แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “ซึ่งมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน” ในพระราชบัญญัติล้มละลายมาตรา 8(9) หมายความว่าในระหว่างการทวงถามครั้งแรกกับครั้งที่สองต้องมีระยะเวลาสามสิบวันเท่านั้น
โจทก์อาจฟ้องผู้ถือหุ้นชนิดไม่จำกัดความรับผิดให้ล้มละลายพร้อมกับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ โดยโจทก์ไม่ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 89 ก่อน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัดและผู้ถือหุ้นชนิดไม่จำกัดความรับผิดเป็นจำเลยขอให้ศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย โดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ 95,533.20 บาท โจทก์ทวงไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง โดยทางห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยไม่ชำระ
จำเลยให้การว่ามีฐานะการค้ามั่นคง ศาลยังไม่ได้สั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 โจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง โจทก์ได้ทวงถามหลายครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยเป็นหนี้ผู้อื่นอีก ทั้งโรงงานของจำเลยก็ถูกขายฝาก จึงมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น และวินิจฉัยว่า คำว่า “ซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน” ในมาตรา 8(9) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายนั้น หมายความว่าในระหว่างการทวงถามครั้งแรกกับครั้งที่สองมีระยะเวลาสามสิบวัน มิใช่ว่าโจทก์จะต้องรอไว้อีก 30 วัน หลังจากทวงถามครั้งที่สองแล้วจึงฟ้องคดีได้
เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนชนิดไม่จำกัดความรับผิด โจทก์จึงฟ้องให้รับผิดหนี้นี้ได้โดยตรง โดยไม่จำต้องดำเนินกระบวนพิจารณาตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 89 แต่ทางเดียว
พิพากษายืน