คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4374/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับบริษัท ท. โดยจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แต่โจทก์ไม่เคยอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาทเลยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้อาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาท โดยจำเลยที่ 1ได้ประกอบการค้าอยู่ในตึกแถวพิพาทด้วย จำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาทจำนวน 270,000 บาท ให้แก่บริษัท ท. หลังจากโจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทแล้ว จำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระค่าเช่าตึกแถวพิพาทในนามของโจทก์มาตลอดพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับบริษัท ท. โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างสิทธิตามสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกจากตึกแถวเลขที่ 81 ถนนบูรพา แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานครและส่งมอบแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ห้ามเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไปให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 70,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์จนกว่าชำระเสร็จและให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปแก่โจทก์ จนกว่าจำเลยทั้งสามและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากตึกแถวของโจทก์
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์มิได้เช่าตึกแถวพิพาท ความจริงจำเลยที่ 3 เป็นผู้เช่าตึกแถวพิพาท โดยมอบให้โจทก์ทำสัญญาเช่าแทนจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 2 อยู่ในตึกแถวพิพาทโดยอาศัยสิทธิของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1จึงมีสิทธิทำการค้าในตึกแถวพิพาท ไม่ทำให้โจทก์เสียหาย หากเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 600 บาท ตามค่าเช่าที่ชำระให้แก่บริษัททรง จำกัดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับบริษัททรง จำกัด โดยจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้นโจทก์ไม่เคยอาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาทเลย กลับปรากฏว่าจำเลยที่ 2ที่ 3 เป็นผู้อาศัยอยู่ในตึกแถวพิพาท โดยจำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นเจ้าบ้านตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.4 และจำเลยที่ 1ก็ประกอบการค้าอยู่ในตึกแถวพิพาทด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และนางราโมก็เบิกความทำนองเดียวกันว่า การที่บริษัททรง จำกัด ได้ดำเนินการปรับปรุงที่ดินบริเวณหลังวังบูรพาทั้งหมดได้ตกลงกับผู้เช่าเดิมว่า ถ้าผู้เช่าเดิมประสงค์จะอยู่ต่อไปจะต้องช่วยค่าก่อสร้างห้องละ 270,000 บาท ถ้าไม่ประสงค์จะอยู่และยินยอมออกไปทางบริษัทจะให้ค่าขนย้ายห้องละ 110,000 บาทหากบุคคลภายนอกประสงค์จะเช่าอยู่ต้องช่วยค่าก่อสร้างให้บริษัท700,000 บาท นางราโมได้ประชุมบุตรทุกคนในเรื่องนี้ โจทก์เสนอว่าควรย้ายออกไปโดยรับเงินจากบริษัททรง จำกัด แต่นางราโมจำเลยที่ 2 ที่ 3 และบุตรทุกคนไม่เห็นด้วยจึงได้รวบรวมเงินค่าขนย้ายจำนวน 110,000 บาท ให้โจทก์และให้โจทก์ทำหนังสือมอบฉันทะให้นางราโม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นพี่สาวและพี่ชายของโจทก์ไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความและสัญญาเช่ากับบริษัททรง จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.4 และ ล.1 เพราะโจทก์เป็นผู้เช่าเดิมจะเสียเงินช่วยค่าก่อสร้างเพียง 270,000 บาทถ้าใช้ชื่อบุตรคนอื่นจะต้องเสียเงินค่าก่อสร้างถึง 700,000 บาทจำเลยที่ 3 ได้ชำระเงินช่วยค่าก่อสร้างจำนวน 270,000 บาท ให้แก่บริษัททรง จำกัด แล้ว ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ล.8 แม้โจทก์จะเบิกความว่าไม่เคยได้รับเงินจำนวน 110,000 บาทก็ตามแต่โจทก์ก็รับว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกเงินช่วยค่าก่อสร้างให้แก่บริษัททรง จำกัด จำนวน 270,000 บาท และโจทก์ก็เคยเบิกความไว้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ ล.107/2517 ซึ่งนายลาลา ปานเคฟ้องนางราโมเป็นบุคคลล้มละลายว่า เมื่อปี 2515 นางราโมได้รับเงินจากจำเลยที่ 3 จำนวน 270,000 บาท มาสร้างตึกแถวพิพาทโดยโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 จะต้องโอนตึกแถวพิพาทให้นางราโมเมื่อสร้างตึกแถวพิพาทเสร็จ นอกจากนี้นางราโมจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายวิกรม สารสุข บุตรชายของนางราโมอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นพยานจำเลยได้เบิกความถึงเหตุที่นางราโมต้องโอนสิทธิการเช่าตึกแถวเลขที่ 147 ให้แก่โจทก์ในปี 2504สอดคล้องต้องกันว่า เพื่อมิให้นายลาลา ปานเด เจ้าหนี้ของนางราโมตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 5122/2503 มายึดสิทธิการเช่าตึกแถวดังกล่าว และการโอนสิทธิการเช่าโดยใช้ชื่อโจทก์ครั้งนี้ก็เพราะโจทก์มีการศึกษาสูงกว่าบุตรคนอื่น ซึ่งขณะนั้นโจทก์กำลังศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากโจทก์ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2 แล้วเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้ชำระค่าเช่าตึกแถวพิพาทในนามของโจทก์มาตลอดตามใบเสร็จชำระค่าเช่าเอกสารหมาย ล.9 ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 จากค่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสามที่นำสืบมามีน้ำหนักมากกว่าพยานโจทก์ พฤติการณ์แสดงให้เห็นได้ว่า โจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทกับบริษัททรงจำกัด ตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2 ดังนั้น โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างสิทธิตามสัญญาเช่าตึกแถวพิพาทตามเอกสารหมาย จ.1, จ.2 มาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสามได้
พิพากษายืน

Share