แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การแต่งตั้งทนายความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 เป็นการตั้งตัวแทนตาม ป.พ.พ. ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทน เมื่อโจทก์ผู้แต่งตั้งถึงแก่กรรม กรณีจึงต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 828 คือแม้สัญญาตัวแทนจะระงับไป แต่ทนายโจทก์ยังมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของโจทก์ต่อไป จนกว่าทายาทหรือผู้แทนของโจทก์จะเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้น ๆ โดยการเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 42 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ถึงแก่กรรมในขณะที่คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แต่ก็ไม่มีทายาทหรือผู้แทนของโจทก์ขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ จนกระทั่งศาลอุทธรณ์ทำคำพิพากษาและศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้ทนายโจทก์ฟังเมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมเกิน 1 ปีแล้ว จึงถือได้ว่าเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาที่ตัวแทน หรือทนายโจทก์จะจัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของโจทก์แล้ว ทนายโจทก์จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ต่อไป เมื่อทนายโจทก์ยื่นฎีกาคดีนี้ในขณะที่หมดอำนาจแล้ว ฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นสามีชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินที่จำเลยที่ 1 ขายฝากแก่จำเลยที่ 2โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอม
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่าไม่ได้รู้เห็นในการปลอมหนังสือให้ความยินยอม ที่พิพาทเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มีอำนาจทำนิติกรรมต่าง ๆ ได้เอง การขายฝากสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเพิกถอน จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกผู้ทำการโดยสุจริตโดยมีค่าตอบแทนและได้ทำหนังสือจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องลงวันที่31 พฤษภาคม 2533 ต่อศาลชั้นต้นว่าโจทก์ได้ถึงแก่กรรมแล้วเมื่อวันที่ 20 มกราคา 2532 อันเป็นระยะเวลาก่อนที่ทนายโจทก์จะยื่นฎีกาในคดีนี้ ปรากฏตามสำเนาใบมรณบัตรท้ายคำร้อง ฉะนั้นทนายโจทก์จึงไม่มีอำนาจยื่นฎีกา ขอให้จำหน่ายคดี ศาลชั้นต้นได้หมายนัดโจทก์และจำเลยทั้งสองมาสอบถาม ได้รับรายงานผลการส่งหมายว่า ส่งหมายให้โจทก์ไม่ได้ เพราะโจทก์ได้ถึงแก่กรรมแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองส่งหมายได้ พอถึงวันนัดทนายโจทก์และทนายจำเลยที่ 2 มาศาลส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับหมายนัดโดยชอบแล้วไม่มา ศาลสอบถามทนายโจทก์แล้ว ทนายโจทก์แถลงรับว่า โจทก์ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 มกราคม2532 จริง ซึ่งขณะนั้นคดีนี้ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การที่คู่ความแต่งตั้งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 นั้นเป็นการตั้งแต่งตัวแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 15 ว่าด้วยตัวแทนเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏจากคำแถลงรับของทนายโจทก์ และสำเนาใบมรณบัตรท้ายคำร้องของจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2532 กรณีจึงต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 ซึ่งบัญญัติว่าเมื่อสัญญาตัวแทนระงับสิ้นไปเพราะตัวการตาย ตัวแทนต้องจัดการอันสมควรทุกอย่างเพื่อจะปกปักรักษาประโยชน์อันเขามอบหมายแก่ตนไปจนกว่าทายาทหรือผู้แทนของตัวการจะอาจเข้าปกปักรักษาประโยชน์นั้น ๆ ได้ ดังนั้น แม้สัญญาตัวแทนจะระงับไปเมื่อดจทก์ถึงแก่กรรม ทนายโจทก์ก็ยังมีอำนาจและหน้าที่จัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของโจทก์ต่อไปจนกว่าทายาทหรือผู้แทนของโจทก์จะอาจเข้ามาปกปักรักษาผลประโยชน์ของโจทก์ โดยการเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ข้อเท็จจริงฟังได้จากคำแถลงของทนายโจทก์ว่า โจทก์ถึงแก่กรรมตั้งแต่วันที่20 มกราคม 2532 ขณะคดียังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ทายาทหรือผู้จัดการมรดกหรือผู้ปกครองทรัพย์มรดกของโจทก์ผู้มรณะจึงอาจขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์เพื่อปกปักรักษาประโยชน์ในการดำเนินคดีของโจทก์ได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์ถึงแก่กรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 แต่ก็ไม่มีการร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว โดยไม่ปรากฏเหตุผลว่าเป็นเพราะเหตุใด จนกระทั่งศาลอุทธรณ์ได้ทำคำพิพากษา และศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ทนายโจทก์ฟังในวันที่ 1 พฤษภาคม 2533 จึงถือได้ว่าเป็นการล่วงพ้นระยะเวลาที่ตัวแทนหรือทนายโจทก์จะจัดการดำเนินคดีเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 828 แล้ว ทนายโจทก์จึงไม่มีอำนาจดำเนินคดีแทนโจทก์ต่อไป เมื่อปรากฏว่าทนายโจทก์ยื่นฎีกาคดีนี้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2533 อันเป็นระยะเวลาหลังจากที่ทนายโจทก์หมดอำนาจแล้ว ฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์.