แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยมอบหมายให้ ว. ดูแลงานด้านการตลาดของบริษัทจำเลย และรู้เห็นในการทำงานของ ว. จึงเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยได้เชิด ว. ออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยหรือรู้แล้วยอมให้ ว. เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยในการจ้างโจทก์ทำงานกับจำเลย การที่ ว. รับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยโดยจ่ายค่าจ้างให้และจำเลยได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์มาโดยตลอดนั้น จึงมีผลผูกพันจำเลยเสมือนว่า ว. เป็นตัวแทนของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 จำเลยจึงเป็นนายจ้างโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โดยเป็นผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้โดยมี ว. กระทำการเป็นตัวแทนของจำเลยดำเนินการแทน ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 หรือมาตรา 5 (3) จำเลยก็เป็นนายจ้างโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายตลาด ได้รับค่าจ้างเดือนละ 2,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ระหว่างเดือนกันยายน 2547 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 จำเลยค้างจ่ายค่าจ้างโจทก์เป็นเงิน 17,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าจ้าง 17,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ โจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยแต่เป็นลูกจ้างของบริษัทโททอล เอ็นจิเนียริ่ง แมนเนจเมนท์ จำกัด ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการเงิน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 16,000 บาท บริษัทดังกล่าวเป็นผู้ส่งเงินสมทบประกันสังคมให้โจทก์ โจทก์ต้องลงเวลาทำงานและต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของบริษัทดังกล่าวด้วย แต่จำเลยและบริษัทโททอล เอ็นจิเนียริ่ง แมนเนจเมนท์ จำกัด มีสถานที่ทำงานใกล้เคียงกัน เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม 2547 จำเลยโดยนายวรวุฒิลูกจ้างจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทำการตลาดให้ศูนย์ทันตกรรม ติดต่อกับศูนย์สุขภาพและประสานงานให้ศูนย์ทันตกรรมและทำหน้าที่ประสานงานกับลูกค้าของจำเลย ซึ่งงานมีกำหนดเวลาว่าจะแล้วเสร็จเมื่อใด และจำเลยตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์เดือนละ 2,000 บาท โดยโอนเงินผ่านธนาคารให้วันสิ้นเดือน โดยโจทก์ก็ยังปฏิบัติหน้าที่ให้บริษัทโททอล เอ็นจิเนียริ่ง แมนเนจเมนท์ จำกัด โจทก์พ้นจากการเป็นพนักงานบริษัทดังกล่าวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 แต่จำเลยมอบหมายงานให้โจทก์ทำและจ่ายค่าตอบแทนให้โจทก์จนถึงเดือนธันวาคม 2547 โดยมีหลักฐานการจ่ายเงิน ตั้งแต่เดือนมกราคม 2548 จำเลยไม่ได้มอบหมายงานให้โจทก์ทำอีก จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายค่าจ้างตามฟ้องให้โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า เดิมโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัทโททอล เอ็นจิเนียริ่ง แมนเนจเมนท์ จำกัด ตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการเงิน ซึ่งมีนายวรวุฒิเป็นผู้จัดการ นายวรวุฒิมีฐานะเป็นคู่หมั้นของนางสาวขวัญฤดีกรรมการบริษัทจำเลย นางสาวขวัญฤดีมอบหมายให้นายวรวุฒิดูแลงานด้านการตลาดของจำเลยและรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ นายวรวุฒิจึงขอให้โจทก์มาช่วยทำงานด้านการตลาดในบริษัทจำเลยด้วยตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 โดยมีค่าตอบแทนจากการช่วยทำงานให้จำเลยเป็นเงินเดือน เดือนละ 2,000 บาท และเงินพิเศษอัตราร้อยละ 2 ต่อครั้งที่มีลูกค้าไปใช้บริการที่บริษัทจำเลย จำเลยจึงเป็นนายจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 (3) โจทก์ทำงานให้จำเลยจนถึงเดือนพฤษภาคม 2548 และจำเลยยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างให้โจทก์เป็นเงิน 15,000 บาท พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างจำนวน 15,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 13 กันยายน 2548) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยประการเดียวว่า จำเลยมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่ได้ว่าจ้างนายวรวุฒิไปดำเนินการโดยวิธีเหมาค่าแรง จำเลยจึงไม่ได้มีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 (3) เห็นว่า การที่จำเลยได้มอบให้นายวรวุฒิช่วยงานด้านการตลาดให้แก่จำเลย แล้วนายวรวุฒิได้จัดทำหนังสือแสดงการเป็นพนักงานเอกสารหมาย จ.1 ยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้ทำงานกับจำเลยในตำแหน่งหัวหน้าส่วนการตลาด โดยระบุอัตราเงินเดือนและเงินตอบแทนพิเศษร้อยละ 2 จากการที่ลูกค้าไปใช้บริการกับจำเลย โดยด้านบนของหนังสือเป็นชื่อบริษัทจำเลย แล้วลงนามนายวรวุฒิเหนือตำแหน่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลและประทับตราชื่อบริษัทจำเลยให้แก่โจทก์ ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมอบหมายให้นายวุฒิดูแลงานด้านการตลาดของบริษัทจำเลยและรู้เห็นในการทำงานของนายวรวุฒิ จึงเป็นพฤติการณ์ที่จำเลยได้เชิดนายวรวุฒิออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยหรือรู้แล้วยอมให้นายวรวุฒิเชิดตัวเขาออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยในการจ้างโจทก์ทำงานกับจำเลย การที่นายวรวุฒิรับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยโดยจ่ายค่าจ้างให้และจำเลยได้รับประโยชน์จากการทำงานของโจทก์มาโดยตลอดนั้น จึงมีผลผูกพันจำเลยเสมือนว่านายวรวุฒิเป็นตัวแทนของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 จำเลยจึงเป็นนายจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 โดยเป็นผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้โดยมีนายวรวุฒิกระทำการเป็นตัวแทนของจำเลยดำเนินการแทน ดังนั้น ไม่ว่าจำเลยจะมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 หรือมาตรา 5 (3) จำเลยเป็นนายจ้างโจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน