คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7909/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มาทำงานในวันที่ 6 กันยายน 2537 การที่โจทก์ออกจากที่ทำงานไปก่อนเวลาเลิกงานโดยไม่ได้ตอกบัตรลงเวลา เลิกงาน แม้จะถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่แต่มิใช่เป็นการ ละทิ้งหน้าที่ตลอดทั้งวัน จะนำมารวมกับวันที่ 7 และ 8 กันยายน 2537 ซึ่งเป็นวันทำงานแต่โจทก์ไม่ได้มาทำงานเพื่อ ให้เข้ากรณีตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(5) ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่เลขานุการ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,950 บาทกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 15 และสิ้นเดือนของทุกเดือน เมื่อวันที่6 กันยายน 2537 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดและมิได้บอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้าตามกฎหมาย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 9,950 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,960 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2537 จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์ แต่โจทก์ผละงานไปเองและไม่กลับเข้ามาทำงานอีกจนกระทั่งวันที่ 9 กันยายน2537 โจทก์จึงขาดงานสามวันโดยไม่มีเหตุอันควร นอกจากนั้นโจทก์ได้นำบัตรลงเวลาทำงานออกไปนอกบริเวณที่ตั้งเครื่องตอกบัตรลงเวลา ไม่ตอกลงเวลาทำงานและเลิกงานตามเวลาที่ทำงานจริงโดยเครื่องตอกบัตรลงเวลาที่จำเลยจัดไว้ให้และไม่ได้ให้ผู้บังคับบัญชาลงข้อความกำกับไว้ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2537 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่9 กันยายน 2537 การที่โจทก์มาทำงานในวันที่ 6 กันยายน 2537แต่ออกจากที่ทำงานก่อนเวลาเลิกงานตามปกติ และไม่ได้มาทำงานในวันที่ 7 และ 8 กันยายน 2537 โดยมิได้ยื่นใบลาหรือขอลาด้วยวาจาทางโทรศัพท์โจทก์มาทำงานอีกครั้งในวันที่ 9 กันยายน 2537 ถือไม่ได้ว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(5) และการที่โจทก์ได้ใช้หมึกเขียนด้วยลายมือลงในบัตรลงเวลาและนำบัตรลงเวลาออกไปนอกบริเวณที่ตั้งเครื่องตอกบัตร มิใช่การฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบของจำเลยกรณีร้ายแรง และเมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือก่อน กรณีจึงไม่ต้องด้วยกรณีใดกรณีหนึ่งตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยติดต่อกันมาครบหนึ่งร้อยยี่สิบวันแต่ไม่ครบหนึ่งปี จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวัน ส่วนกรณีสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ได้ออกจากงานไปก่อนเวลาเลิกงานในวันที่ 6 กันยายน 2537 และโจทก์ไม่มาทำงานโดยมิได้ลาในวันที่ 7 และวันที่ 8 กันยายน 2537 การกระทำของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการละทิ้งการงานไปเสีย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย จำนวน 9,950 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ขาดงานติดต่อกันเป็นเวลาสามวันโดยไม่มีเหตุอันสมควร จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์มาทำงานในวันที่ 6 กันยายน 2537 แล้วกลับไปก่อนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชาเป็นการขัดต่อระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานมีผลให้ถือว่าโจทก์ละทิ้งหน้าที่ในวันดังกล่าวนั้น เห็นว่าการจ้างแรงงาน เป็นสัญญาซึ่งลูกจ้างตกลงจะทำงานให้แก่นายจ้างและนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ หน้าที่สำคัญของลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน คือต้องทำงานให้แก่นายจ้างการลงเวลามาทำงานหรือเลิกงาน รวมทั้งการตอกบัตรเพื่อการดังกล่าวมิใช่สาระสำคัญของการจ้างแรงงาน เพราะเป็นเพียงพยานหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงว่าลูกจ้างได้เข้าทำงานหรือเลิกงานเวลาใดเท่านั้นเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มาทำงานในวันที่ 6 กันยายน 2537 แสดงว่าในวันดังกล่าวโจทก์มาทำงานให้แก่จำเลยแล้วการที่โจทก์ออกจากที่ทำงานไปก่อนเวลาเลิกงานโดยไม่ได้ตอกบัตรลงเวลาเลิกงาน แม้จะถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่แต่มิใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่ตลอดทั้งวัน จะนำมานับรวมกับวันที่ 7 และ 8 กันยายน2537 ซึ่งเป็นวันทำงานแต่โจทก์ไม่ได้มาทำงานเพื่อให้เข้ากรณีตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(5)ไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share