คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1691/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างเหมาขุดลอกลำห้วย ให้สิทธิโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวันจากจำเลยผู้รับจ้างในกรณีที่ไม่ส่งมอบงานตามกำหนดเวลาได้ โดยกำหนดส่งมอบงานวันที่ 30 สิงหาคม 2545 แต่จำเลยขอขยายระยะเวลาการส่งมอบงานและโจทก์ได้ยินยอมขยายระยะเวลาให้จำเลยถึงวันที่ 27 กันยายน 2545 มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงวันส่งมอบงานจากกำหนดเดิมเป็นวันที่ 28 กันยายน 2545 แล้ว โจทก์ไม่อาจเอากำหนดวันส่งมอบงานเดิมมาเป็นฐานที่ตั้งแห่งการเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยได้อีกต่อไป เมื่อกำหนดวันที่งานจะต้องแล้วเสร็จได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 28 กันยายน 2545 แต่จำเลยไม่ส่งมอบงานตามกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเบี้ยปรับนับแต่วันที่ 29 กันยายน 2545 เป็นต้นไป
เบี้ยปรับแม้จะได้กำหนดกันไว้ในสัญญา แต่กฎหมายก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามจำนวนนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญารับจ้างเหมาขุดลอกลำห้วยและเรียงหินใหญ่กันตลิ่งพังที่น้ำตกกังสดาลรีสอร์ทกับโจทก์ อัตราค่าจ้าง 400,000 บาท ตกลงชำระค่าจ้างเหมาเป็นงวดรวม 3 งวด ทั้งนี้จำเลยจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2545 โดยกำหนดแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2545 หากกรณีเกิดเหตุสุดวิสัยซึ่งมิใช่ความผิดของจำเลยก็สามารถยืดระยะเวลาออกไปได้ แต่จำเลยจะต้องแจ้งให้โจทก์ทราบถึงเหตุขัดข้องดังกล่าวโดยเร็วที่สุด หากจำเลยไม่ส่งมอบงานตามกำหนดโดยมิใช่ความผิดของโจทก์ จำเลยยินยอมชำระค่าปรับร้อยละ 2.5 ต่อวัน หรือวันละ 10,000 บาท จนกว่าจะส่งมอบงานแล้วเสร็จ หลังจากทำสัญญาแล้วจำเลยได้ทำงานให้โจทก์และรับเงิน 2 งวด รวมเป็นเงิน 240,000 บาท แต่เมื่อครบกำหนดตามสัญญา จำเลยทำงานไม่แล้วเสร็จและขอขยายระยะเวลากับโจทก์จนถึงวันที่ 28 กันยายน 2545 เมื่อครบกำหนดเวลาจำเลยทำงานไม่แล้วเสร็จ โจทก์จึงมอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยชำระค่าเสียหายการกระทำดังกล่าวของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงขอคิดค่าเสียหายโดยให้จำเลยชดใช้ค่าปรับวันละ 10,000 บาท นับแต่วันพ้นกำหนดตามสัญญา จนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเป็นเวลา 38 วัน คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 380,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยให้การว่า หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม โจทก์มิได้เป็นคู่สัญญากับจำเลย นางสาวยุวดีทำนิติกรรมกับจำเลยในฐานะส่วนตัวและวัตถุประสงค์แห่งนิติกรรมในคดีนี้เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ จำเลยมิได้ผิดสัญญาแต่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้จำนวน 380,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยชำระหนี้ให้แก่โจทก์เสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเบี้ยปรับนับแต่วันใด โดยโจทก์ฎีกาว่างานที่ว่าจ้างให้จำเลยทำนั้นมีกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 30 สิงหาคม 2545 เมื่อจำเลยผิดสัญญาเนื่องจากทำงานที่ว่าจ้างไม่เสร็จตามกำหนด โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเบี้ยปรับตามสัญญาได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2545 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2545 อันเป็นวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญารวมเป็นเวลา 38 วัน มิใช่เพียง 10 วัน ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยแล้วนั้น