คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3291/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยในศาลชั้นต้น ตัวโจทก์มาศาลและลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความร่วมกับทนายโจทก์ โดยไม่ได้ทักท้วงหรือแถลงให้ทราบว่าการทำสัญญาดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนาของโจทก์ จนศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมให้แล้ว โจทก์จะมากล่าวอ้างภายหลังว่า โจทก์ถูกทนายโจทก์กับจำเลยร่วมกันฉ้อฉลให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรื้อถอนอาคารและรั้วคอนกรีตของจำเลยเฉพาะส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน513.30 บาท กับค่าเสียหายอีกปีละ 300 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะไม่ได้มีการรุกล้ำและโจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย ในวันนัดสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่7 กันยายน 2530 โจทก์ จำเลย และทนายความของทั้งสองฝ่ายมาศาล ได้ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า ข้อ 1 โจทก์ยินยอมจดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินบางส่วนในโฉนดที่ดินเลขที่ 11458ตำบลอินทร์บุรี (ท่างาม) อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เฉพาะบริเวณที่สิ่งปลูกสร้างของจำเลยปลูกรุกล้ำเข้ามาเนื้อที่ 5 2/10ตารางวา ปรากฏตามแผนที่ท้ายหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่จำเลย และจำเลยยินยอมใช้ค่าที่ดินภาระจำยอมให้แก่โจทก์เป็นเงิน 15,000 บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาทถ้วน) โดยจะชำระให้แก่โจทก์ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีในวันจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าว ข้อ 2 โจทก์จำเลยตกลงจะไปจดทะเบียนภาระจำยอม ณสำนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี ภายในวันที่ 18 กันยายน 2530ข้อ 3 ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนภาระจำยอมโจทก์จำเลยจะออกคนละครึ่งและข้อ 4 โจทก์จำเลยไม่เรียกร้องอะไรไปมากกว่านี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมแล้ว โจทก์อุทธรณ์ว่าจำเลยและทนายโจทก์ได้ร่วมกันกระทำการฉ้อฉลในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยให้โจทก์จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินของโจทก์ส่วนที่อาคารและรั้วของจำเลยรุกล้ำเข้ามาให้แก่จำเลย โดยให้จำเลยเสียค่าตอบแทน 15,000 บาท ซึ่งไม่ตรงกับเจตนาของโจทก์เจตนาที่แท้จริงของโจทก์คือต้องการให้จำเลยเช่าหรือซื้อที่ดินส่วนที่พิพาทจากโจทก์ขอให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีใหม่ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความตัวโจทก์ก็มาศาลและลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความร่วมกับทนายโจทก์ด้วย โดยไม่ทักท้วงหรือแถลงให้ศาลทราบว่าไม่ตรงตามเจตนาของโจทก์ จนศาลพิพากษาตามยอมให้ ที่อ้างว่าทนายโจทก์กับจำเลยร่วมกับฉ้อฉลโจทก์ฉ้อฉลอย่างไรก็ตาม โจทก์จะอ้างว่าได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลโดยถูกฝ่ายจำเลยฉ้อฉลหาได้ไม่ อุทธรณ์โจทก์ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การทำสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์จำเลยได้กระทำโดยศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมให้แล้ว ซึ่งโจทก์ก็มาศาลและลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าผู้พิพากษาที่พิจารณาทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้ด้วยก่อนศาลชั้นต้นจะพิพากษาตามยอม ก็ต้องอ่านสัญญาประนีประนอมยอมความให้โจทก์จำเลยฟังแล้ว โจทก์หาได้คัดค้านหรือทักท้วงไม่หากโจทก์ไม่เข้าใจว่าภาระจำยอมหมายความว่าอย่างไร ก็สามารถสอบถามศาลก่อนลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความได้ พฤติการณ์ที่โจทก์มาศาลและลงชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความด้วย จนศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามยอมให้ โจทก์จะมากล่าวอ้างภายหลังว่าโจทก์ถูกทนายโจทก์กับจำเลยร่วมกันฉ้อฉลให้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share