แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าของโครงการอาคารชุดและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารในโครงการทั้งหมดแม้จำเลยจะทำสัญญาว่าจ้างบริษัทอื่นให้ดำเนินการก่อสร้างในส่วนต่าง ๆแทน แต่จำเลยก็ยังคงเป็นเจ้าของกิจการก่อสร้างในโครงการทั้งหมดและตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าว เช่น สัญญาซื้อเสาเข็มคอนกรีตว่า จำเลยจะต้องจัดหาสถานที่สำหรับกองเสาเข็มและจัดทำทางเพื่อให้รถบรรทุกเสาเข็มเข้าไปส่งยังจุดทำงานได้โดยสะดวก และสัญญาว่าจ้างตอกเสาเข็มว่าจำเลยต้องรับผิดชอบกรณีที่มีความเสียหายของอาคารข้างเคียงเนื่องจากความสั่นสะเทือนหรือจากแรงดันของดินจากการตอกเสาเข็ม เช่นนี้ถือว่าจำเลยต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในฐานะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428
คำแถลงของคู่ความมีลักษณะเป็นการแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลเกี่ยวกับปริมาณค่าเสียหายของโจทก์โดยมีเงื่อนไขว่าให้เป็นไปตามที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินราคา คู่ความทั้งสองฝ่ายย่อมต้องถูกผูกพันเป็นยุติตามที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินราคามาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) คู่ความจะโต้แย้งเป็นอย่างอื่นหรืออ้างความเห็นของพยานคนใดมาหักล้างมิได้
การก่อสร้างอาคารตามโครงการของจำเลยเริ่มตั้งแต่ปี 2533จนถึงปี 2537 ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์นั้น เป็นผลมาจากการดำเนินการก่อสร้างของจำเลย มิได้เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วเสร็จสิ้นไป หากแต่เกิดต่อเนื่องกันมาเป็นระยะ ๆ ตราบเท่าที่ยังมีการก่อสร้างตามโครงการของจำเลย จำเลยได้ให้ พ. เข้าไปซ่อมบ้านของโจทก์จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 อันถือเป็นการที่ลูกหนี้ได้กระทำการอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้รายนี้เป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/14(1) โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536จึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 209011, 209012 และ 209013 และโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 209014 รวมเนื้อที่ทั้งหมด 2 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้าน 2 ชั้น 2 หลัง เลขที่ 42/24 และ 42/25 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงของโจทก์ทั้งสอง ได้ประกอบการค้าโดยปลูกสร้างคอนโดมิเนียมแฟลตหรืออาคารชุด เพื่อขาย ชื่อว่า “โครงการฟลอราวิลล์” ระหว่างปี 2533ถึงปัจจุบัน จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โดยระหว่างก่อสร้างอาคารของจำเลยได้มีการใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็ม รถบรรทุกดินและวัสดุก่อสร้างเข้าออกผ่านหน้าที่ดินโจทก์ทั้งสองเป็นเหตุให้เกิดแรงสั่นสะเทือนของการก่อสร้าง เป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังทำให้อาคารบ้านเลขที่ 42/24 และ 42/25 พร้อมรั้วคอนกรีตได้รับความเสียหายหลายรายการ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 2,147,850 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยว่าจ้างบุคคลภายนอกเป็นผู้ก่อสร้างโดยถูกต้องตามหลักวิชาการ ฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความเนื่องจากมิได้ฟ้องภายใน 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,763,563 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1ธันวาคม 2535 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 209011, 209012 และ 209013โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 209014 และโจทก์ทั้งสองได้ปลูกสร้างบ้านในที่ดินทั้ง 4 