แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่า และมิได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1598/27 ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม ซึ่งถึงแก่กรรมหลังจากที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายจากและนางทอง เสริมหมื่นไวย เป็นสามีภริยามาก่อนปี พ.ศ. 2478 โดยไม่มีบุตรด้วยกัน คนทั้งสองถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2523 และ พ.ศ. 2520 ตามลำดับ มีทรัพย์มรดกคือที่ดิน2 แปลง นายจากและนางทองรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2477 จนกระทั่งคนทั้งสองถึงแก่กรรม จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายจากโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางกลิ่นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกับนายจาก และศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ต่อมาจำเลยที่ 1 จัดการโอนที่ดินสองแปลงเป็นของตนในฐานะทายาท และต่อมาได้โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นสามีและบุตรของจำเลยที่ 1 ขอให้พิพากษาว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับมรดกเฉพาะส่วนของนายจาก เสริมหมื่นไวย ให้เพิกถอนการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมสำหรับที่ดินดังกล่าวที่จำเลยที่ 1 รับโอนในฐานะผู้จัดการมรดกและในฐานะทายาท และที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้จำเลยทั้งสามส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า โจทก์มิใช่ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของนายจากจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนางกลิ่นซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายจาก โดยที่นายจากไม่มีทายาทอื่นใดอีก จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับมรดกแทนที่ของนางกลิ่นมีสิทธิรับมรดกของนายจากผู้เดียว การโอนที่ดินให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นการกระทำตามสิทธิของกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาตามฎีกาของโจทก์คงมีว่า โจทก์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายจาก เสริมหมื่นไวย เจ้ามรดกมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2476 ก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 โดยมิได้มีการจดทะเบียน จะมีสิทธิได้รับมรดกของนายจาก เสริมหมื่นไวย ผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งถึงแก่กรรม หลังจากที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่แล้วหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ซึ่งอ้างตนเป็นบุตรบุญธรรมของนายจาก เสริมหมื่นไวย เจ้ามรดกมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2476 ไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกผู้รับบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่าก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมลักษณะมรดก ร.ศ. 121 ต่อมาเมื่อประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 บรรพ 6 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ใช้ตรวจชำระใหม่แล้ว แม้จะมีบทบัญญัติ มาตรา 1586 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และมาตรา 1598/28 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่บัญญัติว่า ‘บุตรบุญธรรมย่อมมีฐานะอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น…….ฯลฯ’ และมาตรา 1627 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติไว้ด้วยว่า ‘…..บุตรบุญธรรมนั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้’ ก็ตามบุตรบุญธรรมในบทบัญญัติดังกล่าวก็หมายความเฉพาะบุตรบุญธรรมที่จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามมาตรา 1585 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 และมาตรา 1598/27 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่เท่านั้นมิได้หมายรวมถึงบุตรบุญธรรมตามกฎหมายเก่า ซึ่งใช้อยู่ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ด้วย ทั้งนี้เพราะมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่บัญญัติว่า บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติมาตรา 4 และมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 และพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 มาตรา 4 บัญญัติว่า ‘บทบัญญัติแห่งบรรพนี้ไม่กระทบกระเทือนถึง…(2)…การรับบุตรบุญธรรม ซึ่งมีอยู่ก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายบรรพนี้หรือสิทธิและหนี้อันเกิดแก่การนั้นๆ’ ซึ่งหมายความถึงสิทธิและหน้าที่ของบุตรบุญธรรมมีอยู่ตามกฎหมายเก่าอย่างไร เมื่อใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วก็คงมีอยู่อย่างนั้นด้วย เหตุนี้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดกตามกฎหมายเก่ามิได้จดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1598/27 จึงไม่มีสิทธิรับมรดกของนายจาก เสริมหมื่นไวย ผู้รับบุตรบุญธรรมซึ่งถึงแก่กรรมหลังจากที่ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่
พิพากษายืน