คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1359/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นหัวหน้าคนงานได้บอกให้คนงานเก็บเครื่องมือและหยุดงานประท้วงจำเลยเพราะไม่พอใจที่จำเลยไล่ลูกจ้างบางคนออกจากงาน เมื่อการนัดหยุดงานดังกล่าวยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยจึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 การกระทำของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้าง ได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ข้อ 47(2) จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เมื่อเลิกจ้าง
จำเลยอ้างว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเพราะโจทก์ลักเอาใบลาและบัตรลงเวลาของโจทก์ไป แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในภายหลังหาใช่เกิดขึ้นเนื่องจากโจทก์เอาใบลาและบัตรลงเวลาคืนไป จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของโจทก์เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสี่เข้าทำงานเป็นลูกจ้างประจำของจำเลยเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๔ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่ โดยโจทก์ทั้งสี่มิได้กระทำผิดและจำเลยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าทั้งไม่จ่ายค่าชดเชยให้ ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างกรณีเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ๔,๕๖๐ บาท ค่าชดเชย ๔๓,๒๐๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๑ จ่ายสินจ้างกรณีเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า๒,๔๙๘.๕๐ บาท ค่าชดเชย ๒๓,๖๗๐ บาทแก่โจทก์ที่ ๒ จ่ายสินจ้างกรณีเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ๑,๐๙๒.๕๐ บาท ค่าชดเชย ๑๐,๓๕๐ บาท แก่โจทก์ที่ ๓และจ่ายสินจ้างกรณีเลิกจ้างโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ๑,๐๙๒.๕๐ บาท ค่าชดเชย ๑๐,๓๕๐ บาทแก่โจทก์ที่ ๔
จำเลยให้การว่า เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๔ เวลา ๙.๐๐ นาฬิกาโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ซึ่งเป็นหัวหน้าคนงานของบริษัทจำเลยได้ยุยงข่มขู่คนงานของจำเลยจำนวน ๕๔ คนให้ร่วมกันหยุดงาน โดยไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๑๓, ๓๔ ซึ่งห้ามมิให้ลูกจ้างนัดหยุดงานโดยมิได้แจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้นายจ้างทราบ การกระทำของโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ เป็นการบีบบังคับให้บริษัทจำเลยยกเลิกคำสั่งเลิกจ้างนายประเสริฐ ชูรัตน์และนายวิชาญ บัวขาว ซึ่งจำเลยเลิกจ้างเนื่องจากบุคคลทั้งสองลักหัวแก็สสำหรับตัดเหล็กของจำเลย ส่วนโจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ ได้กระทำผิดอาญาโดยลักเอาเอกสารใบลาออกและบัตรลงเวลาทำงานของคนงานซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยจำนวน ๓๘ ฉบับ ไปจากความครอบครองของจำเลย การกระทำของโจทก์ที่ ๑กับพวกเป็นจงใจทำให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างเกิดความเสียหายและพร้อมกันนั้นโจทก์ที่ ๑ กับพวกให้ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา ๓ วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุผลอันควร ตั้งแต่วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๒๔ เวลา ๙.๐๐ นาฬิกา จนวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๒๔ จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ ๑ กับพวก เนื่องจากโจทก์ที่ ๑กับพวกกระทำผิดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ ๔๗(๑) (๒) (๓) (๔) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ บอกให้คนงานเก็บเครื่องมือและหยุดงานประท้วงมิใช่เป็นการจงใจกระทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลย โจทก์ทั้งสี่หยุดงานประท้วงอันเป็นการละทิ้งหน้าที่เพียงวันเดียวและโจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ มิได้ลักใบลาและบัตร ๑ ปึก เพียงแต่เอาใบลาและบัตรของโจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ เองไปไม่มีเจตนาลักทรัพย์ จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ การละทิ้งหน้าที่๑ วันจำเลยเลิกจ้าง โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้าได้แต่ไม่เข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ที่ ๑ ๔๓,๒๐๐ บาท โจทก์ที่ ๒๒๓,๖๗๐ บาท โจทก์ที่ ๓ ๑๐,๓๕๐ บาท โจทก์ที่ ๔ ๑๐,๓๕๐ บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ บอกให้คนงานเก็บเครื่องมือและหยุดงานประท้วงก็เพื่อให้จำเลยได้รับความเสียหายจากการนัดหยุดงานของคนงาน จนต้องยอมตามความประสงค์ของคนงาน เมื่อการนัดหยุดงานดังกล่าวยังไม่มีการแจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลย จึงเป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๘ การกระทำของโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ จึงเป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๔๗(๒) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ในกรณีนี้จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่โจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ เอาใบลาออกและบัตรลงเวลาของตนไปก็โดยประสงค์จะให้หลักฐานแห่งการลาออกของโจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ ไม่อยู่ที่จำเลย เป็นการทำลายหลักฐานซึ่งโจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ จะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ถือได้ว่าการเอาใบลาและบัตรลงเวลาไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการเอาไปโดยเจตนาทุจริตและเป็นความผิดฐานลักทรัพย์เห็นว่าสิทธิของโจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ ที่จะได้รับค่าชดเชยเกิดจากถูกจำเลยเลิกจ้างในภายหลังหาใช่เกิดขึ้นเนื่องจากโจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ เอาใบลาออกคืนไปไม่ การที่โจทก์ที่ ๓ ที่ ๔ เอาใบลาออกและบัตรลงเวลาไปเสียจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายดังจำเลยอ้าง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share