แปลง เมื่อปี 2530 คือบ้านเลขที่ 42/24 และ42/25 หมู่ที่ 16 จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงที่ดินโจทก์ทั้งสองทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก จำเลยได้ปลูกสร้างอาคารชุดสูง 33 ชั้น จำนวน4 อาคาร เพื่อขายหรือให้เช่า ใช้ชื่อโครงการว่า “ฟลอราวิลล์” การบริหารโครงการของจำเลยนายสุบรรณ ตระกูลเรืองวิทย์ พนักงานของจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบและควบคุมโครงการ ระหว่างก่อสร้างอาคารตามโครงการของจำเลยบ้านและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์ทั้งสองเกิดความเสียหาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ความเสียหายที่โจทก์ทั้งสองได้รับนั้นเกิดจากการกระทำของจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า เหตุที่รั้วบ้านโจทก์พังเนื่องจากที่ดินบริเวณบ้านโจทก์ทั้งสองสูงกว่าถนนประมาณ 1 เมตร และรั้วไม่มีสเตย์ยึดไว้ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2533 ฝนตกหนักทำให้รั้วยุบตัวลง และการดำเนินการก่อสร้างอาคารของจำเลยใช้วิธีขุดเปิดหน้าดินออกบางส่วน ฝังแผ่นเหล็กโดยรอบ และเจาะเอาดินออกบางส่วน แล้วจึงตอกเสาเข็มลงในหลุมดิน ซึ่งจะทำให้เกิดความกระทบกระเทือนแก่ที่ดินข้างเคียงน้อยที่สุด และการขนส่งวัสดุก่อสร้างมายังสถานที่ก่อสร้างไม่ได้ทำให้บ้านโจทก์ทั้งสองเสียหายนั้น เห็นว่าโจทก์ทั้งสองมีตัวโจทก์ที่ 2 เบิกความยืนยันว่า ขณะก่อสร้างได้มีการขนวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างทำให้ถนนเสียหายถนนถูกอัดลง ดินใต้ถนนไหลเลื่อนเบียดกำแพงและเสาบ้านโจทก์ทั้งสองและการก่อสร้างใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มตามภาพถ่ายหมาย จ.13 ทำให้เสาบ้านโจทก์ทั้งสองทรุดตัวและมีรอยแตกร้าวของอาคารบ้านโจทก์ทั้งสองหลายแห่งความเสียหายของโจทก์ทั้งสองปรากฏตามภาพถ่ายหมาย จ.14 ถึง จ.16 โจทก์ที่ 2 แจ้งให้จำเลยทราบจำเลยส่งนายสุบรรณ ตระกูลเรืองวิทย์ มาตรวจสอบความเสียหายอยู่ 7 เดือนจึงวิเคราะห์ว่าเสาอาคารของโจทก์ทั้งสองต้นคู่หน้าได้รับความเสียหายโดยการทรุดตัว ตามเอกสารหมาย จ.17 และนายสุบรรณได้ทำบันทึกลงวันที่ 12 เมษายน 2534 ในฐานะผู้จัดการโครงการของจำเลยให้แก่โจทก์ที่ 2ไว้ว่า ขอรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตามเอกสารหมาย จ.20และโจทก์ทั้งสองมีนายพิทักษ์ พิทักษ์พงศ์สนิทซึ่งมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างและมีบ้านอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ เบิกความสนับสนุนว่า การก่อสร้างอาคารของจำเลยทำให้บ้านของโจทก์ทั้งสองและบ้านของพยานเสียหาย พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวสอดคล้องต้องกัน จึงมีน้ำหนักในการรับฟัง ส่วนจำเลยมีนายสุบรรณ ตระกูลเรืองวิทย์ เป็นพยาน แต่นายสุบรรณเบิกความรับว่า ความเสียหายที่บ้านโจทก์ทั้งสองพยานเข้าไปดูแลและซ่อมแซมและลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.20 เป็นลายมือชื่อของพยานทั้งนายประสงค์ เอาฬาร กรรมการบริษัทจำเลยก็เบิกความรับว่าจำเลยให้นายสุบรรณเข้าไปดำเนินการซ่อมแซมบ้านโจทก์ ดังนั้นจึงฟังได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ทั้งสองได้รับนั้นเกิดจากการกระทำของจำเลย
