คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9403-9495/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตกลงอันจะก่อให้เกิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งรวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้นหาได้จำต้องเฉพาะการตกลงโดยชัดแจ้งไม่อาจมีการตกลงโดยปริยายก็ได้ จำเลยเคยจ่ายเงินพิเศษแก่ลูกจ้างปีละ15วันแล้วได้เปลี่ยนมาเป็นการจ่ายคูปองค่าอาหารเดือนละ190บาทแทนลูกจ้างของจำเลยหาได้ทักท้วงหรือโต้แย้งคัดค้านประการใดไม่ตรงกันข้ามกลับยอมรับเอาผลการเปลี่ยนแปลงโดยยอมรับเอาคูปองค่าอาหารแทนเงินพิเศษตลอดมาจึงมีผลผูกพันจำเลยและลูกจ้าง จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างคนละ190บาทต่อเดือนนั้นคูปองค่าอาหารที่จ่ายให้มีลักษณะเป็นสวัสดิการอันเป็นสภาพการจ้างอย่างหนึ่งเมื่อลูกจ้างยอมรับเอาและจำเลยก็ได้จ่ายคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างตลอดมาจึงเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยผู้เป็นนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518บัญญัติให้ทำเป็นหนังสือมี2กรณี คือกรณีแรกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไปจะต้องจัดให้มีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา10วรรคแรกซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในกรณีนี้จะต้องมีข้อความดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา11ส่วนกรณีที่สองข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องของนายจ้างหรือลูกจ้างและสามารถตกลงกันได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา18ซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวนอกจากจะต้องทำเป็นหนังสือแล้วนายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้างหรือกรรมการของสหภาพแรงงานแล้วแต่กรณีจะต้องลงลายมือชื่อและต้องนำไปจดทะเบียนอีกด้วย จำเลยผู้เป็นนายจ้างตกลงจ่ายคูปองค่าอาหารโดยมิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องและมิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมายจึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือดังนี้จำเลยจะยกเบิกการจ่ายคูปองค่าอาหารซึ่งเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยที่มิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องแก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518มาตรา13หาได้ไม่ ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าก่อนที่จำเลยจะยกเลิกจ่ายคูปองค่าอาหารจำเลยได้ตกลงกับตัวแทนลูกจ้างแล้วนั้นเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานฟังมาว่าไม่ได้มีการเจรจาสองฝ่ายให้ยกเลิกการจ่ายคูปองค่าอาหารอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522มาตรา54 จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายเงินโบนัสและคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างแยกต่างหากจากกันแม้จำเลยจะเพิ่มเงินโบนัสแก่ลูกจ้างแต่การที่จำเลยยกเลิกการจ่ายคูปองอาหารอันเป็นผลให้ลูกจ้างไม่ได้รับคูปองอาหารย่อมไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างจำเลยจะแก้ไขยกเลิกโดยลำพังโดยที่มิได้ดำเนินการตามมาตรา13แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518หาได้ไม่ คำพิพากษาศาลแรงงานกล่าวไว้ในส่วนของคำวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าอาหารแก่โจทก์แต่พิพากษาให้จำเลยจ่ายอาหารแก่โจทก์นั้นเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยและเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจำเลยตกลงจ่ายคูปองค่าอาหารแก่ลูกจ้างเดือนละ190บาทซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความจึงให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจ่ายคูปองค่าอาหารเดือนละ190บาทแก่โจทก์ทุกคน

ย่อยาว

คดีทั้งเก้าสิบสามสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 93
