คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7892/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กับโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 มอบรถยนต์ให้ ช. ใช้ประโยชน์ ช. ย่อมเป็นผู้ครอบครองรถยนต์แทนจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 จะบอกเลิกสัญญาโดยการส่งมอบรถยนต์คืน ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้ส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 573
จำเลยทั้งสองให้การแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่ามีการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้จากจำเลยที่ 1 เป็น ช. หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อจึงระงับ หรือมิฉะนั้นก็เป็นกรณีตัวการไม่เปิดเผยชื่อ เมื่อเปิดเผยชื่อตัวการโดยจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบ ช. ตัวการต้องเข้ามาผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาเช่าซื้อเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2542 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ลพ 9720 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 475,783.20 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเดือนละ 10,606 บาท รวม 48 งวด ชำระงวดแรกภายในวันที่ 13 มกราคม 2543 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 13 ของเดือน โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์เพียง 5 งวด โดยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 6 ประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2543 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนในสภาพใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้จะต้องใช้ราคาแทนเท่ากับค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระจำนวน 426,222.45 บาท ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันผิดนัดถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเวลา 5 เดือน เป็นเงิน 20,000 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มนับแต่งวดที่ผิดนัดจนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาจำนวน 3,469.25 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 449,691.70 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนจำนวน 426,222.45 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์หรือใช้ราคาเสร็จสิ้น ชำระค่าขาดประโยชน์นับแต่วันผิดนัดถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท และในอัตราเดือนละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือชดใช้ราคาเสร็จสิ้น และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 3,469.25 บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า ค่าเสียหายสูงเกินกว่าความเป็นจริง จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ถ้าไม่ส่งมอบคืนให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาแทนเป็นเงิน 350,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 18,000 บาท และชำระค่าเสียหายให้โจทก์ในอัตราเดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 ธันวาคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์หรือใช้ราคาแทนแต่ไม่เกิน 20 เดือน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 3,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2542 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ลพ 9720 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 475,783.20 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวมภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนงวดละ 10,606 บาท รวม 48 งวด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันเอกสารหมายจ. 5 และ จ. 6 ต่อมาจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 5 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์มีหนังสือทวงถามและบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังจำเลยทั้งสอง ตามหนังสือเรื่องขอให้ชำระหนี้และบอกเลิกสัญญาเอกสารหมาย จ. 7 ถึง จ. 9
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 นำสืบว่าทำสัญญาเช่าซื้อแทนนายชิงชัย เจริญสุข ก็เป็นการนำสืบนอกประเด็นข้อพิพาท เพราะไม่ได้ให้การต่อสู้ในคำให้การไว้ การที่จำเลยที่ 1 มอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้นายชิงชัยใช้ประโยชน์ นายชิงชัยจึงเป็นผู้ครอบครองแทนจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ หากจำเลยที่ 1 จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ ย่อมเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นผู้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 573 เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบให้ศาลเห็นว่า ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อสุดท้ายว่า การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า พฤติการณ์แห่งคดีถือว่ามีการตกลงแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ผู้เช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 เป็นนายชิงชัย หนี้ตามสัญญาเช่าซื้อของจำเลยที่ 1 จึงระงับหรือมิฉะนั้นก็เป็นกรณีตัวการไม่เปิดเผยชื่อ เมื่อเปิดเผยชื่อตัวการโดยจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบ นายชิงชัยตัวการต้องเข้ามาผูกพันรับผิดต่อโจทก์ในสัญญาเช่าซื้อที่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์แล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบ นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองให้การแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสองบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว ข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์

Share