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า โครงการนี้จำเลยว่าจ้างบริษัทอื่นดำเนินการจำเลยมิได้เป็นผู้ผิดในการว่าจ้างจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองนั้นเห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าของโครงการอาคารชุดและได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารดังกล่าวในโครงการทั้งหมดแม้จำเลยจะทำสัญญาว่าจ้างบริษัทอื่นให้ดำเนินการก่อสร้างในส่วนต่าง ๆแทน แต่จำเลยก็ยังคงเป็นเจ้าของกิจการก่อสร้างในโครงการทั้งหมด และตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าว เช่น สัญญาซื้อเสาเข็มคอนกรีตเอกสารหมายล.2 ปรากฏตามสัญญาข้อ 5.1 ว่า จำเลยจะต้องจัดหาสถานที่สำหรับกองเสาเข็มและจัดทำทางเพื่อให้รถบรรทุกเสาเข็มเข้าไปส่งยังจุดทำงานได้โดยสะดวกและสัญญาว่าจ้างตอกเสาเข็มเอกสารหมาย ล.3 ปรากฏตามสัญญาตามข้อ 5.3 ว่า จำเลยต้องรับผิดชอบกรณีที่มีความเสียหายของอาคารข้างเคียงเนื่องจากความสั่นสะเทือนหรือจากแรงดันของดินจากการตอกเสาเข็ม เช่นนี้ถือว่า จำเลยต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ทั้งสองในฐานะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่า ค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองมีเพียงใด จำเลยฎีกาว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2539 เป็นความประสงค์ของคู่ความที่จะให้วิศวกรของกรมโยธาธิการสำรวจความเสียหายและประเมินราคามาเพื่อตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยมิได้ยอมรับราคาตามที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินมา ค่าเสียหายดังกล่าวจึงไม่ยุติชอบที่ศาลจะต้องฟังจากพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองต่อไปนั้น เห็นว่าตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2539 ปรากฏข้อความว่า “คู่ความแถลงร่วมกันว่ามีความประสงค์ที่จะติดต่อให้วิศวกรของกรมโยธาธิการเข้าไปตรวจสอบความเสียหายและประเมินราคากลางโดยละเอียด เช่น ปริมาณงาน วิธีการซ่อม ค่าเสียหายที่ปรากฏในขณะตรวจค่าแรงงาน ค่าอุปกรณ์โดยละเอียดเพื่อนำราคาดังกล่าวมาเป็นราคากลางในการตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากวิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินราคาค่าเสียหาย ค่าซ่อมแซมมาเสนอต่อคู่ความเป็นจำนวนเท่าใดคู่ความทั้งสองฝ่ายยอมรับตามนั้น” และตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม 2539 ปรากฏข้อความว่า “คู่ความแถลงร่วมกันว่าได้ให้กรมโยธาธิการประเมินความเสียหายเกี่ยวกับตัวอาคารพิพาท และทางกรมโยธาธิการได้จัดส่งเอกสารสรุปผลการประเมินราคาค่าก่อสร้างมาให้แล้วปรากฏตามหนังสือของกรมโยธาธิการฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม2539 ที่เสนอต่อศาลวันนี้ราคาดังกล่าวเป็นความเสียหายที่สำรวจตามสภาพที่มองเห็นซึ่งคู่ความยอมรับราคากลางที่กรมโยธาธิการเสนอมาคู่ความขออ้างส่งเอกสารดังกล่าวต่อศาลให้แยกเก็บและหมายเอกสารเป็น จ.ล.1″ คำแถลงของคู่ความดังกล่าวมีลักษณะเป็นการแถลงรับข้อเท็จจริงต่อศาลเกี่ยวกับปริมาณค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสองโดยมีเงื่อนไขว่าให้เป็นไปตามที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินราคาซึ่งคู่ความจะต้องผูกพันตามคำแถลงดังกล่าวไม่ว่าผลการประเมินราคาจะออกมาเป็นคุณหรือเป็นโทษต่อตน หาใช่เป็นเพียงให้วิศวกรของกรมโยธาธิการสำรวจความเสียหายและประเมินราคามาให้คู่ความเห็นชอบอีกชั้นหนึ่งตามที่จำเลยฎีกาไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏตามเอกสารหมาย จ.ล.1 ว่า วิศวกรของกรมโยธาธิการได้เข้าตรวจสอบสภาพความเสียหายของบ้านโจทก์ทั้งสองแล้วประมาณราคามาเฉพาะในส่วนของความเสียหายที่มองเห็นได้คิดเป็นเงินประมาณ 1,463,563 บาท เช่นนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายย่อมต้องถูกผูกพันเป็นยุติตามที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินราคามาจะโต้แย้งเป็นอย่างอื่น หรืออ้างความเห็นของพยานคนใดมาหักล้างมิได้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดจำนวนค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์ทั้งสองจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84(1) แล้ว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 9 ตุลาคม 2539 