แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมภายหลังจากการสืบพยานโจทก์นัดแรกผ่านพ้นไปแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ร่วม และอนุญาตให้โจทก์ร่วมนำพยานของตนเข้าสืบภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว ศาลจึงใช้ดุลพินิจเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมรับฟังพยานของโจทก์ร่วมได้
ปัญหาว่าการกระทำใดไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย
การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำต่อโจทก์ร่วมว่า “มึงเข้าไปในที่ของกูได้อย่างไร กูจะแจ้งข้อหาบุกรุกมึง มึงเป็นผู้ใหญ่บ้านได้อย่างไร ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้หน้าที่ ไอ้หน้าโง่มึงต้องเจอกับกูแน่ที่ศาล” นั้น เห็นได้ว่าสรรพนามที่จำเลยใช้แทนตัวจำเลยและโจทก์ร่วมว่ากูและมึงนั้นเป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพ ส่วนถ้อยคำในทำนองว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ใหญ่บ้านไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่รู้กฎหมายและจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมนั้นเป็นเพียงถ้อยคำต่อว่าโจทก์ร่วมที่เข้าไปในที่ดินของ ม. พ่อตาจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต และแสดงเจตนาที่จะดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมเท่านั้น ไม่ใช่ถ้อยคำที่ดูถูกเหยียดหยามโจทก์ร่วม แต่ที่จำเลยว่าโจทก์ร่วมว่าไอ้หน้าโง่นั้น ถ้อยคำดังกล่าวแสดงอยู่ในตัวถึงการหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ร่วม แม้จะเป็นการกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นโจทก์ร่วมในขณะที่จำเลยและโจทก์ร่วมทะเลาะกันก็ต้องถือว่าจำเลยกล่าวโดยมีเจตนาดูหมิ่นโจทก์ร่วม หาใช่ว่าการกล่าวในขณะทะเลาะกันจะถือว่าจำเลยมิได้มีเจตนาดูหมิ่นอันจักเป็นการขาดองค์ประกอบความผิดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้พูดดูหมิ่นนายกมล เกิดกรุง ผู้เสียหาย ซึ่งหน้าว่า “มึงเข้าไปในที่ของกูได้อย่างไร กูจะแจ้งข้อหาบุกรุกมึง มึงเป็นผู้ใหญ่บ้านได้อย่างไร ไม่รู้กฎหมาย ไม่รู้หน้าที่ ไอ้หน้าโง่ มึงต้องเจอกับกูแน่ที่ศาล” ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายกมล เกิดกรุง ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ให้ปรับ 1,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า อุทธรณ์ของจำเลยข้อ 2.1 และข้อ 4 เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ข้อ 2.1 ว่าโจทก์ร่วมมาฟังการพิจารณาทุกนัดจึงทราบว่าคำให้การของโจทก์ร่วมขัดกับคำให้การของนายบำรุง รักท้วม โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังสืบพยานครั้งแรกสิบห้าวันแล้วจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฉะนั้นศาลไม่ควรรับฟังคำเบิกความของนายนิเวศ เมฆสุวรรณและนายบรรเจิด ชื่นนาวี พยานของโจทก์ร่วมที่ระบุโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าการที่โจทก์ร่วมไม่ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมภายในสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาข้อ 2.1 ตามอุทธรณ์ของจำเลยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวน ตามบทบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดเวลาในการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมไว้ เพื่อมิให้คู่ความจู่โจมกันในทางพยานหลักฐานโดยไม่รู้ตัว แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2) บัญญัติข้อยกเว้นไว้ว่า แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี โดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมภายหลังจากการสืบพยานโจทก์นัดแรกผ่านพ้นไปแล้ว ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์ร่วมไม่อาจยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมตรงตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติข้างต้นได้และการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของโจทก์ร่วมไว้และอนุญาตให้โจทก์ร่วมนำพยานเข้าสืบภายหลังสืบพยานโจทก์เสร็จแล้ว จึงเป็นเรื่องที่ศาลใช้ดุลพินิจเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมรับฟังพยานโจทก์ร่วมแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ข้อ 4 ว่า โจทก์ร่วมและจำเลยทะเลาะกันในเรื่องเข้าไปจับคนงานว่าสร้างเขื่อนรุกล้ำที่สาธารณะ จำเลยมิได้มีเจตนาดูหมิ่นโจทก์ร่วมจึงขาดองค์ประกอบความผิด ทั้งโจทก์ร่วมก็มิได้นำสืบหรือระบุว่าโจทก์ร่วมได้รับความเสียหายอย่างไร จึงไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 นั้น เห็นว่า ปัญหาว่าการกระทำใดไม่เป็นความผิดเพราะขาดองค์ประกอบนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้จึงเป็นการไม่ชอบเช่นกันและศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อ 4 ไปทีเดียว ซึ่งการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเช่นนี้ ศาลฎีกาจำต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นรับฟังจากพยานหลักฐานในสำนวนซึ่งศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้กล่าวถ้อยคำตามฟ้องจริงสำหรับข้อความที่จำเลยกล่าวกับโจทก์ร่วมในส่วนสรรพนามที่จำเลยใช้แทนตัวจำเลยและโจทก์ร่วมว่ากูและมึงนั้นเป็นเพียงถ้อยคำไม่สุภาพ ส่วนถ้อยคำในทำนองว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ไม่มีอำนาจหน้าที่ ไม่รู้กฎหมายและจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมนั้นเป็นเพียงถ้อยคำต่อว่าโจทก์ร่วมที่เข้าไปในที่ดินของนายมนตรีพ่อตาของจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาตและแสดงเจตนาที่จะดำเนินคดีกับโจทก์ร่วมเท่านั้น ไม่ใช่ถ้อยคำที่ดูถูกเหยียดหยามโจทก์ร่วม แต่การที่จำเลยว่าโจทก์ร่วมว่าไอ้หน้าโง่นั้น ถ้อยคำดังกล่าวแสดงอยู่ในตัวถึงการดูหมิ่นเหยียดหยามโจทก์ร่วม ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการกระทำของจำเลยไม่มีเจตนาดูหมิ่นโจทก์ร่วมนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าจำเลยกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นโจทก์ร่วมในขณะที่จำเลยและโจทก์ร่วมทะเลาะกันในเรื่องที่โจทก์ร่วมนำเจ้าพนักงานไปจับคนงานว่าสร้างเขื่อนรุกล้ำที่สาธารณะก็ตาม ก็ต้องถือว่า จำเลยกล่าวโดยมีเจตนาดูหมิ่นโจทก์ร่วม หาใช่ว่าการกล่าวในขณะทะเลาะกันเช่นนี้จะถือว่าจำเลยมิได้มีเจตนาดูหมิ่นอันจักเป็นการขาดองค์ประกอบความผิดไม่อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น