เห็นว่า แม้ตามสัญญาจ้างเหมาขุดลอกลำห้วยและเรียงหินใหญ่กันตลิ่งพังเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 6 ให้สิทธิโจทก์ในฐานะผู้ว่าจ้างเรียกเบี้ยปรับเป็นรายวันจากจำเลยผู้รับจ้างในกรณีที่ไม่ส่งมอบงานตามกำหนดเวลาได้ก็ตาม โดยกำหนดเวลาที่ต้องส่งมอบงานคือวันที่ 30 สิงหาคม 2545 แต่ปรากฏว่าจำเลยมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.9 ขอขยายระยะเวลาการส่งมอบงานและโจทก์ได้ยินยอมขยายระยะเวลาให้จำเลยถึงวันที่ 28 กันยายน 2545 เช่นนี้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงวันส่งมอบงานจากกำหนดเดิมเป็นวันที่ 28 กันยายน 2545 แล้วโจทก์ไม่อาจเอากำหนดวันส่งมอบงานเดิมมาเป็นฐานที่ตั้งแห่งการเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยได้อีกต่อไป อีกทั้งจำเลยเขียนข้อความในเอกสารหมาย จ.9 แต่เพียงว่าหากงานไม่เสร็จยินยอมให้ปรับตามสัญญา มิได้มีข้อความว่ายอมให้ปรับตามกำหนดเดิมแต่อย่างใด เมื่อกำหนดวันที่งานจะต้องแล้วเสร็จได้เปลี่ยนเป็นวันที่ 28 กันยายน 2545 แต่จำเลยไม่ส่งมอบงานตามกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเบี้ยปรับนับแต่วันที่ 29 กันยายน 2545 เป็นต้นไปถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญารวม 10 วัน เท่านั้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจลดเบี้ยปรับที่โจทก์เรียกร้องมาตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้ได้มีการกำหนดค่าปรับกันไว้ในเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 6 โดยให้สิทธิโจทก์ที่จะปรับจำเลยวันละ 10,000 บาท ก็ตาม แต่เงินค่าปรับตามที่คู่กรณีกำหนดไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับเพื่อการที่จะชดใช้บรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า เพื่อให้เป็นความพอใจแก่ฝ่ายที่มิได้ผิดสัญญา ซึ่งต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติไว้ว่า “ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้…” แสดงว่าเบี้ยปรับนั้น แม้จะได้กำหนดกันไว้ในสัญญา แต่กฎหมายก็มิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าจะต้องให้เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ต้องพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้นเมื่อโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์เสียหายเต็มตามจำนวนค่าปรับที่กำหนดไว้ในสัญญาและแม้ว่าในหนังสือเอกสารหมาย จ.9 ระบุข้อความว่าจำเลยยินยอมชำระค่าปรับวันละ 10,000 บาท ตามสัญญาก็ตาม หากเบี้ยปรับดังกล่าวสูงเกินส่วนศาลย่อมใช้ดุลพินิจลดค่าปรับหรือเบี้ยปรับตามสัญญาลงได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาลดค่าปรับจากวันละ 10,000 บาท เป็นวันละ 3,000 บาท เป็นการใช้ดุลพินิจโดยชอบและเหมาะสมแก่ความเสียหายของโจทก์ตามควรแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็นอย่างอื่น ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากจำเลยนับแต่วันที่ครบกำหนดส่งมอบงานเดิม ในอัตราวันละ 10,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินโจทก์ตามฟ้อง คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจำนวน 350,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ดังกล่าวในอัตราร้อยละ 2.5 และค่าขึ้นศาลอนาคตอีก 100 บาท ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (1) (ก) และข้อ (4) คิดเป็นเงิน 8,850 บาท แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 9,600 บาท ซึ่งเกินมา 750 บาท จึงต้องคืนส่วนที่เกินให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน แต่ให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 750 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share