คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9202/2553

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2538 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 บังอาจจดทะเบียนยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีเจตนาซ่อนเร้นทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ เพื่อให้พ้นไปเสียจากการที่โจทก์จะบังคับคดีเอากับทรัพย์ดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีก ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีความหมายให้เข้าใจได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำไปโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว ซึ่งครบองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 285 (ที่ถูกคือ 205) ตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ พร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ เพื่อเป็นหลักประกันการทำงานของนายสุพัฒน์ ลูกจ้างโจทก์ในตำแหน่งผู้จัดการ ในวงเงิน 200,000 บาท และเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2535 ได้จดทะเบียนขึ้นเงินจำนวนอีก 3,800,000 บาท รวมเป็นวงเงิน 4,000,000 บาท ต่อมานายสุพัฒน์ทำงานบกพร่องผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้โจทก์เสียหาย โจทก์ฟ้องนายสุพัฒน์และศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้นายสุพัฒน์รับผิดชำระเงินจำนวน 7,000,000 บาทเศษ ต่อมาเมื่อปี 2538 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 บังอาจจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 178 และเลขที่ 37 ตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีเจตนาซ่อนเร้นทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เพื่อให้พ้นไปเสียจากการที่โจทก์จะบังคับคดีเอากับทรัพย์ดังกล่าว เพื่อชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับได้อีก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 4,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไป ให้รอการลงโทษไว้กำหนดคนละ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ ในปัญหานี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำไปโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย่อมเป็นฟ้องที่ขาดสาระสำคัญแห่งองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ เห็นว่า การกระทำอันจะเป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ได้บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ว่า “ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้แก่ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์ของลูกหนี้นั้น แสดงไว้แจ้งชัดว่าหมายถึงทรัพย์สินใดๆ ของลูกหนี้ที่มีอยู่ได้มีการย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปเพียงเพื่อเจตนามิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อปี 2538 โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 กับพวกให้ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 กับพวกรับผิดต่อโจทก์ เมื่อโจทก์บังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 บังอาจจดทะเบียนยกที่ดินโฉนดเลขที่ 178 และเลขที่ 37 ตำบลกำแพง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงมีเจตนาซ่อนเร้นทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งโจทก์ได้ใช้สิทธิหรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลแล้วให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ เพื่อให้พ้นไปเสียจากการที่โจทก์จะบังคับคดีเอากับทรัพย์ดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนแก่โจทก์ โดยจำเลยทั้งสองทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีก โดยเมื่อพิเคราะห์คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแล้วก็เป็นคำฟ้องที่สมบูรณ์มีความหมายให้เข้าใจได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำไปโดยรู้ว่าเจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้แล้ว ซึ่งครบองค์ประกอบของความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เนื่องจากคดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองในข้ออื่นๆ ดังนั้น เพื่อให้การวินิจฉัยเป็นไปตามลำดับชั้นศาล เพราะผลแห่งการวินิจฉัยอาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225″
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share