คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5480/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่บุคคลใดจะเข้าประกวดราคาตามใบแจ้งความประกวดราคาหรือไม่ ย่อมเป็นเรื่องที่บุคคลนั้นจะต้องพิจารณาเองว่าสมควรเข้าประกวดราคาเช่นนั้นหรือไม่ ใบแจ้งความประกวดราคาของโจทก์ระบุว่าโจทก์ไม่จำต้องสนองรับการเสนอราคาใดก็ตามที่ส่งมาโดยไม่จำเป็นต้องแสดงเหตุผลดังนั้นแม้จำเลยที่ 1 มีสิทธิเสนอราคางานเสาเข็มเจาะระบบอื่นนอกเหนือจากระบบตามใบแจ้งความประกวดราคาของโจทก์ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะไม่พิจารณาและไม่สนองรับการเสนอราคาเสาเข็มเจาะระบบอื่นดังกล่าวของจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องให้เหตุผลแก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด การแจ้งความประกวดราคาของโจทก์ดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดไม่ยอมทำสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะตามที่ได้ตกลงในการประกวดราคา จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ ในการประกวดราคาจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ผิดเงื่อนไขในการประกวดราคาโดยไม่ยอมเข้าทำสัญญากับโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาหลักประกันอันเป็นเบี้ยปรับตามเงื่อนไขที่กำหนดในใบแจ้งความประกวดราคา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคสอง ส่วนความเสียหายของโจทก์ที่เกิดจากการที่โจทก์เริ่มงานเสาเข็มเจาะล่าช้าทำให้งานโครงการของโจทก์เสร็จช้าไปก็ดี ความเสียหายที่เกิดจากการที่โจทก์ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ผู้ควบคุมงานรายใหม่เพิ่มขึ้นก็ดีความเสียหายอันเกิดจากความล่าช้าเพราะเกิดอุปสรรคในการสร้างงานเสาเข็มเจาะของผู้รับจ้างรายใหม่ก็ดี การว่าจ้างผู้รับจ้างรายใหม่ทำให้โจทก์ต้องจ่ายเงินค่างวดเร็วขึ้นและทำให้โจทก์ต้องรับภาระในการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารมากขึ้นก็ดี ค่าใช้จ่ายในการเตรียมเอกสารและค่าปรึกษาด้านกฎหมายและเอกสารในการทำสัญญาใหม่ก็ดี ต่างเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะกับโจทก์ทั้งสิ้น แต่ตามใบแจ้งความประกวดราคาได้ความว่าสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเป็นหนังสือตามแบบในการประกวดราคาฉะนั้น แม้จำเลยที่ 1 และโจทก์ได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกันแต่จำเลยที่ 1 ยังมิได้ลงนามในสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะ สัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เกิดขึ้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ อันเกิดจากการผิดสัญญานั้นได้ การต่อรองในเรื่องราคาและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการลดราคาค่าว่าจ้างลง มิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขในการประกวดราคาใหม่ เพราะโจทก์มีสิทธิต่อรองราคาเช่นนั้นตามใบแจ้งความประกวดราคา ข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้แจ้งความประกวดราคางานเสาเข็มเจาะโครงการซิตี้ แลนด์มาร์ค ของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ยื่นใบเสนอราคาเสาเข็มเจาะต่อโจทก์ในนามของบริษัทร่วมค้า งานร่วม ยี.อี.แอล.บาซี โซลีตองซ์จำกัด พร้อมส่งหนังสือรับรองค้ำประกันของจำเลยที่ 5 ค้ำประกันว่าถ้าผู้เสนอราคาปฏิบัติผิดเงื่อนไขการยื่นซองประกวดราคาเป็นเหตุให้โจทก์ปรับผู้เสนอราคาแล้ว ถ้าผู้เสนอราคาไม่สามารถชำระเงินจำเลยที่ 5 จะชำระเงินให้โจทก์ภายในวงเงินไม่เกิน 2,000,000 บาทการที่จำเลยที่ 2 ยื่นใบเสนอราคาดังกล่าวในนามของบริษัทร่วมค้างานร่วมยี.อี.แอล. บาชี โซลีตองซ์ จำกัด โจทก์เข้าใจว่าจำเลยที่ 1และที่ 3 กับบริษัทร่วมค้า งานร่วม ยี.อี.แอล.บาชี โซลีตองซ์จำกัด ร่วมกันเสนอราคาในนามของบริษัทร่วมค้า งานร่วมยี.อี.แอล.บาชี โซลีตองซ์ จำกัด และเนื่องจากตามใบแจ้งความประกวดราคา โจทก์ได้สงวนสิทธิที่จะทำการต่อรองราคากับผู้เสนอราคาให้มีการลดราคาได้ โจทก์จึงติดต่อให้จำเลยที่ 1 คิดราคาใหม่ จำเลยที่ 1 มีหนังสือส่งรายละเอียดโดยคิดราคาใหม่รวมเป็นเงินค่าเจาะและค่าวัสดุ 41,736,557 บาท (ที่ถูกคือ 41,736,537 บาท)โจทก์พอใจในการเสนอราคาครั้งหลังสุดนั้นและมีหนังสือถึงจำเลยที่ 2และที่ 4 ซึ่งเป็นผู้จัดการทางการค้าของจำเลยที่ 3 ยืนยันว่าจะเข้าทำสัญญาตามราคาที่เสนอหลังสุด ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 4 ลงนามตอบตกลงตามข้อสัญญาและเงื่อนไขที่ระบุในหนังสือนั้น การลงนามดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 2 และที่ 4 ในฐานะส่วนตัวและผูกพันจำเลยที่ 1และที่ 3 เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้กระทำการเชิด แสดงออกหรือยอมให้จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 3ต่อมาบริษัทร่วมค้า งานร่วม ยี.อี.แอล. บาชี โซลีตองซ์ จำกัดซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ใช้ชื่อเสนอราคาไม่ยอมลงนามในสัญญาตามที่โจทก์แจ้งไป ทำให้โจทก์ต้องเขาทำสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะกับบริษัทสเตนท์ซีพโก้ จำกัด เพื่อบรรเทาไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิดในค่าเสียหายต่อโจทก์และต้องรับผิดในจำนวนเงินอันเป็นหลักประกันตามใบเสนอราคาอีก 2,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 7,624,143.40 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและให้จำเลยที่ 5 ชำระเงินตามหนังสือรับรองค้ำประกันจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่โจทก์
ระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 3 และที่ 4โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 และที่ 4 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การ โดยจำเลยที่ 1 ฟ้องแย้งด้วยว่าในการเสนอราคาฝ่ายจำเลยเสนอให้ใช้เสาเข็มเจาะแบบเหลี่ยมเป็นส่วนใหญ่แต่โจทก์ปฏิเสธการใช้เสาเข็มแบบเหลี่ยม เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังตกลงเรื่องการใช้เสาเข็มซึ่งเป็นสาระสำคัญไม่ได้ข้อตกลงตามหนังสือระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในการเสนอราคาจึงเลิกไป ไม่ก่อให้เกิดความผูกพันต่อกัน เหตุที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้ทำขึ้นมิใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 กระทำในนามของจำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นค่าเสียหายในอนาคตไม่แน่นอน การที่โจทก์บ่ายเบี่ยงไม่เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงที่ให้จำเลยที่ 1 มีสิทธิใช้เสาเข็มเจาะแบบเหลี่ยมได้ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 3,142,581 บาท (ที่ถูกคือ3,142,531 บาท) ให้แก่จำเลยที่ 1 พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 5 ให้การว่า จำเลยที่ 5 ทำสัญญาค้ำประกันให้ไว้ต่อโจทก์ตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 5 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะบริษัทร่วมค้า งานร่วม ยี.อี.แอล. บาชี โซลีตองซ์ จำกัด มิได้ปฏิบัติผิดเงื่อนไขของการประกวดราคา เมื่อได้ยื่นซองประกวดราคาแล้วโจทก์ตกลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เสนอราคาเปลี่ยนแปลงแก้ไขใหม่ต่างหากจากการประกวดราคาที่เรียกและยอมรับการเสนอแก้ไขรายการใหม่โดยจำเลยที่ 5 มิได้ทราบและไม่ได้ให้ความยินยอม จำเลยที่ 5 จึงหลุดพ้นความรับผิด ทั้งการที่ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3และที่ 4 นั้น ก็เป็นเหตุในลักษณะคดีทำให้จำเลยที่ 5 หลุดพ้นความรับผิดตามไปด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีทรัพย์สินมากพอที่จะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้และการบังคับชำระหนี้นั้นก็ไม่ยาก