คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6433/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

อุทธรณ์โจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แต่ได้บิดเบือนเพื่อให้เห็นเป็นข้อกฎหมายและเพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ต่างไปจากศาลแรงงานกลางว่าจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงจ่ายเงินค่าบำเหน็จจากการขายหรือค่าคอมมิชชั่นให้แก่โจทก์ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
จำเลยทั้งสองไม่ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการของจำเลยทั้งสองเพื่อจัดตั้งกองทุนเกษียณอายุ ไม่มีการลงมติรับรองรายงานการประชุม จำเลยทั้งสองไม่ได้จัดตั้งกองทุนเกษียณอายุดังที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจากกองทุนเกษียณอายุดังที่โจทก์ฟ้องได้ โจทก์อุทธรณ์โดยอ้างว่ารายงานการประชุมเป็นเอกสารที่ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายและอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1207 จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองให้ต้องปฏิบัติตามรายงานการประชุม เป็นอุทธรณ์ที่บิดเบือนว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้จัดตั้งกองทุนเกษียณอายุขึ้นโดยชอบแล้วตามรายงานการประชุมเพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่าเมื่อรายงานการประชุมเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นโดยชอบและรักษาไว้ ณ สำนักงานที่ดินได้จดทะเบียนของจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นประธานแห่งการประชุมลงลายมือชื่อไว้แล้วย่อมสันนิษฐานได้ว่าเป็นหลักฐานอันถูกต้องแห่งข้อความที่ได้จดบันทึกไว้จึงย่อมมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
สัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์นั้น แม้มีข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินค่าจ้างอันมีผลทำให้รัฐจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากโจทก์ได้ลดน้อยลง ถือได้ว่าเป็นการไม่สุจริต แต่ข้อตกลงการจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ของจำเลยที่ 1 ก็หาตกเป็นโมฆะไม่ โจทก์จึงมีสิทธิรับค่าจ้างในส่วนนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายค่าคอมมิชชั่นหรือค่าบำเหน็จจากการขาย 9,720,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าตอบแทนจากกองทุนเกษียณอายุ 1,380,155 บาท และค่าจ้างค้าง 80,229 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับค่าคอมมิชชั่นหรือค่าบำเหน็จจากการขายและค่าตอบแทนกองทุนเกษียณอายุนับแต่วันฟ้อง และในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี สำหรับค่าจ้างค้างจ่ายนับแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองออกใบสำคัญการทำงานหรือหนังสือรับรองการทำงาน (ใบผ่านงาน) ให้แก่โจทก์ด้วย
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างค้างจำนวน 26,634 บาท และจำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างค้างจำนวน 11,815 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทั้งสอง ครั้งสุดท้ายทำหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยทั้งสองมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์ มีปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าบำเหน็จจากการขายหรือค่าคอมมิชชั่นจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายค่าคอมมิชชั่นหรือค่าบำเหน็จจากยอดขายให้แก่โจทก์ตามฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์นำสืบนางกัลยาณีว่าในระหว่างทำหน้าที่พนักงานขาย นอกจากได้รับเงินเดือนประจำแล้ว นางกัลยาณีและนายสุรพลยังได้รับค่าคอมมิชชั่นอีกด้วย รวมทั้งโจทก์มีสำเนาบันทึกเรื่องค่าตอบแทนสำหรับเงินเอ็มดีมาแสดง ส่วนจำเลยทั้งสองนำสืบโดยขอให้ผู้เชี่ยวชาญกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อของนายณรงค์ โชควัฒนะ ความเห็นของผู้ตรวจพิสูจน์ลายมือเป็นเพียงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ จำเลยไม่ได้นำผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจึงมีเหตุควรสงสัย ศาลไม่อาจรับฟังเป็นข้อยุติ และการที่จำเลยนำสืบนายธนกรว่าเคยสอบถามนายณรงค์เกี่ยวกับลายเซ็น คำเบิกความของนายธนกรจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า โจทก์นำสืบว่าค่าคอมมิชชั่นมีการกำหนดไว้เป็นค่าภาระติดพันแม้ไม่ได้ระบุไว้ในงบการเงินปี 2538 ถึงปี 2543 ก็เป็นเพียงรูปแบบของการจัดทำบัญชีเท่านั้น โจทก์เป็นผู้บริหารสูงสุดต้องการให้จำเลยที่ 1 ประสบความก้าวหน้ามากที่สุด โจทก์จึงยังไม่เบิกค่าคอมมิชชั่นให้แก่ตนเอง การที่ศาลแรงงานกลางรับฟังพยานปากนายธนกร ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เห็นว่า อุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แต่ได้อุทธรณ์โดยบิดเบือนเพื่อให้เห็นเป็นข้อกฎหมายและเพื่อให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ต่างไปจากศาลแรงงานกลางว่า จำเลยที่ 1 มีข้อตกลงจ่ายเงินค่าบำเหน็จจากการขายหรือค่าคอมมิชชั่นให้แก่โจทก์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง แม้ศาลแรงงานกลางจะรับอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้มีข้อตกลงจ่ายเงินบำเหน็จจากการขายหรือค่าคอมมิชชั่นให้แก่โจทก์ ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ฟ้องเรียกเงินดังกล่าวขาดอายุความฟ้องแล้วหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการที่สองว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนกองทุนเกษียณอายุหรือไม่ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จัดตั้งกองทุนเกษียณอายุ และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินนี้ตามฟ้อง โจทก์อุทธรณ์โดยอ้างคำเบิกความของโจทก์ และคำเบิกความของนายปราโมทย์ว่ามีการจัดตั้งกองทุนเกษียณอายุตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 และเอกสารนี้ถูกเก็บรักษาไว้ ณ สำนักงานที่ได้จดทะเบียนของจำเลยทั้งสองซึ่งปรากฏตามคำเบิกความของนายธนกรพยานจำเลยว่า เอกสารหมาย ล.43 และ จ.19 เป็นเอกสารฉบับเดียวกัน ต่างกันเพียงเอกสารหมาย จ.19 แผ่นที่ 2 ไม่มีลายมือชื่อของนายณรงค์ เอกสารต้นฉบับหมาย ล.43 ค้นพบในแฟ้มเอกสารที่ห้องเก็บเอกสารของจำเลย ประกอบกับนายอุดมกรรมการของจำเลยทั้งสองเบิกความว่าเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 พิมพ์ตามรูปแบบทั่วไปของจำเลยทั้งสอง รายงานการประชุมโจทก์ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นประธานการประชุม ข้อเท็จจริงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1207 แล้ว ข้อความที่จดบันทึกลงในรายงานการประชุมเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 จึงถูกต้อง การลงมติ การดำเนินการประชุมตามเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 จึงเป็นไปโดยชอบแล้ว เมื่อมีการประชุมกรรมการรับรองรายงานการประชุมตามเอกสารหมาย จ.21 และ จ.22 แล้ว และจำเลยทั้งสองทราบข้อความและมติตามเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 แล้ว จำเลยทั้งสองไม่เคยมีการประชุมยกเลิกมติในเรื่องกองทุนเกษียณอายุจึงมีผลใช้บังคับผูกพันจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์ออกจากงาน จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายเงินกองทุนเกษียณอายุให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.19 และ จ.20 การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จัดตั้งกองทุนเกษียณอายุ และโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนดังกล่าว จึงขัดต่อมาตรา 1207 ดังกล่าวแล้ว เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังเหตุข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการของจำเลยทั้งสองเพื่อจัดตั้งกองทุนเกณียณอายุ ไม่มีการลงมติรับรองรายงานการประชุม จำเลยทั้งสองไม่ได้จัดตั้งกองทุนเกษียณอายุดังที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจากกองทุนเกษียณอายุดังที่โจทก์ฟ้องได้ โจทก์อุทธรณ์โดยอ้างว่ารายงานการประชุมเป็นเอกสารที่ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายและอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1207 จึงมีผลผูกพันจำเลยทั้งสองให้ต้องปฏิบัติตามรายงานการประชุม อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ที่บิดเบือนว่าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองได้จัดตั้งกองทุนเกษียณอายุขึ้นโดยชอบแล้วตามรายงานการประชุม เพื่อให้ศาลฎีกาวินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า เมื่อรายงานการประชุมเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นโดยชอบและรักษาไว้ ณ สำนักงานที่ได้จดทะเบียนของจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นประธานแห่งการประชุมลงลายมือชื่อไว้แล้วย่อมสันนิฐานได้ว่าเป็นหลักฐานอันถูกต้องแห่งข้อความที่ได้จดบันทึกไว้จึงย่อมมีผลผูกพันจำเลยทั้งสอง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง เช่นกัน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างที่ค้างชำระแก่โจทก์ในส่วนที่จ่ายในนามของมารดาโจทก์หรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ตกลงจ่ายค่าจ้างตอบแทนการทำงานให้แก่โจทก์โดยจ่ายในนามของโจทก์เดือนละ 47,000 บาท และจ่ายในนามของมารดาโจทก์เดือนละ 73,730 บาท โดยมารดาโจทก์ไม่ได้มาปฏิบัติงานให้แก่จำเลยที่ 1 การที่ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์ในนามของมารดาโจทก์ก็โดยมีเจตนาเพื่อทำให้รายได้พึงประเมินของโจทก์ที่ใช้เป็นฐานคำนวณและเสียภาษีเงินบุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากรของโจทก์ลดลงไปจากที่ได้รับจริง เห็นว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์นั้น แม้มีข้อตกลงเกี่ยวกับวิธีการจ่ายเงินค่าจ้างอันมีผลทำให้รัฐจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากโจทก์ได้ลดน้อยลง ถือได้ว่าเป็นการไม่สุจริต แต่ข้อตกลงการจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ของจำเลยที่ 1 ก็หาตกเป็นโมฆะไม่ โจทก์จึงมีสิทธิรับค่าจ้างในส่วนนี้ได้ ซึ่งจำเลยที่ 1 ค้างชำระจ้างแก่โจทก์ระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม 2544 ถึงวันที่ 6 มิถุนายน 2544 คิดเป็นเงิน 41,780.33 บาท โจทก์จึงชอบที่จะขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จ่ายเงินจำนวนนี้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2544 ซึ่งถือได้ว่าเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าจ้างจำนวน 68,414.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share