แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีคณะกรรมการดำเนินการ 15 คน โดยมี ช. เป็นประธานกรรมการ ตามข้อบังคับของโจทก์ระบุอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการในเรื่องอำนาจฟ้องคดีเป็นอำนาจของคณะกรรมการดำเนินการโดยเฉพาะ เว้นแต่จะได้มอบหมายให้กรรมการหรือผู้จัดการทำแทนตาม มาตรา 24 แห่ง พระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2511 แต่ในการฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการได้มอบหมายให้ ช. ประธานกรรมการและ ก. ผู้จัดการของโจทก์ดำเนินการฟ้องคดีแทนโจทก์ แม้ ช. เป็นกรรมการผู้หนึ่งของโจทก์ แต่ลำพังเพียง ช. คนเดียวมิใช่เสียงข้างมากของคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ ตามความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 เดิมจึงไม่อาจดำเนินกิจการของโจทก์ได้ ดังนั้น การที่ ช. และก.ลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ในใบแต่งทนายความ จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์บริการได้มอบอำนาจให้นายชำนาญ อิงศรีสว่าง ประธานกรรมการและนางสาวกรองจิตต์ การะเกต ผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้มีคำสั่งให้นายจรัล แย้มอุทัยและนายประเสริฐรัตนตั้งตระกูล ออกจากการเป็นสมาชิกของโจทก์ เพราะบุคคลทั้งสองไม่ปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ คำสั่งและข้อบังคับของโจทก์ จำเลยที่ 2เป็นรองนายทะเบียนสหกรณ์ ปฏิบัติราชการแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายทะเบียนสหกรณ์ ได้มีหนังสือให้โจทก์ทบทวนมติการปลดบุคคลทั้งสอง คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ยืนยันตามมติเดิม และได้รายงานให้จำเลยที่ 2 ทราบแล้วต่อมาจำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้โจทก์รับบุคคลทั้งสองกลับเข้าเป็นสมาชิก เป็นการสั่งเกินอำนาจ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาเพิกถอนคำสั่งของจำเลยทั้งสอง หรือสั่งไม่ให้คำสั่งดังกล่าวมีผลผูกพันโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า นายชำนาญ อิงศรีสว่าง และนางสาวกรองจิตต์ การะเกต ไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ เพราะการฟ้องคดีเกี่ยวกับกิจการของโจทก์เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการ ตามข้อบังคับโจทก์ ข้อ 57(21) จำเลยทั้งสองกระทำการตามหน้าที่ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัวและการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมายไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าคำสั่งที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2ปฏิบัติราชการแทนในนามนายทะเบียนสหกรณ์ ที่ กษ.1114/11031ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2530 เป็นคำสั่งที่ชอบตามพระราชบัญญัติสหกรณ์พ.ศ. 2511 มาตรา 47 ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยประการแรกว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยนายชำนาญอิงศรีสว่าง ประธานกรรมการ และนางสาวกรองจิตต์ การะเกตผู้จัดการของโจทก์เป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ในใบแต่งทนายความทำการแทนโจทก์ โจทก์มีคณะกรรมการดำเนินการ15 คน โดยมีนายชำนาญ อิงศรีสว่าง เป็นประธานกรรมการตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 6 ตามข้อบังคับของโจทก์เอกสารหมายจ.2 ระบุอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการในข้อ 57 ว่าคณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการทั้งปวงของสหกรณ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสหกรณ์ และตามมติแห่งที่ประชุมใหญ่ กับทั้งในทางอันจะทำให้เกิดความเจริญแก่สหกรณ์ทุกประการ ซึ่งรวมทั้งในข้อต่อไปนี้ (21) ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์ หรือประนีประนอมยอมความ หรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา และพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มาตรา 24 บัญญัติว่าให้มีคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์จำกัดคณะหนึ่ง ประกอบด้วยกรรมการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกเป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์จำกัด ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกเพื่อการนี้คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนได้ เห็นได้ว่าอำนาจในการฟ้องคดีเป็นอำนาจของคณะกรรมการดำเนินการโดยเฉพาะตามข้อบังคับโจทก์ข้อ 57(21)ดังกล่าวมาแล้ว เว้นแต่จะได้มอบหมายให้กรรมการหรือผู้จัดการทำการแทนตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511แต่ในการฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการได้มอบหมายให้นายชำนาญประธานกรรมการ และนางสาวกรองจิตต์ ผู้จัดการของโจทก์ดำเนินการฟ้องร้องคดีนี้แทนโจทก์ แม้นายชำนาญในฐานะประธานกรรมการจะเป็นกรรมการผู้หนึ่งของโจทก์ แต่ลำพังเพียงนายชำนาญคนเดียวก็มิใช่เสียงข้างมากของคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ จึงไม่อาจดำเนินกิจการของโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้ เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 เดิม (มาตรา 71 ใหม่)บัญญัติไว้ว่า “ถ้ามีผู้จัดการหลายคน และมิได้มีข้อกำหนดไว้เป็นประการอื่นในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งก็ดี มิได้บัญญัติไว้เป็นประการอื่นโดยกฎหมายก็ดี การจะทำความตกลงต่าง ๆ ในทางอำนวยกิจการของนิติบุคคลนั้น ท่านให้เป็นไปตามเสียงข้างมากในหมู่ผู้จัดการทั้งหลายด้วยกัน” ดังนั้น การที่นายชำนาญและนางสาวกรองจิตต์ทำการแทนโจทก์ในการฟ้องร้องคดีนี้ จึงกระทำไปโดยไม่มีอำนาจ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่โจทก์อ้างว่าการลงลายมือชื่อแทนโจทก์แยกได้เป็น 2 กรณี คือ (1) ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการ หรือเลขานุการคนใดคนหนึ่งกับผู้จัดการหรือรองผู้จัดการ หรือผู้ช่วยผู้จัดการ หรือสมุห์บัญชีรวม 2 คนลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ และ (2) ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการหรือผู้จัดการ หรือรองผู้จัดการ หรือผู้ช่วยผู้จัดการหรือสมุห์บัญชีคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ ก็ทำการแทนโจทก์ได้นั้น เห็นว่า ตามข้อบังคับของโจทก์ข้อ 71(1) ที่กำหนดให้ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการหรือเลขานุการคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อร่วมกับผู้จัดการหรือรองผู้จัดการ หรือผู้ช่วยผู้จัดการ หรือสมุห์บัญชีและประทับตราของโจทก์ เพื่อให้มีผลผูกพันโจทก์นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับใบหุ้นหนังสือกู้ยืมซึ่งโจทก์เป็นผู้กู้ยืม ตลอดจนการเบิกเงิน หรือรับเงินกู้ การจำนอง การถอนเงินฝากของโจทก์ นิติกรรมและเอกสารทั้งปวงสำหรับ (2) ที่กำหนดให้ประธานกรรมการ หรือรองประธานกรรมการหรือผู้จัดการ หรือรองผู้จัดการ หรือผู้ช่วยผู้จัดการ หรือสมุห์บัญชีคนใดคนหนึ่ง มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันโจทก์ได้เฉพาะเกี่ยวกับการรับเงินซึ่งส่งถึงโจทก์โดยทางธนาณัติ หรือทางอื่น ๆใบรับเงินต่าง ๆ และการรับเงินฝาก นอกจากที่กล่าวไว้ใน (1)เช่นนี้ จึงไม่ใช่ข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการฟ้องคดี ดังนั้น การที่นายชำนาญประธานกรรมการและนางสาวกรองจิตต์ผู้จัดการของโจทก์ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์โดยลงลายมือชื่อและประทับตราของโจทก์ในใบแต่งทนายความ จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้
พิพากษายืน