คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 785/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปตามที่โจทก์และจำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันแล้ว จำเลยจะมาขอให้พิจารณาใหม่โดยอ้างว่าจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และถูกฉ้อฉลหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่เรื่องจำเลยแพ้คดีเพราะขาดนัดพิจารณา

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินต้นพร้อมด้วยดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1ร่วมกับจำเลยที่ 2 กู้ไปจากโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอ้างว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และถูกโจทก์ฉ้อฉล ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เมื่อศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามที่โจทก์จำเลยได้ตกลงประนีประนอมยอมความกันแล้ว คำพิพากษาตามยอมนั้นย่อมผูกพันโจทก์จำเลยอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 หากจำเลยไม่พอใจคำพิพากษาเช่นว่านั้นก็อาจอุทธรณ์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138, 223 ซึ่งก็ปรากฏว่าคดีนี้ได้ถึงที่สุดแล้วโดยไม่มีการอุทธรณ์ การที่จำเลยจะขอให้มีการพิจารณาใหม่ได้นั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 207 บัญญัติว่า ต้องเป็นเรื่องแพ้คดีเพราะขาดนัดพิจารณาคดีนี้จำเลยที่ 1 ขอพิจารณาใหม่โดยอ้างว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และถูกโจทก์ฉ้อฉลซึ่งไม่ใช่เรื่องจำเลยแพ้คดีเพราะขาดนัดพิจารณา จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอพิจารณาใหม่ตามมาตรา 207 ดังกล่าวได้ ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share