คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6306/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญากู้ยืมเงินเป็นหนี้ที่จำเลยซึ่งเป็นภริยาผู้ร้องก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส และเป็นหนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัว การอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างผู้ร้องและจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (1) แม้ภายหลังจำเลยกับผู้ร้องได้จดทะเบียนหย่าและแบ่งสินสมรสกันก็ไม่กระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะดำเนินการบังคับคดีแก่เงินในบัญชีเงินฝากของผู้ร้อง โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ร้องเพื่อนำมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระเงินกู้ยืม ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 330,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุพรรณบุรี ของผู้ร้องซึ่งเป็นสามีจำเลยจำนวนกึ่งหนึ่ง เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องกับจำเลยได้จดทะเบียนหย่าและแบ่งสินสมรสกันไปแล้ว ซึ่งเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวตกลงแบ่งให้แก่ผู้ร้องแต่ผู้เดียว จึงมิใช่ทรัพย์สินของจำเลย นอกจากนี้หนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิอายัด ขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ที่อายัดคืนแก่ผู้ร้อง
โจทก์ให้การว่า เงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวเป็นสินสมรสของจำเลยกับผู้ร้อง หนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างผู้ร้องกับจำเลย การจดทะเบียนหย่าและการแบ่งสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้ร่วมคิดกันเพื่อฉ้อฉลโจทก์ ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการอายัดเงินในบัญชีเงินฝาก ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุพรรณบุรี บัญชีเลขที่ 324-3-05309-2 ของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติว่าเดิมผู้ร้องกับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2525 มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนางสาววราภรณ์และเด็กชายพรเทพ เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2542 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 200,000 บาท และเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2543 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 130,000 บาท ตามสัญญากู้เอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 จำเลยไม่ได้ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้โจทก์จึงถูกโจทก์ฟ้องคดีนี้ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2544 ผู้ร้องกับจำเลยจดทะเบียนหย่ากันตามสำเนาใบสำคัญการหย่าเอกสารหมาย ร.1 ต่อมาวันที่ 31 ธันวาคม 2544 ผู้ร้องกับจำเลยทำบันทึกแบ่งแยกสินสมรสที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ตามสำเนาภาพถ่ายรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานเอกสารหมาย ร.2 หลังจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามฟ้องให้โจทก์แต่จำเลยไม่ชำระ โจทก์ขอหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสุพรรณบุรี บัญชีเลขที่ 324-3-05309-2 ของผู้ร้องกึ่งหนึ่งเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา เงินฝากในบัญชีดังกล่าวเป็นเงินที่ผู้ร้องกับจำเลยได้มาระหว่างสมรส คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิอายัดเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวมาชำระหนี้ให้โจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า เมื่อปี 2542 และปี 2543 จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์รวมเป็นเงิน 330,000 บาท โดยอ้างว่านำไปเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว เช่น ค่าเล่าเรียนบุตรและค่าเครื่องอุปโภคในครัวเรือน ส่วนผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องไม่เคยทราบเรื่องที่จำเลยกู้เงินโจทก์และไม่ทราบว่าจำเลยนำเงินที่กู้ไปใช้จ่ายเป็นค่าอะไร จำเลยมีนิสัยชอบเล่นการพนัน เงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าว ผู้ร้องกับจำเลยได้ทำบันทึกตกลงแบ่งแยกสินสมรสให้เป็นของผู้ร้อง เห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หลายครั้ง อ้างว่าเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวและค่าเครื่องอุปโภคในครัวเรือน และจำเลยบอกว่าผู้ร้องไม่เคยออกค่าใช้จ่ายในครอบครัว นางสาววราภรณ์ บุตรผู้ร้องกับจำเลยเบิกความเป็นพยานผู้ร้องโดยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ อันเป็นการเจือสมกับทางนำสืบของโจทก์ดังกล่าว ผู้ร้องเบิกความปฏิเสธแต่เพียงว่าไม่เคยทราบเรื่องที่จำเลยกู้เงินโจทก์และไม่ทราบว่าจำเลยนำเงินกู้ไปใช้ทำอะไร ส่วนที่นางสาววราภรณ์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ค่าเล่นการพนันหวยใต้ดิน จึงทำสัญญากู้ให้โจทก์ แต่นางสาววราภรณ์เบิกความตอบทนายโจทก์ในภายหลังว่าเหตุที่พยานเบิกความดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากพยานเคยไปที่สำนักงานจำเลยเห็นจำเลยเล่นหวยใต้ดินกับโจทก์ และพยานไม่ได้รู้เห็นขณะที่จำเลยทำสัญญากู้กับโจทก์ เช่นนี้ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำสัญญากู้ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.2 เพราะเป็นหนี้การพนันอันเป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลย พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักในการรับฟังมากกว่าผู้ร้องจึงรับฟังได้ว่าสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่จำเลยซึ่งเป็นภริยาผู้ร้องก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรส และเป็นหนี้เกี่ยวแก่การจัดการบ้านเรือนและจัดหาสิ่งจำเป็นสำหรับครอบครัวการอุปการะเลี้ยงดูตลอดถึงการรักษาพยาบาลบุคคลในครอบครัวและการศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ ถือได้ว่าเป็นหนี้ร่วมกันระหว่างผู้ร้องและจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (1) แม้ภายหลังจำเลยกับผู้ร้องได้จดทะเบียนหย่าและแบ่งสินสมรสกันก็ไม่กระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะดำเนินการบังคับคดีแก่เงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวได้ โจทก์จึงมีสิทธิอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของผู้ร้องเพื่อนำมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้เพิกถอนการอายัดเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share