คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 502/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์เป็นเจ้าของกิจการร้านบาร์เบอร์ช้อบ ตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งร้านค้าของโรงแรม ร.โดยเช่าจากบริษัทร. จำกัด โดยไม่มีกำหนดเวลา ต่อมาบริษัท ร. จำกัด ขายทรัพย์สินทั้งหมดให้จำเลยมีข้อตกลงว่าจำเลยต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเดิมที่โจทก์มีกับบริษัท ร. จำกัด มาด้วย การที่จำเลยได้ปิดกิจการโรงแรมโดยปิดประตูใหญ่ด้านหน้าโรงแรม อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ปิดกิจการร้านของโจทก์แล้ว ในขณะที่โจทก์ยังมีสิทธิการเช่าอยู่ ก็ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ สัญญาเช่ากำหนดว่าโจทก์จะต้องออกจากสถานที่เช่าเมื่อจำเลยบอกกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 60 วัน ดังนี้เมื่อจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ขอให้ส่งมอบสถานที่เช่าอ้างว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่า แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยปิดกิจการเพื่อจะปรับปรุงโรงแรม โดยปิดประตูใหญ่ เสีย ก็อนุโลมได้ว่าจำเลยแจ้งให้โจทก์ส่งมอบสถานที่เช่าเพื่อปรับปรุงอาคารของโรงแรมตามเงื่อนไขในสัญญาเช่าแล้ว โจทก์จะต้องย้ายออกจากสถานที่เช่าเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่ได้รับหนังสือของจำเลย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกิจการ “รามาโซน่า” หรือร้านบาร์เบอร์ช้อบ ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่ตั้งร้านค้าของโรงแรมรามาทาวเวอร์โดยเช่าจากบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด โดยไม่มีกำหนดเวลา ต่อมาบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัด ขายทรัพย์สินทั้งหมดของบริษัทให้แก่จำเลย โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าเดิมที่โจทก์มีกับบริษัทรามาทาวเวอร์ จำกัดมาด้วย เนื่องจากข้อตกลงตามสัญญาเช่าเดิมของโจทก์มีว่า ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องตกแต่งสถานที่ให้สวยงามต้องเปิดไฟฟ้าในเวลากลางคืนให้สว่างไม่น้อยกว่า 60 แรงเทียนโดยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าเองและผู้เช่าจะต้องเอาประกันภัยจำนวน 500,000 บาท โดยให้ผู้ให้เช่าเป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยไม่มีการบอกกล่าวให้โจทก์ทราบมาก่อนได้ปิดกั้นด้านหน้าของโรงแรมรามาทาวเวอร์ไม่ให้คนเข้ามาภายในบริเวณโรงแรมอันเป็นเหตุให้กิจการของโจทก์ต้องหยุดชะงักลงไปเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ปิดกั้นด้านหน้าของโรงแรมรามาทาวเวอร์ไม่ให้คนเข้ามาใช้บริการของโจทก์ ทางเข้าโรงแรมมีหลายทาง จำเลยปิดกิจการโรงแรมชั่วคราวเพื่อซ่อมและปรับปรุงอาคารของจำเลยโดยสุจริต ได้มีการบอกกล่าวให้ผู้เช่าและโจทก์ทราบสัญญาเช่าระหว่างโจทก์จำเลยสิ้นสุดลงแล้วโดยก่อนที่จำเลยจะปิดกิจการโรงแรมชั่วคราวนั้น โจทก์ผิดนัดชำระค่าเช่าแก่จำเลยมาโดยตลอด จำเลยได้บอกเลิกการเช่ากับโจทก์แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ อันเกิดจากสัญญาเช่า โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้อง กิจการของโจทก์ประสบปัญหาขาดทุน จำเลยไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 80,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยได้ให้โจทก์เช่าสถานที่ซึ่งอยู่ที่ชั้นสองและเป็นส่วนการค้าของโรงแรมรามาทาวเวอร์เพื่อประกอบกิจการตัดผมสุภาพบุรุษ อาบ อบ นวด ใช้ชื่อทางการค้าว่า รามาโซน่า หรือร้านบาร์เบอร์ช้อบ โดยมีข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาจำเลยได้ปิดกิจการโรงแรมชั่วคราวเพื่อปรับปรุงโดยทำป้ายปิดประกาศไว้ที่ประตูใหญ่ด้านหน้าโรงแรมซึ่งติดถนนใหญ่และปิดประตูใหญ่ด้านหน้าโรงแรม คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่โจทก์ฎีกาว่า การที่จำเลยได้ปิดกิจการโรงแรมโดยปิดประตูใหญ่ด้านหน้าโรงแรมขณะโจทก์ยังมีสิทธิตามสัญญาเช่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้นายสุทธิพงศ์ ศรีเตลาน พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยปิดกิจการโรงแรมตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2527 โดยปิดประตูใหญ่ด้านที่ติดถนน หลังจากนั้นประมาณ 3 วัน จำเลยเริ่มงดการบริการใช้เครื่องปรับอากาศ ไม่จ่ายน้ำประปาให้ ต่อมาประมาณ 4 วัน จำเลยตัดกระแสไฟฟ้า ส่วนร้านของโจทก์ปิดกิจการตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม2527 