก์คำนวณไว้ในฟ้องไม่ใช่อัตราแลกเปลี่ยนเงินในวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่ได้ตกลงกันในเรื่องอัตราดอกเบี้ยให้แน่นอนชัดเจน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น และการติดต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่โจทก์ออกเงินทดรองไปก่อนไม่ใช่สัญญาขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิดและทรัสต์รีซีท ย่อมล้วนแต่เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางรับอุทธรณ์ข้อต่าง ๆ ดังกล่าวของจำเลยทั้งสามไว้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็ไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสาม คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่จำเลยทั้งสาม ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share