คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6842/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เช็คพิพาทสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ โจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมาจึงเป็นผู้ถือ ย่อมเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คได้ จำเลยไม่อาจต่อสู้โจทก์ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลตามมาตรา 916 ประกอบด้วยมาตรา 989 ที่จำเลยให้การว่า ผู้มีชื่อ พ. และโจทก์ได้ร่วมกันฉ้อฉลจำเลยโดยผู้มีชื่อได้มอบเช็คให้ พ. โดยทุจริต โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันเพื่อให้ พ. โอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยไม่มีมูลหนี้เช่นเดียวกันนั้น ไม่ปรากฏในคำให้การของจำเลยว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทโดยคบคิดกันฉ้อฉล คำให้การของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทโดยคบคิดกันฉ้อฉลอย่างไร จึงไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยจะยกขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 905 และมาตรา 916 จำเลยเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คให้แก่โจทก์ตาม มาตรา 914 ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จโดยมิได้กำหนดให้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับถึงวันฟ้องรวมไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัดสาขาร้อยเอ็ด จำนวน 9 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 25,000 บาทชำระหนี้นางสาวเพิ่มพร แล้วนางสาวเพิ่มพรนำมาชำระหนี้โจทก์เมื่อเช็คพิพาทแต่ละฉบับถึงกำหนดโจทก์ได้นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายทั้ง 9 ฉบับ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน232,263.70 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 225,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้สั่งจ่ายเช็คพิพาทให้แก่นางสาวเพิ่มพร หากแต่สั่งจ่ายเช็คพิพาทและเช็คฉบับอื่นรวม 20ฉบับ ให้แก่ผู้มีชื่อโดยมีสัญญาต่อกัน แต่ผู้มีชื่อปฏิบัติผิดสัญญามูลหนี้ตามเช็คพิพาทจึงไม่สมบูรณ์ต่อมาผู้มีชื่อกับนางสาวเพิ่มพรและโจทก์ร่วมกันฉ้อฉลจำเลย โดยผู้มีชื่อมอบเช็คพิพาทให้นางสาวเพิ่มพรแล้วนางสาวเพิ่มพรมอบให้โจทก์โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ทรงเช็คพิพาทโดยชอบ ไม่มีอำนาจฟ้องคำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามเช็คฉบับละ25,000 บาท รวม 9 ฉบับเป็นเงิน 225,000 บาท ให้โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินตามเช็คแต่ละฉบับคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เช็คพิพาททั้ง 9 ฉบับสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือโจทก์เป็นผู้รับโอนเช็คพิพาทมาจึงเป็นผู้ถือย่อมเป็นผู้ทรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 มีอำนาจฟ้องให้จำเลยรับผิดตามเช็คได้ จำเลยถูกฟ้องในมูลหนี้ตามตั๋วเงินคือเช็คพิพาทไม่อาจต่อสู้ผู้ทรงคือโจทก์ด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อน เว้นแต่การโอนจะมีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 916 ประกอบด้วย มาตรา 989 ที่จำเลยให้การว่าผู้มีชื่อนางสาวเพิ่มพรและโจทก์ได้ร่วมกันฉ้อฉลจำเลยโดยผู้มีชื่อได้มอบเช็คให้นางสาวเพิ่มพรโดยทุจริต โดยไม่มีมูลหนี้ต่อกันเพื่อให้นางสาวเพิ่มพรโอนเช็คพิพาทให้โจทก์โดยไม่มีมูลหนี้เช่นเดียวกันนั้น ไม่ปรากฏในคำให้การของจำเลยว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทโดยทราบข้อสัญญาดังกล่าวอันจะถือได้ว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทโดยคบคิดกันฉ้อฉล คำให้การของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทโดยคบคิดกันฉ้อฉลอย่างไร จึงไม่เป็นข้อต่อสู้ที่จำเลยจะยกขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 905 และมาตรา 916 ฉะนั้นเมื่อเช็คพิพาททั้ง 9 ฉบับเป็นเช็คที่ออกให้แก่ผู้ถือ โจทก์เป็นผู้ถือจึงเป็นผู้ทรงโดยชอบ โจทก์นำไปเรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาททั้ง 9 ฉบับต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คนั้นให้แก่โจทก์ ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันธนาคารตามเช็คแต่ละฉบับปฏิเสธการจ่ายเงินถึงวันฟ้องเป็นเงินรวม7,263.70 บาท แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยมิได้กำหนดให้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับถึงวันฟ้องรวมไม่เกิน7,263.70 บาท ตามที่โจทก์ขอ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า ดอกเบี้ยนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับถึงวันฟ้องรวมไม่เกิน 7,263.70 บาทตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share