มีข้อความว่า”โจทก์แถลงว่าค่าเสียหายที่ยังไม่สามารถประเมินราคาได้นั้นกับเงินค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองจัดการซ่อมแซมปรับปรุงถนนไปบางส่วน จะเป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องกับจำเลยทั้งสิ้น 1,800,000 บาท” และทนายจำเลยก็แถลงว่า “จะนำราคากลางและค่าเสียหายส่วนที่เกินรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,800,000 บาท ที่โจทก์เรียกร้องมานั้นไปแจ้งให้จำเลยทราบ” แสดงว่า ราคาที่วิศวกรของกรมโยธาธิการประเมินมา1,463,563 บาท โจทก์ทั้งสองเองก็ไม่พอใจและจำเลยก็ยังไม่ตอบตกลงด้วยนั้นเห็นว่าข้อความตามรายงานดังกล่าวเป็นข้อความต่อจากข้อความที่คู่ความยอมรับราคากลางที่กรมโยธาธิการเสนอมาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าค่าเสียหายที่จำเลยยังไม่ยอมรับคือค่าเสียหายส่วนที่เกินจาก 1,463,563 บาทเท่านั้น หาใช่ไม่ยอมรับในจำนวนทั้งสิ้นตามที่จำเลยฎีกาไม่
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองขาดอายุความหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า จากคำเบิกความของโจทก์ที่ 2ได้ความว่า ความเสียหายของอาคารสิ่งปลูกสร้างเกิดก่อนเดือนกรกฎาคม2533 มิใช่เกิดต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ตราบเท่าที่มีการก่อสร้างตามโครงการของจำเลยอยู่ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และในปี 2535 ไม่มีการซ่อมแซมบ้านของโจทก์ทั้งสองและไม่มีการรับสภาพหนี้ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า การก่อสร้างอาคารตามโครงการของจำเลยเริ่มตั้งแต่ปี 2533จนถึงปี 2537 ดังที่นายประสงค์กรรมการบริษัทจำเลยเบิกความว่าการก่อสร้างสระว่ายน้ำและสปอร์ตคลับแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้เมื่อปลายปี 2537และโจทก์ที่ 2 เบิกความว่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2535 จำเลยได้ส่งช่างเข้ามาทำเสาและโครงสร้างหลังคาบ้านให้แล้วเสร็จแล้วก็เงียบหายไปอีกจนกระทั่งต่อมามีนายพิทักษ์ พิทักษ์พงศ์สนิท เป็นผู้รับเหมาของจำเลยเข้ามาซ่อมแซมบ้านเฉพาะส่วนหน้าบ้านให้ โดยซ่อมแซมส่วนหน้าบ้านจนเกือบแล้วเสร็จ และมีการซ่อมถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 ก็ไม่มีการซ่อม ส่วนอื่นอีกเนื่องจากทางฝ่ายจำเลยแจ้งว่า หากซ่อมในขณะนั้นโจทก์ทั้งสองอาจได้รับความเสียหายอีกเนื่องจากโครงการยังไม่เสร็จสิ้นยังมีการขนส่งและก่อสร้างตลอดเวลาขอให้ชะลอการซ่อมไว้ก่อน ซึ่งโจทก์ทั้งสองก็มีนายพิทักษ์มาเบิกความสนับสนุนในข้อนี้สอดคล้องต้องกันแสดงว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่อาคารและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ทั้งสองอันเป็นผลมาจากการดำเนินการก่อสร้างดังกล่าวของจำเลยมิได้เกิดขึ้นครั้งเดียวแล้วเสร็จสิ้นไป หากแต่เกิดต่อเนื่องกันมาเป็นระยะ ๆตราบเท่าที่ยังมีการก่อสร้างตามโครงการของจำเลยอยู่ โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536 จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ตรวจดูคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 แล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2ได้เบิกความเกี่ยวกับจำเลยให้นายพิทักษ์เข้ามาซ่อมแซมบ้านโจทก์ทั้งสองจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 แล้วไม่มีการซ่อมอีกดังกล่าวข้างต้นนั้นศาลฎีกาตรวจดูคำเบิกความของโจทก์ที่ 2 ปรากฏข้อความดังกล่าว ดังนั้นจึงฟังได้ว่า จำเลยได้ให้นายพิทักษ์เข้าไปซ่อมบ้านของโจทก์ทั้งสองจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2535 อันถือเป็นการที่ลูกหนี้ได้กระทำการอันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้รายนี้เป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1)ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยด้วย”
พิพากษายืน