คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 207/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อความในหนังสือประกาศประกวดราคาระบุว่าผู้ซื้อไม่ผูกพันที่จะตัดสินเข้าทำสัญญาซื้อขายกับผู้เสนอราคาต่ำสุดการเสนอราคาเพียงบางส่วนของหนึ่งรายการจะไม่ได้รับการพิจารณาการเสนอราคาจะพิจารณาตัดสินจากหลักว่าเป็นไปตามสเปคราคากำหนดการส่งของและความต้องการอื่นๆไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าโจทก์มีสิทธิเลือกซื้อสินค้าเพียงบางรายการข้อความในประกาศดังกล่าวเขียนไว้ชัดเจนจึงไม่มีกรณีที่จะต้องตีความและหากเป็นกรณีที่มีข้อสงสัยก็จะต้องตีความข้อความในประกาศประกวดราคาไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยคู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา11 คำฟ้องของโจทก์โจทก์ยกข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงข้อเดียวว่าจำเลยผิดสัญญาตามประกาศประกวดราคามิได้ยกข้ออ้างตามที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์และจำเลยเคยตกลงทำสัญญาซื้อขายกันตามประกาศประกวดราคาดังกล่าวมาแล้วโดยจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิเลือกซื้อสินค้าจากจำเลยเพียงบางรายการได้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา249วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ประกาศประกวดราคาซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าเครื่องป้องกันระบบจำหน่ายไฟฟ้า 2 รายการมีเงื่อนไขว่า โจทก์ผู้ซื้อสงวนสิทธิที่จะไม่เข้าทำสัญญาซื้อขายกับผู้เสนอราคาต่ำสุดเสมอไป การเสนอราคาเพียงบางส่วนของแต่ละรายการจะไม่ได้รับพิจารณาแต่จะพิจารณาจากสเปค ราคากำหนดส่งของ และการปฏิบัติที่ถูกต้องตามเงื่อนไขประกวดราคาโดยครบถ้วนการยื่นซองประกวดราคาต้องมีการค้ำประกันซองซึ่งต้องนำส่งพร้อมกับการเสนอราคา และในกรณีที่ผู้เสนอราคาไม่สามารถลงนามในสัญญาภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ผู้ซื้อ โจทก์จะริบเงินค้ำประกันซองนั้นทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขเป็นการทดแทนความเสียหายและจะยกเลิกการสั่งซื้อ ต่อมาจำเลยได้ยื่นซองประกวดราคาทั้ง 2 รายการ และค้ำประกันซองการเสนอราคาโดยใช้หนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวาง โจทก์ได้ตกลงซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าตามรายการที่ 1 และโจทก์ได้มีหนังสือแจ้งจำเลยว่าตกลงรับราคาและซื้อตามที่จำเลยเสนอให้จำเลยไปทำสัญญาซื้อขายภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ จำเลยรับหนังสือและตอบตกลงรับการสั่งซื้อดังกล่าว โดยให้โจทก์เปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตให้จำเลยโดยตรง โจทก์แจ้งจำเลยว่าผิดเงื่อนไขการประกวดราคาที่จำเลยได้เสนอไว้ให้จำเลยทราบและเตือนจำเลยให้ไปทำสัญญาภายใน 3 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือจำเลยได้รับทราบแล้วแต่จำเลยไม่ยอมทำสัญญาโจทก์บอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยชำระเงินค้ำประกันซองจำนวน 18,900 บาท แต่จำเลยไม่ชำระและแจ้งธนาคารให้ระงับการจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินมัดจำค้ำประกันซองจำนวน 18,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า ตามสัญญาไม่มีข้อความใดให้สิทธิโจทก์เลือกซื้อของบางรายการจากผู้ชนะการประกวดราคาได้เพราะจะเป็นการขัดต่อวิธีปฏิบัติในทางธุรกิจการค้าโดยทั่วไปที่ผู้เสนอราคาย่อมคำนึงถึงราคาของที่เสนอรวมกันไปจำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิริบเงินค้ำประกันซองของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน21,208.14 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยในเรื่องแปลความหมายแห่งข้อความในหนังสือประกาศประกวดราคาที่ระบุว่าผู้ซื้อไม่ผูกพันที่จะตัดสินเข้าทำสัญญาซื้อขายกับผู้เสนอราคาต่ำสุด การเสนอราคาเพียงบางส่วนของหนึ่งรายการจะไม่ได้รับการพิจารณา การเสนอราคาจะพิจารณาตัดสินจากหลักว่าเป็นไปตามสเปค ราคากำหนดการส่งของและความต้องการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเห็นว่า ข้อความดังกล่าวไม่มีตอนใดระบุว่าโจทก์มีสิทธิเลือกซื้อสินค้าเพียงบางรายการ ที่โจทก์ฎีกาว่าแม้ว่าตามประกาศประกวดราคาจะไม่มีข้อความระบุไว้ แต่เมื่อพิจารณารวมเงื่อนไขประกาศประกวดราคามีความหมายว่าโจทก์สามารถเลือกซื้อเพียงรายการใดรายการหนึ่งได้จึงควรตีความไปตามความประสงค์ในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 3268 เห็นว่าข้อความในประกาศประกวดราคาเขียนไว้ชัดเจน จึงไม่มีกรณีที่จะต้องตีความ และหากเป็นกรณีที่มีข้อสงสัยก็ต้องตีความข้อความในประกาศประกวดราคาไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยคู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 11 ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์และจำเลยเคยตกลงทำสัญญาซื้อขายกันตามประกาศประกวดราคาดังกล่าวมาแล้วโดยจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิเลือกซื้อสินค้าจากจำเลยเพียงบางรายการได้เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ โจทก์ยกข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงข้อเดียวว่าจำเลยผิดสัญญาตามประกาศประกวดราคามิได้ยกข้ออ้างตามที่โจทก์ฎีกาจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share