คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2343/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาจะซื้อขายที่ดินตกเป็นโมฆะ ผู้จะขายก็ต้องคืนเงินที่รับไว้แก่ผู้จะซื้อฐานเป็นลาภมิควรได้ โดยผู้จะขายต้องเสียดอกเบี้ยนับแต่เวลาที่ผู้จะซื้อเรียกคืน การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยมากไปกว่าที่จำเลยต้องรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องตามกฎหมายได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บ. ทำสัญญาจะขายที่ดินแปลงหนึ่งแก่โจทก์และรับเงินไปจากโจทก์แล้ว 4 ครั้ง เป็นเงินรวม 130,000 บาท ต่อมาบ. บอกเลิกสัญญา แต่โจทก์ไม่ยินยอม บ. ให้สหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินธัญบุรีจำกัด โอนที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 เมื่อ บ. ตาย โจทก์จึงฟ้องจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ บ. ให้ชำระเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่รับเงินไปจนกว่าจะชำระเสร็จและให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดกำไร 450,000 บาท หรือให้เพิกถอนนิติกรรมที่นายบำรุงเช่าซื้อที่ดินพิพาทจากสหกรณ์ซึ่งได้โอนไปเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 เสีย และให้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งสองแทน
จำเลยให้การต่อสู้หลายประเด็น และในระหว่างพิจารณาคู่ความตกลงสละประเด็นข้อพิพาทอื่น ๆ คงเหลือประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์ชอบที่จะคิดดอกเบี้ยในเงินมัดจำได้ตั้งแต่เมื่อใด และโจทก์ชอบที่จะคิดค่าเสียหายได้หรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่รับเงินแต่ละจำนวนไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
โจกท์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายบำรุงสามีของจำเลยที่ 1 และบิดาของจำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดินธัญบุรี จำกัด สหกรณ์ดังกล่าวให้นายบำรุงครอบครองทีดินพิพาทเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2516 นายบำรุงได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.1 โดยมีการวางมัดจำ 25,000 บาท ตกลงจะโอนกรรมสิทธิ์กันในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2517 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2516 โจทก์ทังสองได้ชำระเงินให้นายบำรุง 75,000 บาท วันที่ 12 กุมภาพันธ์2517 ชำระเงิน 20,000 บาท และวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2522 ชำระเงินอีก 10,000 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระให้นายบำรุงไปแล้วทั้งสิ้น 130,000 บาท สัญญาเอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ต้องห้าาชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 113 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2526 นายบำรุงได้มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์ทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.4 ต่อมานายบำรุงตาย โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องคดีนี้ คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองแต่เพียงว่าจำเลยทั้งสองจะต้องชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ทั้งสองในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระให้นายบำรุงนับตั้งแต่วันที่นายบำรุงได้รับเงินแต่ละจำนวนไว้เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเงินให้โจทก์ทั้งสองเสร็จสิ้นดังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามเอกสารหมาย จ.1 ตกเป็นโมฆะแล้ว เงินที่นายบำรุงได้รับไว้จากโจทก์ทั้งสองที่ชำระเป็นค่าที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายดังกล่าวก็ต้องคืนให้โจทก์ทั้งสองฐานเป็นลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 412 และเมื่อโจทก์ทั้งสองเรียกคืนแล้วนายบำรุงหรือจำเลยทั้งสองไม่ยอมคืน ก็ต้องถือว่านายบำรุงหรือจำเลยทั้งสองตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่โจทก์ทั้งสองเรียกคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 415 ซึ่งแปลได้ว่านายบำรุงหรือจำเลยทั้งสองตกเป็นผู้ผิดนัดจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งสองนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรก และมาตรา 204วรรคแรก ประกอบกับมาตรา 224 วรรคแรก เมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องโจทก์ทั้งสองได้เรียกร้องให้นายบำรุงหรือจำเลยทั้งสองคืนเงินให้จึงต้องถือว่าโจทก์ทั้งสองเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองคืนเงินนับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ดอกเบี้ยของเงินมัดจำ นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง นั้น เห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยมากไปกว่าที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดตามกฎหมาย เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลอุทธรณ์ยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องตามกฎหมายได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share