แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 125 วรรคสาม ที่กำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานสามารถนำคดีไปสูศาลแรงงานได้ แต่นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งจึงจะฟ้องคดีได้นั้นเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มุ่งถึงสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ จากนายจ้างโดยเร็วเมื่อลูกจ้างชนะคดีอันเป็นการป้องกันไม่ให้นายจ้างหน่วงเหนี่ยวชำระให้แก่ลูกจ้างชักช้า และตามมาตรา 125 วรรคสี่ ยังบัญญัติไว้สอดคล้องกันว่า เมื่อคดีถึงที่สุดลูกจ้างเป็นฝ่ายชนะคดี ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลแก่ลูกจ้างได้โดยไม่ต้องบังคับคดี ซึ่งเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องนำมาวางศาลเมื่อฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวเป็นเงินตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ ที่พนักงานตรวจแรงงานเห็นว่าลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับ จึงมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้าง มิใช่เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 27 กำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแรงงานแต่อย่างใด ดังนี้ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์เพราะโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 125 วรรคสาม กำหนดไว้ จึงไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 27
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งให้โจทก์จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างของโจทก์
ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า การที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์ที่ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547 ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล จะต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงจะฟ้องคดีได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม แต่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว จึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้น คำสั่งของศาลแรงงานกลางขัดต่อกฎหมายเพราะตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27 บัญญัติว่า การยื่นคำฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ในศาลแรงงานให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าฤชาธรรมเนียม ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่คู่ความที่มีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาลนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม ที่กำหนดให้นายจ้างที่ไม่พอใจคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานสามารถนำคดีไปสู่ศาลแรงงานได้ แต่นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งจึงจะฟ้องคดีได้นั้น เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มุ่งถึงสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จากนายจ้างโดยเร็วเมื่อลูกจ้างชนะคดี อันเป็นการป้องกันไม่ให้นายจ้างหน่วงเหนี่ยวชำระให้แก่ลูกจ้างชักช้า และตามมาตรา 125 วรรคสี่ ยังบัญญัติไว้สอดคล้องกันว่าเมื่อคดีถึงที่สุดลูกจ้างเป็นฝ่ายชนะคดี ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลแก่ลูกจ้างได้โดยไม่ต้องบังคับคดี ซึ่งเงินที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างต้องนำมาวางศาลเมื่อฟ้องคดีขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวเป็นเงินตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่พนักงานตรวจแรงงานเห็นว่าลูกจ้างมีสิทธิที่จะได้รับ จึงมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายแก่ลูกจ้าง มิใช่เงินค่าฤชาธรรมเนียมที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27 กำหนดให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแรงงานแต่อย่างใด ดังนี้ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์เพราะโจทก์ไม่วางเงินต่อศาลตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสาม กำหนดไว้ จึงไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 27 ดังที่โจทก์อุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน