แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในกรณีการกระทำความผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกัน พนักงานสอบสวนหาจำต้องระบุถึงกฎหมายที่เป็นความผิดทุกบทมาตราหรือทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไม่ แต่เมื่อใดแจ้งข้อหาอันเป็นหลักความผิดทั่วไปแล้ว ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วยอีก พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่า ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่ามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต อันมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างออกไป และอยู่ในกฎหมายต่างฉบับกัน ก็มีอำนาจสอบสวนความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานนี้แล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหานี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
เจ้าพนักงานตำรวจยึดอาวุธปืนของกลางได้จากที่บ้านของจำเลยที่ 2 อาวุธปืนดังกล่าวไม่มีเลขทะเบียนโดยถูกต้อง ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหานี้มาโดยตลอด เพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนของกลางไปในทางสาธารณะนั้น จากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีพยานคนใดยืนยันว่าจำเลยที่ 2 พาอาวุธของกลางดังกล่าวติดตัวไปในทางสาธารณะด้วยแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพข้อหานี้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ข้อเท็จจริงก็ยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดในข้อหานี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2543 เวลากลางวันถึงวันที่ 17 เมษายน 2543 เวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ จำเลยที่ 2 มีอาวุธปืนพกลูกซองชนิดประกอบขึ้นเอง ขนาด 12 จำนวน 1 กระบอก ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่ใช้ยิงได้และไม่มีหมายเลขทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับ และมีกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 3 นัด อันเป็นเครื่องกระสุนปืนตามกฎหมายที่ใช้ทำการยิงได้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่และไม่มีเหตุยกเว้นโทษตามกฎหมาย และจำเลยที่ 2 พาอาวุธปืนและกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปตามถนนสาธารณะภายในตำบลบัวสลี่ อำเภอแม่ลาว และตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและมิใช่กรณีต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ ทั้งไม่ได้รับยกเว้นโทษตามกฎหมาย และจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้อาวุธปืนกระบอกดังกล่าวยิงนายดวงจันทร์ ขันแก้ว ผู้ตาย จำนวน 1 นัด โดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อน กระสุนปืนถูกผู้ตายบริเวณต้นแขนและรักแร้ด้านขวาได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายเพราะบาดแผลดังกล่าวสมดังเจตนาของจำเลยทั้งสอง เหตุเกิดที่ตำบลบัวสลี่ อำเภอแม่ลาว และตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เจ้าพนักงานยึดเศษหมอนกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 2 ชิ้น เศษแว่นกระดาษแข็งรองหมอนกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 4 ชิ้น ต่อมาเจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมยึดอาวุธปืน และเครื่องกระสุนปืนข้างต้นเป็นของกลาง แต่กระสุนปืนของกลางหมดไปในการทดลอดยิง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 289, 371 และริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (1) (ที่ถูก (4) ) ประกอบมาตรา 83 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้ประหารชีวิต และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ฐานมีและพาอาวุธปืนฯ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 8 เดือน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ต้องโทษสูงสุดให้จำคุกตลอดชีวิตแล้ว จึงกำหนดโทษจำเลยที่ 2 ให้ลงโทษตลอดชีวิตเพียงสถานเดียวและริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ แต่เศษหมอนกระสุนปืน เศษแว่นกระดาษแข็งรองหมอนกระสุนปืนเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงให้ริบ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2543 เวลา 9 นาฬิกา จำเลยที่ 2 กับนายสอาด คำแก่น ได้มาพบจำเลยที่ 1 ที่บ้านโดยนายสอาดมาว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ไปฆ่านายดวงจันทร์ ขันแก้ว ผู้ตาย โดยจะให้ค่าจ้าง 8,000 บาท และนายสอาดได้จ่ายเงินมัดจำให้ก่อนเป็นเงิน 1,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 7,000 บาท นายสอาดจะนำมาให้เมื่องานเสร็จ เมื่อนายสอาดกลับไป จำเลยทั้งสองได้ตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 จะมีหน้าที่ชักชวนผู้ตายออกจากบ้านพักไปยังจุดที่จำเลยที่ 2 ซุ่มอยู่ จากนั้นจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2543 เวลา 13 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ได้ขับรถจักรยานยนต์ไปที่บ้านของผู้ตายสอบถามนายเสริฐว่าผู้ตายอยู่ที่บ้านหรือไม่ นายเสริฐแจ้งว่าผู้ตายจะพักอาศัยอยู่ที่บ้านในเวลาเย็นเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงขับรถจักรยานยนต์ไปพบจำเลยที่ 2 และตกลงกันว่าจำเลยที่ 1 จะทำทีเอาเงิน 600 บาท ไปขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้ตายแล้วให้ผู้ตายนำเมทแอมเฟตามีนไปมอบให้แก่จำเลยที่ 1 ที่บริเวณเชิงเขา จากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขับรถจักรยานยนต์โดยมีจำเลยที่ 2 พกอาวุธปืนลูกซองสั้นนั่งซ้อนท้ายเดินทางไปที่ป่าละเมาะ เมื่อถึงป่าละเมาะจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ซุ่มรออยู่ ส่วนจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปพบผู้ตายที่บ้านแล้วจำเลยที่ 1 ได้ขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากผู้ตาย 10 เม็ด ในราคา 600 บาท และให้ผู้ตายนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้จำเลยที่ 1 ที่บริเวณป่าละเมาะจุดที่จำเลยที่ 2 ซุ่มอยู่ ผู้ตายรับเงินจากจำเลยที่ 1 แล้วขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านพักทันที ส่วนจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ไปรอยังจุดที่จำเลยที่ 2 ซุ่มอยู่ จำเลยที่ 1 รออยู่ประมาณ 2 ชั่วโมง ขณะนั้นเป็นเวลาประมาณ 11 นาฬิกา จำเลยที่ 1 เห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์มาพบที่ป่าละเมาะตามที่นัดหมายไว้ ผู้ตายมอบเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 1 จำนวน 2 เม็ด ขณะนั้นจำเลยที่ 2 ซุ่มอยู่ได้ออกมาใช้อาวุธปืนที่เตรียมมายิงผู้ตาย 1 นัด ผู้ตายวิ่งหลบหนีไปทางทุ่งนา จำเลยทั้งสองไม่สามารถตามทันจึงชวนกันกลับบ้าน ต่อมาจำเลยทั้งสองได้รับเงินค่าจ้างฆ่าผู้ตายที่เหลืออีก 7,000 บาท จากนายสอาด วันที่ 18 เมษายน 2543 เวลาประมาณ 9 นาฬิกา พันตำรวจโทชลอ เงินแจ้ง ได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุว่ามีเหตุฆ่ากันตายที่สวนป่าริมกรณ์ที่เกิดเหตุจึงร่วมกับพวกออกไปตรวจที่เกิดเหตุ เมื่อไปถึงพบศพผู้ตาย จึงทำการบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุและทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุคดีอาญา กับถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุ ตรวจบริเวณที่เกิดเหตุห่างจากจุดที่พบศพผู้ตายประมาณ 200 เมตร พบกระดาษหมอนกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 6 ชิ้น จึงยึดเป็นของกลาง แล้วนำศพผู้ตายไปตรวจชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ พันตำรวจโทชลอร่วมกับแพทย์ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย พันตำรวจตรีอนันต์ แห้วทอง กับพวกออกสืบสวนทราบว่า ก่อนเกิดเหตุมีคนเห็นจำเลยที่ 1 พาผู้ตายออกจากบ้านเพื่อไปซื้อเมทแอมเฟตามีนมาเสพโดยใช้รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อคาวาซากิ สีเลือดหมูเป็นยานพาหนะไปรับผู้ตาย พันตำรวจตรีอนันต์ จึงไปบ้านจำเลยที่ 1 พบรถจักรยานยนต์ตามที่ได้รับแจ้งจึงสอบถามจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2543 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ไปชวนผู้ตายออกจากบ้าน โดยผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ของตนเองออกจากบ้าน แล้วจำเลยที่ 1 ร่วมกับพวกรวม 4 คน ฆ่าผู้ตายโดยนายอุทิศ ขันแก้ว พี่ชายผู้ตายกับนายสอาดเป็นผู้ว่าจ้างให้ฆ่าผู้ตายเป็นเงิน 8,000 บาท และนำหมายค้นของศาลเข้าไปตรวจค้นบ้านจำเลยที่ 2 พบอาวุธปืนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 1 กระบอก และกระสุนปืนอีก 2 นัด จำเลยที่ 2 รับว่าร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนกระบอกดังกล่าวยิงผู้ตายจึงจับกุมจำเลยทั้งสองและแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองว่าร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 อีกกระทงว่าพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุม พันตำรวจโทชลอพนักงานสอบสวนรับตัวจำเลยทั้งสองไว้ดำเนินคดีพร้อมจัดทำบัญชีของกลางคดีอาญาเพิ่มเติม ในชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสองเช่นเดียวกับชั้นจับกุม จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนได้พาจำเลยทั้งสองไปชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ พร้อมถ่ายรูปประกอบสำนวนการสอบสวน สำหรับอาวุธปืนของกลางตรวจพิสูจน์แล้วผู้ชำนาญการพิเศษมีความเห็นว่าใช้ยิงทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ตามรายงานการตรวจพิสูจน์
จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดตามโจทก์ฟ้องโดยอ้างฐานที่อยู่ และในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้าย บังคับ ขู่เข็ญให้รับสารภาพ ทั้งยังบังคับให้แสดงท่าทางให้เจ้าพนักงานตำรวจถ่ายรูปและไม่เคยรู้จักผู้ตายมาก่อน
จำเลยที่ 2 นำสืบว่า วันที่ 24 เมษายน 2543 เวลาประมาณ 16 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจมาค้นบ้านจำเลยที่ 2 พบอาวุธปืนลูกซอง 1 กระบอก แล้วพาไปที่บ้านนายสอาด คำแก่น พบกับจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานตำรวจแจ้งจำเลยที่ 2 ว่าฆ่าผู้ตาย จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง นายดวงจันทร์ ขันแก้ว ผู้ตาย ถูกอาวุธปืนยิงถึงแก่ความตายตามรายงานการชันสูตรพลิกศพเอกสารหมาย จ.4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันถึงการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง โจทก์คงมีแต่ร้อยตำรวจเอกสุวิทย์ มีนาเมิน และพันตำรวจตรีอนันต์ แห้วทอง เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยทั้งสองมาเบิกความแต่เพียงว่าเหตุที่จับกุมจำเลยทั้งสองเพราะตรวจยึดอาวุธปืนและรถจักรยานยนต์ของกลางได้จากที่บ้านของจำเลยทั้งสองเท่านั้น สำหรับอาวุธปืนของกลางเมื่อมีการส่งไปตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับเศษหมอนกระสุนปืนลูกซอง ขนาด 12 จำนวน 2 ชิ้น ที่ตรวจยึดได้จากบริเวณที่เกิดเหตุ ก็ไม่สามารถตรวจยืนยันได้ว่าเศษหมอนกระสุนปืนกับเศษแว่นกระดาษแข็งรองกระสุนปืนดังกล่าวยิงมาจากอาวุธปืนของกลางหรือไม่เช่นเดียวกับรถจักรยานยนต์ของกลางที่อ้างว่ามีผู้ขับไปรับผู้ตายออกจากบ้านในวันเกิดเหตุ แต่ไม่มีพยานมาเบิกความยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนก็เป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ประกอบกับคดีนี้เป็นคดีอุกฉกรรจ์ ลำพังแต่เพียงคำให้การรับสารภาพดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองในข้อหานี้ชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าพนักงานสอบสวนมิได้แจ้งข้อหาจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในกรณีที่การกระทำนั้นผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันก็ตาม พนักงานสอบสวนหาจำต้องระบุถึงกฎหมายที่เป็นความผิดทุกบทมาตราหรือทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไม่ แต่เมื่อได้แจ้งข้อหาอันเป็นหลักความผิดทั่วไปแล้ว ก็ไม่จำต้องแจ้งข้อหาความผิดอันเกี่ยวพันกันด้วยอีก พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนความผิดทุกข้อหาได้ กรณีนี้เมื่อพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่า ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้ว แม้ไม่แจ้งข้อหาว่ามีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตอันมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างออกไป และอยู่ในกฎหมายต่างฉบับกัน ก็มีอำนาจสอบสวนความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ถือได้ว่ามีการสอบสวนความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ถือว่ามีการสอบสวนความผิดฐานนี้แล้ว พนักงานอัยการโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในข้อหานี้ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครองครอง และพาอาวุธปืนไปในทางสาธารณะด้วยหรือไม่นั้น ได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดอาวุธปืนของกลางได้จากที่บ้านของจำเลยที่ 2 อาวุธปืนดังกล่าวไม่มีหมายเลขทะเบียนโดยถูกต้องชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหานี้มาโดยตลอด ข้อเท็จจริงจึงเพียงพอให้รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาพาอาวุธปืนของกลางไปในทางสาธารณะนั้นจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีพยานคนใดยืนยันว่าจำเลยที่ 2 พาอาวุธปืนของกลางดังกล่าวติดตัวไปในทางสาธารณะด้วยแต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 จะให้การรับสารภาพข้อหานี้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ข้อเท็จจริงก็ยังไม่เพียงพอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดในข้อหานี้ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 สำหรับความผิดฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงจำคุก 8 เดือน และริบอาวุธปืนของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5