โจทก์ทั้งเก้าสิบสามสำนวนฟ้องว่า โจทก์ทั้งหมดเป็นลูกจ้างของจำเลย ตั้งแต่ปี 2533 จำเลยจ่ายเงินค่าอาหารให้โจทก์คนละ 190 บาท ต่อเดือนติดต่อกันตลอดมาโดยจ่ายเป็นคูปอง เพื่อนำไปแลกอาหาร ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2538 จำเลยยกเลิกไม่จ่ายเงินค่าอาหารอันเป็นสวัสดิการดังกล่าวให้แก่โจทก์ เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่เป็นโทษแก่ลูกจ้าง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินค่าอาหารค้างจ่ายให้โจทก์ทั้งหมดจำนวนคนละ 570 บาทและให้จ่ายเงินค่าอาหารดังกล่าวนี้ตลอดไปจนกว่าโจทก์ทั้งหมดจะหมดสภาพความเป็นลูกจ้างของจำเลย
จำเลยทั้งเก้าสิบสามสำนวนให้การว่า เมื่อปี 2531และปี 2532 จำเลยจ่ายเงินโบนัสเรียกว่าเงินพิเศษให้ลูกจ้างของจำเลยและลูกจ้างของบริษัทไทยนิปปอนสตีลเอ็นจิเนียริงแอนด์คอนสตรัคชั่นคอร์ปอเรชั่นจำกัด ที่ทำงานให้แก่จำเลยจำนวน 30 วันต่อปี เมื่อปี 2533บริษัทไทยนิปปอนสตีลเอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นคอร์ปอเรชั่นจำกัด มีข้อตกลงจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างของบริษัท30 วันต่อปี และจ่ายเงินพิเศษให้แก่ลูกจ้างอีก 15 วันต่อปีต่อมาปี 2536 สหภาพแรงงานทยนิปปอนสตีลยื่นข้อเรียกร้องให้บริษัทไทยนิปปอนสตีลเอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสครัคชั่นคอร์ปอเรชั่น จำกัด จ่ายเงินโบนัสจำนวน60 วันต่อปี จำเลยก็ได้จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวน 60 วันต่อปีเช่นเดียวกัน ส่วนเงินพิเศษ 15 วันต่อปีที่จำเลยเคยจ่ายให้ลูกจ้างนั้นจำเลยได้จ่ายเป็นคูปองค่าอาหารจำนวน 190 บาทต่อเดือนแทน ในเดือนเมษายน 2538สหภาพแรงงานไทยนิปปอนสตีลได้ยื่นข้อเรียกร้องให้บริษัทไทยนิปปอนสตีลเอ็นจิเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่นคอร์ปอเรชั่นจำกัด จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างเป็นจำนวน 90 วันต่อปีจำเลยจึงจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างของจำเลยเป็นจำนวน90 วัน ต่อปีด้วย แต่จำเลยได้งดจ่ายคูปองค่าอาหารจำนวน190 บาทต่อเดือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2538 เพราะถ้าจำเลยจ่ายทั้งโบนัสและคูปองค่าอาหารจำนวนดังกล่าวจะกระทบกระเทือนต่อกิจการของจำเลย ทั้งนี้ เนื่องจากไม่มีข้อตกลงให้จำเลยต้องจ่ายเงินเดือนละ 190 บาทแก่ลูกจ้างแต่ประการใด และก่อนที่จะงดจ่ายเงินดังกล่าวจำเลยก็ได้แจ้งให้ตัวแทนของลูกจ้างทราบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายอาหารประจำเดือนเดือนละ 190 บาท ให้แก่โจทก์ทุกคนตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2538 เป็นต้นไป
จำเลยทั้งเก้าสิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การตกลงอันจะก่อให้เกิดสัญญาจ้างแรงงานซึ่งรวมถึงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างนั้น หาได้จำต้องเฉพาะการตกลงโดยชัดแจ้งไม่อาจมีการตกลงโดยปริยายก็ได้ การที่จำเลยเคยจ่ายเงินพิเศษแก่ลูกจ้างปีละ 15 วัน แล้วได้เปลี่ยนมาเป็นการจ่ายคูปองค่าอาหารเดือนละ 190 บาทแทน ลูกจ้างของจำเลยหาได้ทักท้วงหรือโต้แย้งคัดค้านประการใดไม่ตรงกันข้ามกลับยอมรับเอาผลการเปลี่ยนแปลงโดยยอมรับเอาคูปองค่าอาหารแทนเงินพิเศษตลอดมา จึงมีผลผูกพันจำเลยและลูกจ้าง มีปัญหาว่า การที่จำเลยจ่ายคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างดังกล่าวเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือไม่พิเคราะห์แล้วพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้คำนิยามคำว่า”ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง” ไว้ว่า “หมายความว่าข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง หรือระหว่างนายจ้างหรือสมาคมนายจ้างกับสหภาพแรงงานเกี่ยวกับสภาพการจ้าง”และให้คำนิยามคำว่า “สภาพการจ้าง” ไว้ว่า “หมายความว่าเงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน กำหนดวันละเวลาทำงานค่าจ้าง สวัสดิการการเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของนายจ้างหรือลูกจ้างอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน” ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาว่าโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างจำเลย การที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างคนละ 190 บาทต่อเดือนนั้นคูปองค่าอาหารที่จ่ายให้มีลักษณะเป็นสวัสดิการอันเป็นสภาพการจ้างอย่างหนึ่ง เมื่อลูกจ้างยอมรับเอาและจำเลยก็ได้จ่ายคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างตั้งแต่เดือนตุลาคม 