แต่นายสุทธิพงศ์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ในวันที่17 ตุลาคม 2527 ประตูใหญ่ยังเปิดอยู่ หลังจากนั้นประมาณ 3-4 วันประตูใหญ่จึงปิด นายสุวัฒน์ พฤกษ์เสถียร พยานจำเลยเบิกความว่าจำเลยได้ปิดกิจการโรงแรมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2527 และได้ปิดประตูใหญ่ด้านหน้าเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2527 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จำเลยมีแขกมาพักในโรงแรม ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยปิดประตูใหญ่เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2527 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ปิดกิจการร้านของโจทก์แล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าขณะจำเลยปิดประตูใหญ่ โจทก์ยังมีสิทธิการเช่าอยู่ก็ยังถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ คำพิพากษาฎีกาที่194/2518 ระหว่าง นางสำเนียง หุตะภิญโญ โจทก์ นายบักเพียวหรือฮั่วจี่ แซ่อุ่ง จำเลย ที่โจทก์อ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
ปัญหาต่อไปที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิการเช่า แต่โจทก์ไม่สามารถประกอบการค้าได้ จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดรายได้ต่อไปจนกว่าจำเลยเปิดดำเนินกิจการโรงแรม มิใช่ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียง 60 วัน นั้นเห็นว่า ตามบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเช่า โจทก์จะต้องออกจากสถานที่เช่าเมื่อจำเลยบอกกล่าวแล้วไม่น้อยกว่า 60 วัน ดังนั้น เมื่อพ้นกำหนด60 วัน นับแต่วันบอกกล่าว โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิอยู่ในสถานที่เช่าอีกต่อไป จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหลังจากนั้น หาใช่จำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ขาดรายได้จนกว่าจำเลยจะเปิดดำเนินกิจการโรงแรมดังที่โจทก์ฎีกาไม่ คดีได้ความว่าจำเลยมีหนังสือลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 ถึงโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8 ขอให้ส่งมอบสถานที่เช่า แม้หนังสือดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่าโจทก์ค้างชำระค่าเช่า แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยปิดกิจการเพื่อจะปรับปรุงโรงแรมโดยปิดประตูใหญ่ตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2527จึงอนุโลมได้ว่า จำเลยแจ้งให้โจทก์ส่งมอบสถานที่เช่าเพื่อปรับปรุงอาคารของโรงแรมตามเงื่อนไขซึ่งปรากฎอยู่ในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาเช่าแม้ไม่ปรากฎตามทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายถึงวันที่โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าว แต่โจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 6 ธันวาคม 2527โดยอ้างถึงเอกสารหมาย จ.8 และขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย จึงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับหนังสือของจำเลยที่ให้โจทก์ส่งมอบสถานที่เช่าอย่างช้าที่สุดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2527 เพราะฉะนั้นโจทก์จะต้องย้ายออกจากสถานที่เช่าเมื่อพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่ วันที่ 6ธันวาคม 2527 ซึ่งครบกำหนด 60 วัน ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2528ดังนี้ จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เฉพาะในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2527 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2528 เป็นเวลา 3 เดือน 14 วัน ที่โจทก์ฎีกาว่า ค่าเสียหายโจทก์เดือนละ100,000 บาท โดยอ้างว่าโจทก์มีแบบแสดงรายการการค้าตามเอกสารหมายจ.13 เป็นหลักฐานนั้น เห็นว่า โจทก์มีรายได้ตามแบบแสดงรายการการค้าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2527 ถึงเดือนตุลาคม 2527 เดือนละ80,000 บาทเศษ ถึง 126,000 บาทเศษ ซึ่งจะต้องหักภาษีการค้าเดือนละ 5,000 บาทเศษ ถึง 9,000 บาทเศษ และจะต้องหักค่าใช้จ่ายเป็นเงินค่าจ้างพนักงานและอื่น ๆ อีก เพราะฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ขาดกำไรเดือนละ 40,000 บาทนั้นเหมาะสมแล้ว คิดค่าเสียหายเป็นเวลา 3 เดือน 14 วัน เป็นเงิน138,666.67 บาท ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 138,666.67 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์.

Share