โจทก์ชอบที่จะบังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อน ขอให้ยกฟ้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ไม่เคยตกลงให้สิทธิจำเลยที่ 1 ใช้เสาเข็มเจาะแบบเหลี่ยม เพราะโจทก์ได้สงวนสิทธิที่จะเลือกพิจารณาระบบเสาเข็มเอง ซึ่งจำเลยที่ 1และที่ 2 ก็ทราบดี โจทก์ไม่เคยหลบเลี่ยงไม่เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายไม่ยอมทำสัญญากับโจทก์ จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ค่าเสียหายในการเตรียมดำเนินงานและประสานงานตามฟ้องแย้งเป็นค่าเสียหายเคลือบคลุมทั้งเป็นค่าเสียหายในพฤติการณ์พิเศษที่โจทก์ไม่ทราบและไม่ได้คาดเห็น เกินสมควรและไม่ถูกต้อง ค่าเสียหายที่จะขาดกำไรเป็นการคาดคะเนเกินความจริงและไม่แน่นอน ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้จำเลยที่ 5 ชำระแทนในเงินจำนวน2,000,000 บาท แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1เสนองานเสาเข็มเจาะแบบเหลี่ยมตามใบเสนอราคาในเอกสารหมาย จ.3ต่อโจทก์ตามสิทธิของจำเลยที่ 1 ในใบแจ้งความประกวดราคาในเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 14 แล้ว โจทก์มีหน้าที่ต้องรับคำเสนอของจำเลยที่ 1ไว้พิจารณา จะบอกปัดไม่รับทันทีโดยไม่มีเหตุผลไม่ได้ หากโจทก์มีสิทธิไม่พิจารณาคำเสนอราคาดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ทันที การแจ้งความประกวดราคาของโจทก์ก็เป็นการฉ้อฉลเอาเปรียบผู้เข้าประกวดราคา เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนใช้บังคับไม่ได้นั้น เห็นว่า การที่บุคคลใดจะเข้าประกวดราคาตามใบแจ้งความประกวดราคาของโจทก์ในเอกสารหมาย จ.3 หรือไม่ย่อมเป็นเรื่องที่บุคคลนั้นจะต้องพิจารณาเองว่าสมควรเข้าประกวดราคาเช่นนั้นหรือไม่ และนอกจากใบแจ้งความประกวดราคาดังกล่าวได้มีข้อความระบุไว้ในข้อ 14 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ใบแจ้งความประกวดราคานั้นยังมีข้อ 13 ระบุว่า “บริษัทสยามสินทรัพย์พัฒนา จำกัด(โจทก์)… ไม่จำต้องสนองรับการเสนอราคาใดก็ตามที่ส่งมา ทั้งนี้โดยไม่จำเป็นต้องแสดงเหตุผลแต่อย่างใด” และมีข้อความระบุไว้โดยชัดแจ้งตั้งแต่ต้นว่า “ผู้เสนอราคาต้องอ่านข้อความข้างล่างนี้ให้เป็นที่เข้าใจแจ่มแจ้ง และไม่ว่ากรณีใดก็ตามผู้เสนอราคาจะยกข้อเรียกร้องหรือข้ออ้างขึ้นโดยอาศัยเหตุผลจากการที่ละเลยไม่อ่านข้อความดังกล่าว หรือการละเลยไม่ปฏิบัติตามข้อความนั้นหรือโดยการอ้างความสำคัญผิดในความหมายของข้อความในใบแจ้งความประกวดราคานี้มิได้” อีกด้วย การแจ้งความประกวดราคาของโจทก์จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 มีสิทธิเสนอราคางานเสาเข็มเจาะระบบอื่นคือเสาเข็มแบบเหลี่ยมและแบบกลมปนกันมาตามใบเสนอราคาฉบับที่ 2 ในเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ก็มีสิทธิที่จะไม่พิจารณาการเสนอราคาเสาเข็มเจาะระบบอื่นดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และมีสิทธิที่จะไม่สนองรับการเสนอราคาเช่นนั้นโดยไม่ต้องให้เหตุผลแก่จำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ตามที่ระบุไว้ในการประกวดราคานั้น
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1ฎีกาว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เสียหาย และมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากกันเพียงใดหรือไม่ ในปัญหานี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดไม่ยอมทำสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะตามที่ได้ตกลงกันในการประกวดราคานั้นแล้ว แม้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายในการประกวดราคาดังกล่าว โจทก์ก็ไม่ต้องรับผิดในความเสียหายนั้นต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายใด ๆ จากโจทก์ได้ จึงไม่ต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้อีกต่อไปส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เสียหายและมีสิทธิได้รับค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ตามฟ้องนั้น เห็นว่า ข้อ 6.1 ของใบแจ้งความประกวดราคาในเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่า “ผู้เสนอราคาจะต้องส่งมอบหลักประกันเป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาท (สองล้านบาท) พร้อมกับใบเสนอราคาเพื่อเป็นประกันว่าถ้าได้มีการสนองรับการเสนอราคาแล้ว ไม่ว่าจะมีการต่อรองตกลงราคาภายหลังการเสนอราคาหรือไม่ก็ตาม ผู้เสนอราคาจะเข้าทำสัญญาจ้างเหมางานเสาเข็มเจาะของซิตี้ แลนด์มาร์คกับบริษัทสยามสินทรัพย์พัฒนา จำกัด (โจทก์)…” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ยื่นใบเสนอราคา ต่อโจทก์แล้วได้มีการต่อรองราคากันระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ในที่สุดโจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันได้ตามเอกสารหมาย จ.22 หลังจากนั้นโจทก์มีหนังสือเอกสารหมาย จ.27 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2526 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ลงนามในสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะภายใน 7 วัน นับแต่วันรับหนังสือนั้น แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมลงนามในสัญญาเช่นนั้น จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขในการประกวดราคาดังกล่าว และกรณีต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคสองซึ่งบัญญัติว่า “นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ใน มาตรา 379 และ 382 ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคา ไม่ยอมเข้าทำสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะกับโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเอาหลักประกันจำนวน 2,000,000บาท อันเป็นเบี้ยปรับตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อ 6.1 ของใบแจ้งความประกวดราคาในเอกสารหมาย จ.3 จากจำเลยที่ 1 ได้ ที่โจทก์ฎีกาว่าเงินจำนวน 2,000,000 บาท ดังกล่าวมิใช่เบี้ยปรับนั้นฟังไม่ขึ้นส่วนความเสียหายของโจทก์ที่เกิดจากการที่โจทก์เริ่มงานเสาเข็มเจาะล่าช้าทำให้งานโครงการซิตี้ แลนด์มาร์ค ของโจทก์เสร็จช้าไปก็ดีความเสียหายที่เกิดจากการที่โจทก์ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่ผู้ควบคุมงานรายใหม่เพิ่มขึ้นก็ดี ความเสียหายอันเกิดจากความล่าช้าเพราะเกิดอุปสรรคในการสร้างงานเสาเข็มเจาะของผู้รับจ้างรายใหม่ก็ดี การว่าจ้างผู้รับจ้างรายใหม่ทำให้โจทก์ต้องจ่ายเงินค่างวดเร็วขึ้นและทำให้โจทก์ต้องรับภาระในการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารมากขึ้นก็ดี ค่าใช้จ่ายในการเตรียมเอกสารและค่าปรึกษาด้านกฎหมายและเอกสารในการทำสัญญาใหม่ก็ดี ต่างเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือจะเกิดขึ้นจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะกับโจทก์ทั้งสิ้นแต่โดยที่ใบแจ้งความประกวดราคาในเอกสารหมาย จ.3ข้อ 6.1 ระบุถึงการทำสัญญาตามข้อตกลงในการประกวดราคาไว้ว่า “…ถ้าได้มีการสนองรับการเสนอราคาแล้ว ไม่ว่าจะมีการต่อรองตกลงราคาภายหลังการเสนอราคาหรือไม่ก็ตาม ผู้เสนอราคาจะเข้าทำสัญญาจ้างเหมางานเสาเข็มเจาะของซิตี้ แลนด์มาร์ค กับบริษัทสยามสินทรัพย์พัฒนาจำกัด (โจทก์) ตามแบบที่ปรากฏในเอกสารในการประกวดราคา”ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 และโจทก์ได้แสดงเจตนาเสนอสนองถูกต้องตรงกันดังกล่าวแล้ว แต่สัญญาจ้างเหมางานเสาเข็มเจาะระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาดังกล่าวเป็นหนังสือตามแบบที่ปรากฏในเอกสารในการประกวดราคาซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มิได้ลงนามในสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะ สัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงยังไม่เกิดขึ้นแม้จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขในการประกวดราคาโดยไม่ยอมลงนามทำสัญญาจ้างงานเสาเข็มเจาะกับโจทก์ก็ตาม โจทก์ก็ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่าง ๆ อันเกิดจากการผิดสัญญานั้นให้แก่โจทก์ได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามที่จำเลยที่ 5 ฎีกาว่าจำเลยที่ 5 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์หรือไม่ ในปัญหานี้ศาลฎีกาได้พิเคราะห์สำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.14 ซึ่งเป็นสำเนาของหนังสือรับรองที่จำเลยที่ 5 ให้ไว้ต่อโจทก์แล้วปรากฏว่า หนังสือดังกล่าวมีข้อความว่าจำเลยที่ 5 ขอทำหนังสือรับรองให้ไว้ต่อโจทก์ว่า ตามที่ฝ่ายจำเลยที่ 1 ได้ยื่นซองประกวดราคาเสาเข็มเจาะโครงการซิตี้แลนด์มาร์ค ต่อโจทก์และได้รับการผ่อนผันมิต้องวางเงินสดเป็นประกันโดยให้ธนาคารเป็นผู้ค้ำประกันแทนนั้นจำเลยที่ 5 ยอมรับเป็นผู้ค้ำประกันฝ่ายจำเลยที่ 1 ภายในวงเงินไม่เกิน 2,000,000 บาท และยอมรับรองว่าถ้าฝ่ายจำเลยที่ 1ปฏิบัติผิดเงื่อนไขการยื่นซองประกวดราคาเป็นเหตุให้โจทก์ปรับฝ่ายจำเลยที่ 1 ภายในวงเงินที่จำเลยที่ 5 ค้ำประกันไว้ และฝ่ายจำเลยที่ 1 ไม่สามารถที่จะชำระเงินค่าปรับนั้นได้แล้ว จำเลยที่ 5 ยอมส่งเงินจำนวนนั้นไปชำระต่อโจทก์จนครบถ้วน ดังนั้นเมื่อคดีฟังได้ดังกล่าวข้างต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดเงื่อนไขในการประกวดราคาและโจทก์มีสิทธิปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 2,000,000 บาท ตามข้อ6.1 ของใบแจ้งความประกวดราคาในเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 5จึงต้องผูกพันรับผิดชำระเงินจำนวน 2,000,000 บาท ต่อโจทก์ตามที่ได้ตกลงไว้นั้น และที่จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า หลังจากที่มีการยื่นซองประกวดราคาแล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขในการประกวดราคาใหม่ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 5ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1 พิพาทกันในข้อที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกันใหม่นั้น จำเลยที่ 5 จึงหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดตามที่ค้ำประกันไว้นั้น เห็นว่า แม้หลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้ยื่นใบเสนอราคาการประกวดราคางานจ้างเหมาเสาเข็มเจาะต่อโจทก์แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันในการประกวดราคานั้นโดยมีการต่อรองในเรื่องราคาและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการลดราคาค่าว่าจ้างลงการต่อรองดังกล่าวก็มิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขในการประกวดราคาใหม่แต่อย่างใด เพราะโจทก์มีสิทธิที่จะต่อรองราคาเช่นนั้นภายหลังการเสนอราคาแล้วตามที่ระบุไว้ใน ข้อ 6.1 ของใบแจ้งความประกวดราคาในเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 5 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยที่ 5 ฎีกาว่า จำเลยที่ 5 ไม่ได้เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ จำเลยที่ 5 ทำหนังสือรับรองบริษัท ร่วมค้า งานร่วมยี.อี.แอล.บาซี โซลีตองซ์ จำกัด โดยสำคัญผิดว่ามีตัวตนไม่ได้รับรองจำเลยที่ 1 แต่บริษัทร่วมค้า งานร่วม ยี.อี.แอล.บาซี โซลีตองซ์ จำกัด ไม่มีตัวตน ไม่เป็นนิติบุคคล จึงไม่มีบุคคลที่จำเลยที่ 5 จะต้องรับผิดแทน หากจำเลยที่ 5 ยอมชดใช้เงินให้โจทก์จำเลยที่ 5 ก็ไม่มีบุคคลที่จำเลยที่ 5 จะเข้ารับช่วงสิทธิและไล่เบี้ยเอาได้ จำเลยที่ 5 จึงไม่ต้องรับผิดต่อ โจทก์นั้น เห็นว่าฎีกาของจำเลยที่ 5 ดังกล่าว เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่งศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายืน

Share