แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาจะซื้อที่ดินและวางเงินมัดจำไว้จำนวนหนึ่ง ต่อมาจำเลยไม่สามารถชำระราคา เกรงจะถูกริบเงินมัดจำ จึงให้ผู้ร้องชำระราคาที่เหลือให้ผู้ร้องครอบครองและรับโอนมา โดยผู้ร้องกับจำเลยตกลงกันว่าผู้ร้องจะต้องขายที่ดินนี้ให้แก่จำเลยภายใน 1 ปี และให้ถือว่าเงินที่จำเลยวางมัดจำไว้เป็นเงินมัดจำที่จำเลยวางกับผู้ร้อง ดังนี้เป็นการแสดงเจตนาร่วมกันให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิของเจ้าของที่ดินนั่นเอง ปรับได้กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 ข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าผู้ร้องมิได้รับเงินมัดจำเป็นตัวเงินนั้น หาได้ลบล้างการแสดง เจตนาของคู่กรณีหรือทำให้ผลในกฎหมายของกรณีนี้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใดไม่ เงินนี้จึงเป็นเงินมัดจำ
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้มีอยู่ต่อบุคคลใดตามความในมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายฯนั้น มีความหมายว่า ในฐานะที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับมา มิใช่หมายถึงว่าจะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นเช่นผู้ร้องจะพึงได้รับไป ฉะนั้น ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาระหว่างผู้ร้องกับจำเลยดังกล่าว จึงมิได้ทำให้สิทธิของผู้ร้องตามข้อสัญญาในการที่จะริบเงินมัดจำต้องสูยเสีบไปแต่ประการใด
ย่อยาว
คดีนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้ผู้ร้องนำเงิน 372,102.25 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยไปชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยอ้างว่าเป็นเงินที่ผู้ร้องเป็นหนี้จำเลยผู้ล้มละลายอยู่ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้ตามขอ ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ไต่สวนเรื่องผู้ร้องยังมิได้ทราบหนังสือทวงหนี้ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่ให้ถือว่าผู้ร้องเป็นลูกหนี้กองทรัพย์สินของผู้ล้มละลายโดยเด็ดขาด ให้เพิกถอนคำบังคับและให้ผู้ร้องปฏิเสธหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 14 วัน ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องปฏิเสธหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือยืนยันหนี้ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า ก่อนผู้ล้มละลายถูกฟ้องคดีล้มละลายนี้ ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อที่ดินของผู้ร้องรวม 2 ฉบับ ฉบับแรกหมาย ร.1 ผู้ล้มละลายชำระเงินแล้ว 329,341 บาท ฉบับที่สองหมาย ร.2ชำระแล้ว 42,761.25 บาท เป็นส่วนหนึ่งของค่าที่ดิน มีข้อตกลงในสัญญาทั้งสองฉบับว่า ผู้ล้มละลายยอมให้ผู้ร้องถือว่าเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวเป็นเงินมัดจำสัญญาด้วย ส่วนที่ค้างชำระจะชำระให้ผู้ร้องภายใน 1 ปี หากผู้ล้มละลายผิดสัญญายอมให้ผู้ร้องริบเงินมัดจำ ถ้าผู้ร้องผิดสัญญายอมเสียค่าปรับให้ผู้ล้มละลาย ต่อมาพ้นกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องในฐานะลูกหนี้ของผู้ล้มละลายนำเงินค่าที่ดินที่ผู้ร้องได้รับชำระไว้ส่วนหนึ่งแล้วตามสัญญาทั้งสองฉบับรวม 372,102.25 บาท ไปชำระต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเงินจำนวนนี้ผู้ร้องมีสิทธิริบได้ตามสัญญา ขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งยกเลิกการเรียกร้องของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสีย เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แถลงคัดค้านว่า เงินมัดจำที่ลงไว้ในสัญญาจะซื้อขายจำนวน 372,102.25 บาทนั้น ก็คือเงินที่ผู้ล้มละลายจ่ายเป็นค่าที่ดินให้แก่เจ้าของที่ดินเดิมนั่นเอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิริบ เพราะไม่ใช่เงินมัดจำ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ได้แจ้งให้ผู้ร้องทราบแล้วว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายทั้งสองฉบับดังกล่าว ขอให้ผู้ร้องส่งเงินค่าที่ดินที่ได้รับไว้จากจำเลยคืนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 30 วันพร้อมทั้งดอกเบี้ย ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องชำระเงิน 372,102.25 บาทให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พร้อมด้วยดอกเบี้ย
ผู้ร้องอุทธรณ์ขอให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้น หรือหากเห็นว่าประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ที่บอกปฏิเสธไม่ยอมรับสิทธิของจำเลยตามเอกสารหมาย ร.2 ยังไม่ถูกยกเลิก โดยคำสั่งศาลชั้นต้น ก็ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ผู้ร้องใช้เงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียง42,761.25 บาท
