คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7904/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ มาตรา 15 นั้น ปรากฏว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 ได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ ออกมาใช้บังคับโดยบัญญัติให้ พ.ร.บ.การสื่อสารแห่งประเทศไทยฯ เป็นอันยกเลิกตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไปและกำหนดให้นำ พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจฯ มาใช้บังคับแทน การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพ.ร.บ. ดังกล่าวซึ่งถูกยกเลิกไปถือเท่ากับฟ้องของโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ ปัญหาเรื่องการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 163 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 มาตรา 58 พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 มาตรา 15
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 163 พระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 มาตรา 58 ประกอบพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 มาตรา 15 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด วางโทษจำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุก 1 ปี ส่วนที่โจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 นั้น เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 163 และพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 มาตรา 58 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่า แม้จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ในการไปรษณีย์ กระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่โดยกักซึ่งจดหมายหรือสิ่งอื่นที่ส่งทางไปรษณีย์ แต่ตามรายงานการสืบเสาะและพินิจของพนักงานคุมประพฤติปรากฏว่า หลังเกิดเหตุมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ผลการสอบสวนการสื่อสารแห่งประเทศไทยมีคำสั่งไปปลดจำเลยออกจากราชการ นับว่าจำเลยได้รับผลการกระทำความผิดของตนพอสมควรแล้ว ในชั้นพิจารณา จำเลยก็ให้การรับสารภาพอันแสดงว่า จำเลยรู้สำนึกในความผิด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พนักงานคุมประพฤติยังมีความเห็นว่านิสัยและความประพฤติโดยทั่วไปของจำเลยไม่ปรากฏข้อเสียหายร้ายแรง อยู่ในวิสัยพอที่จะแก้ไขฟื้นฟู เมื่อจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีของสังคมต่อไปด้วยการรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติไว้เพื่อให้มีเจ้าพนักงานคอยแนะนำช่วยเหลือ ตักเตือนหรือสอดส่องดูแล ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่เพื่อให้หลาบจำและป้องปรามมิให้จำเลยกระทำความผิดทำนองนี้อีก เห็นสมควรวางโทษปรับจำเลยด้วย
อนึ่ง ตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 มาตรา 15 นั้น ปรากฏว่าขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2546 ออกมาใช้บังคับโดยบัญญัติให้พระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 เป็นอันยกเลิกตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2546 เป็นต้นไป และกำหนดให้นำพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มาใช้บังคับแทน การที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งถูกยกเลิกไป ถือเท่ากับฟ้องของโจทก์ไม่ได้อ้างบทกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิด จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) ไม่อาจลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้ ปัญหาเรื่องการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขปรับบทลงโทษให้ถูกต้องได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 163 และพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ. 2477 มาตรา 58 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 วางโทษปรับจำเลย 1,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่งคงลงโทษปรับจำเลย 500 บาท รวมกับโทษตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วเป็นจำคุก 1 ปี และปรับ 500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรกำหนด ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำผิดทำนองนี้อีก กับให้กระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share