2536ตลอดมา จึงเป็นข้อตกลงระหว่างจำเลยผู้เป็นนายจ้างกับลูกจ้างเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มีผลเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามความหมายดังกล่าวมาแล้วข้างต้นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 บัญญัติให้ทำเป็นหนังสือมี 2 กรณี คือกรณีแรกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ยี่สิบคนขึ้นไป จะต้องจัดให้มีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 10 วรรคแรก ซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในกรณีนี้จะต้องมีข้อความดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 ส่วนกรณีที่สองข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องของนายจ้างหรือลูกจ้างและสามารถตกลงกันได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 ซึ่งข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวนอกจากจะต้องทำเป็นหนังสือแล้วนายจ้างหรือผู้แทนนายจ้างและผู้แทนลูกจ้างหรือกรรมการของสหภาพแรงงานแล้วแต่กรณี จะต้องลงลายมือชื่อและต้องนำไปจดทะเบียนอีกด้วย แต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่พิพาทกันในคดีนี้เป็นกรณีที่จำเลยผู้เป็นนายจ้างตกลงจ่ายคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างโดยมิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องและมิใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่นายจ้างต้องจัดให้มีตามกฎหมาย จึงไม่จำต้องทำเป็นหนังสือดังนั้นจำเลยจะยกเลิกการจ่ายคูปองค่าอาหารซึ่งเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยที่มิได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องแก่ลูกจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518 มาตรา 13 หาได้ไม่
ที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า ก่อนที่จำเลยจะยกเลิกจ่ายคูปองค่าอาหาร จำเลยได้ตกลงกับตัวแทนลูกจ้างแล้วนั้น เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่าไม่ได้มีการเจรจาสองฝ่ายให้ยกเลิกการจ่ายคูปองค่าอาหารอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าวเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการจ่ายคูปองค่าอาหารโดยจำเลยได้จ่ายโบนัสเพิ่มจากเดิมที่เคยจ่ายปีละ 60 วัน เป็นจ่ายปีละ 90 วัน จึงเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่านั้น เห็นว่าจำเลยจ่ายเงินโบนัสและคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างแยกต่างหากจากกัน แม้จำเลยจะเพิ่มเงินโบนัสแก่ลูกจ้างแต่การที่จำเลยยกเลิกการจ่ายคูปอง อาหารอันเป็นผลให้ลูกจ้างไม่ได้รับคูปอง อาหารย่อมไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างจำเลยจะแก้ไขยกเลิกโดยลำพังโดยที่มิได้ดำเนินการตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 หาได้ไม่
อนึ่ง คำพิพากษาศาลแรงงานกลางกล่าวไว้ในส่วนของคำวินิจฉัยว่าจำเลยต้องจ่ายค่าอาหารแก่โจทก์ แต่ได้พิพากษาให้จำเลยจ่ายอาหารแก่โจทก์นั้นเป็นข้อผิดพลาดเล็กน้อยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31 แก้ไขผิดพลาดดังกล่าวเสียให้ถูกต้องเป็น ให้จำเลยจ่ายเงินค่าอาหารเดือนละ 190 บาทนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2538 จนถึงวันที่ได้อ่านคำพิพากษานี้อนึ่ง ส่วนที่ต่อจากนั้นโดยที่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จำเลยตกลงจ่ายคูปองค่าอาหารแก่ลูกจ้างเดือนละ 190 บาทซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามแม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ศาลฎีกาเห็นสมควรเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ จึงให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจ่ายคูปองค่าอาหารเดือนละ190 บาท แก่โจทก์ทุกคน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายเงินค่าอาหารเดือนละ190 บาท แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบสาม นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2538จนถึงวันอ่านคำพิพากษานี้ ต่อจากนั้นให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยจ่ายคูปองค่าอาหารเดือนละ 190 บาท แก่โจทก์ทั้งเก้าสิบสาม

Share