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ตามสัญญาฉบับแรก (ร.1) เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ประกาศหนังสือพิมพ์ปฏิเสธไม่ยอมรับสิทธิเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปีตามสัญญาแล้ว การปฏิเสธจึงไม่มีผล จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ร้องมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ ส่วนสัญญาฉบับหลัง (ร.2)เป็นการปฏิเสธก่อนสิ้นกำหนดเวลา 1 ปีตามสัญญา จึงถือว่าจำเลยผิดนัดมิได้ ผู้ร้องไม่มีสิทธิริบเงินมัดจำ พิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องคืนเงินแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพียง 42,761.25 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฝ่ายเดียวฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อที่ดินจากผู้ร้อง 2 ฉบับ ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2509 และวันที่ 26 สิงหาคม2509 ตามเอกสารหมาย ร.1, ร.2 ใจความฉบับแรกมีว่า จำเลยได้วางเงินมัดจำไว้ 329,341 บาท ในสัญญาฉบับหลังวางไว้ 42,761.25บาท โดยจะต้องชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือภายใน 1 ปีนับแต่วันทำสัญญาแต่ละฉบับ มิฉะนั้นถือว่าผิดสัญญา ให้ผู้ร้องมีสิทธิริบเงินมัดจำได้ ต่อมาจำเลยถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเห็นว่า การซื้อขายที่ดินรายนี้มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ จึงไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาและให้ผู้ร้องคืนเงินมัดจำตามหนังสือลงวันที่ 29 มิถุนายน 2510 แต่หนังสือดังกล่าวส่งให้แก่ผู้ร้องไม่ได้ จึงได้ประกาศทางหนังสือพิมพ์รายวันตั้งแต่วันที่ 7 ถึง 13 สิงหาคม 2510
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาว่า เงิน 329,341บาทตามสัญญาเอกสาร ร.1 เป็นเงินที่นายสุนทร โกไศยกานนท์ จำเลยชำระให้แก่ชาวนาเจ้าของที่ดินเดิมไป เจตนาแท้จริงของคู่สัญญาในเอกสาร ร.1 มิใช่เจตนาจะให้เป็นเงินมัดจำ เงินนี้จึงไม่ใช่เงินมัดจำ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิริบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เงิน 329,341 บาทตามเอกสาร ร.1นี้ แม้ตามสำนวนจะฟังได้ว่าเป็นเงินที่จำเลยได้จ่ายให้แก่นายแลเจ้าของที่ดินแต่เดิมไปแล้วก่อนที่ผู้ร้องจะเข้าทำสัญญากับจำเลยก็ตาม ก็ปรากฏหลักฐานตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1706 และ 1829 ว่า ในวันที่ 21 กรกฎาคม2509 ซึ่งเป็นวันทำสัญญาเอกสาร ร.1 นั้น ได้มีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจากนายแลเจ้าของเดิมมาเป็นของผู้ร้อง ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ได้เข้าทำสัญญาจะซื้อขายเอกสาร ร.1 กับจำเลยโดยไม่ปรากฏเลยว่าผู้ร้องไม่สุจริตอย่างไร เพราะจำเลยเพิ่งมาถูกฟ้องเป็นคดีล้มละลายภายหลังใน พ.ศ. 2510 และถูกศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2510 ผู้ร้องและจำเลยได้แสดงเจตนาร่วมกันไว้ในสัญญาด้วยการกำหนดเงินมัดจำไว้เท่ากับจำนวนที่จำเลยจ่ายให้แก่เจ้าของเดิมไป การที่ผู้ร้องกับจำเลยได้แสดงเจตนาต่อกันไว้เกี่ยวกับเงินที่ในสัญญาเอกสารหมาย ร.1 ถือว่าเป็นมัดจำนี้ เป็นการแสดงเจตนาร่วมกันให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิของนายแลนางถนอมเจ้าของเดิมนั่นเอง และเป็นการแสดงเจตนาโดยสุจริตด้วย ข้อเท็จจริงจึงปรับได้กับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 กล่าวคือเมื่อผู้ร้องกับจำเลยทำสัญญาตามเอกสาร ร.1 กันนั้นจำเลยได้ให้มัดจำไว้กับผู้ร้อง ข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่าผู้ร้องมิได้รับเงินมัดจำเป็นตัวเงินนั้นหาได้ลบล้างการแสดงเจตนาของคู่กรณีหรือทำให้ผลในกฎหมายของกรณีนี้เปลี่ยนแปลงไปแต่ประการใดไม่ ฉะนั้น เงิน 329,341 บาทนี้จึงเป็นเงินมัดจำตามสัญญา
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้มีอยู่ต่อบุคคลใด ตามความในมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 นั้น มีความหมายว่าในฐานะที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับมา มิใช่หมายถึงว่าจะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นเช่นผู้ร้องจะพึงได้รับไป ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์2510 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2510ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายเอกสาร ร.1 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม2509 และได้ประกาศคำสั่งนี้เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2510 การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาดังกล่าว เห็นว่ามิได้ทำให้สิทธิของผู้ร้องตามข้อสัญญาในการที่ผู้ร้องจะริบมัดจำสูญสิ้นไปแต่ประการใดเพราะการที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดก็ดี หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาก็ดี เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังวันทำสัญญาและเป็นพฤติการณ์ที่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จะขายไม่ต้องรับผิดชอบ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 122 วรรคสองนั้น แม้แต่ความเสียหายที่คู่สัญญาของลูกหนี้ได้รับโดยเหตุที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญา คู่สัญญานั้น ก็ยังมีสิทธิขอรับชำระหนี้สำหรับค่าเสียหายได้ กรณีนี้เป็นเงินมัดจำที่ถือได้ว่าผู้ร้องได้รับไว้แล้วจากจำเลย ผู้ร้องมีสิทธิริบเงินมัดจำนี้ได้ตามสัญญา จึงยิ่งไม่มีเหตุผลที่จะให้ผู้ร้องคืนให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลย หากจะบังคับให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 329,341 บาท ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกร้อง การณ์ก็จะกลับกลายเป็นว่า แม้ผู้ร้องจะมีสิทธิริบเงินมัดจำจากจำเลยตามสัญญาเอกสาร ร.1 แล้ว ผู้ร้องก็ยังจะต้องคืนเงินมัดจำนั้นให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลยไป ซึ่งหาชอบด้วยกฎหมายและความยุติธรรมไม่ ศาลฎีกาจึงเห็นว่าผู้ร้องไม่ต้องคืนเงินมัดจำ 329,341 บาทให้แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาข้อนี้ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน