แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับพระภิกษุผู้มรณภาพ จึงเป็นทายาทอันดับ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629
อำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตายนั้น มาตรา 1649 บัญญัติไว้ตามลำดับดังนี้คือ ผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายตั้งไว้ เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งผู้อื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการทำศพ ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้โดยเฉพาะ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพ บุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรม หรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอ
พระภิกษุผู้มรณภาพไม่มีทรัพย์สินเป็นมรดก ไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลอื่นให้จัดการทำศพโดยเฉพาะ ไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่ผู้ใด และไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจแก่วัดที่พระภิกษุจำพรรษาอยู่ขณะมรณภาพมีอำนาจและหน้าที่จัดการศพไว้ ดังนั้น อำนาจและหน้าที่ดังกล่าวจึงตกได้แก่โจทก์ผู้เป็นทายาทโดยธรรมของพระภิกษุผู้มรณภาพ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าพระภิกษุยอดเป็นน้องของโจทก์บิดามารดาเดียวกันพระภิกษุยอดมรณภาพเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2520 ที่โรงพยาบาลนครราชสีมาวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสองได้ลักศพพระภิกษุยอดไปเก็บไว้ที่วัดบ้านเพชร เพื่อแสวงหาประโยชน์ โจทก์ขอให้จำเลยคืนศพเพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจที่วัดบ้านมะระซึ่งเป็นวัดที่พระภิกษุยอดเป็นเจ้าอาวาสอยู่ จำเลยไม่ยอมคืนให้ ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า พระภิกษุยอดจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านเพชรมา 10 ปีเศษก่อนมรณภาพ เมื่อมรณภาพจำเลยกับชาวบ้านได้นำศพไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านเพชร จำเลยไม่ได้ลักศพและไม่ได้มีเจตนาแสวงหาประโยชน์จากศพแต่อย่างใด จำเลยได้มอบให้เจ้าคณะอำเภอเป็นผู้จัดการเรื่องศพ จึงไม่มีอำนาจคืนศพให้โจทก์
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์ได้ 5 ปากแล้วมีคำสั่งว่าคดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิจัดการศพของพระภิกษุยอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1649 และไม่มีอำนาจบังคับให้ จำเลยส่งศพคืน ให้ยกฟ้องของโจทก์เสีย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า พระภิกษุยอดบรรพชาเป็นสามเณรแล้วอุปสมบทเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านมะระตลอดมาจนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ในระหว่างเข้าพรรษาพระภิกษุยอดจำพรรษาที่วัดบ้านมะระแต่เมื่อออกพรรษาจะจาริกไปอยู่ที่วัดอื่นเพราะเป็นพระวิปัสสนาต้องการความสงบ พระภิกษุยอดมรณภาพเมื่ออายุได้ 65 ปี ด้วยโรคความดันโลหิตสูงและสมองพิการเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2520 ที่โรงพยาบาลนครราชสีมาวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสองนำศพพระภิกษุยอดไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านเพชรโจทก์ขอศพไปบำเพ็ญกุศลและฌาปนกิจที่วัดบ้านมะระ จำเลยไม่ยอม โจทก์เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับพระภิกษุยอด จึงเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ 3ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 และวินิจฉัยว่าสำหรับอำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพผู้ตายนั้น มาตรา 1649 บัญญัติไว้ตามลำดับดังนี้คือ ผู้จัดการมรดกที่ผู้ตายตั้งไว้เว้นแต่ผู้ตายจะได้ตั้งบุคคลอื่นไว้โดยเฉพาะให้จัดการทำศพ ถ้าผู้ตายมิได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลใดไว้โดยเฉพาะ หรือทายาทมิได้มอบหมายตั้งให้บุคคลใดเป็นผู้จัดการทำศพบุคคลผู้ได้รับทรัพย์มรดกโดยพินัยกรรม หรือโดยสิทธิโดยธรรมเป็นจำนวนมากที่สุดเป็นผู้มีอำนาจและตกอยู่ในหน้าที่ต้องจัดการทำศพ เว้นแต่ศาลจะเห็นเป็นการสมควรตั้งบุคคลอื่นให้จัดการเช่นนั้น ในเมื่อบุคคลผู้มีส่วนได้เสียคนใดคนหนึ่งร้องขอขึ้น ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าพระภิกษุยอดไม่มีทรัพย์สินเป็นมรดก ไม่ได้ตั้งผู้จัดการมรดกหรือบุคคลอื่นให้จัดการทำศพโดยเฉพาะ และไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด อำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพจึงตกได้แก่โจทก์ผู้เป็นทายาทโดยธรรมของพระภิกษุยอด ตามที่จำเลยให้การสู้คดีว่าพระภิกษุยอดมรณภาพขณะเป็นพระภิกษุจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านเพชร วัดบ้านเพชรจึงมีอำนาจและหน้าที่จัดการศพพระภิกษุยอดนั้น เห็นว่าไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้อำนาจแก่วัดไว้เช่นนั้น และคดีไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองมอบศพพระภิกษุยอดให้แก่โจทก์