แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่า แม้จะเป็นข้อตกลงที่แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า ในอนาคตหากจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งใด จำเลยที่ 1 จะยอมแบ่งให้แก่บุตรทั้งสาม อันหมายถึงบุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เนื้อหาตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นลักษณะที่ตกลงกันกว้าง ๆ ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการระบุทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ เป็นการระบุที่ครอบคลุมทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งย่อมรวมทรัพย์สินทุกชนิดที่ได้มาในอนาคตและไม่จำกัดเวลา และในข้อตกลงส่วนที่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นั้น ก็ไม่ระบุชัดเจนว่าจะแบ่งแก่บุตรคนใด เท่าใด อันหมายความแล้วแต่ดุลยพินิจของจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวนี้ จึงไม่ชัดแจ้ง ไม่มีสภาพบังคับให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งสามารถปฏิบัติให้ตรงตามวัตถุที่ประสงค์แห่งข้อตกลงได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินที่พิพาทให้แก่นายนพฤทธิ์ นางสาวศิริลักษณ์ นายอิทธิเดช และจำเลยที่ 2 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนหนังสือสัญญาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 10528 เลขที่ดิน 112 ตำบลสี่แยกมหานาค (ดุสิต) อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานคร ระหว่าง จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2534 กับให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่นายนพฤทธิ์ ในฐานะทายาทของพันจ่าอากาศเอกอนุชิต นางสาวศิริลักษณ์ และนายอิทธิเดช คนละหนึ่งในสี่ส่วน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองศาล โดยกำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เคยเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2496 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ พันจ่าอากาศอนุชิต นางสาวศิริลักษณ์ และนายอิทธิเดช ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2507 โจทก์และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนหย่ากัน โดยมีข้อตกลงการหย่าในบันทึกหลังทะเบียนหย่าข้อที่ 3 ว่า “ถ้าหากต่อไปภายหน้าจำเลยที่ 1 มีสิทธิในทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งใด จำเลยที่ 1 ยอมแบ่งให้แก่บุตรทั้งสามด้วย” ตามบันทึกหลังทะเบียนหย่า หลังจากนั้นในวันที่ 1 มีนาคม 2516 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนสมรสกับนางสุปราณี และมีบุตรกับนางสุปราณี 1 คน คือ จำเลยที่ 2 สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 10528 แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ประมาณ 29 ตารางวา เป็นของนายถวัลย์ ซึ่งเป็นพี่ชายของจำเลยที่ 1 ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2520 นายถวัลย์จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวนี้ให้จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2534 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลยที่ 2
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองที่เห็นสมควรนำมาวินิจฉัยเสียก่อนคือ จำเลยที่ 1 จะต้องแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทั้งสามของจำเลยที่ 1 ตามข้อตกลงท้ายทะเบียนหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงข้อ 3. นั้น แม้จะเป็นข้อตกลงที่แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า ในอนาคตหากจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินสิ่งหนึ่งสิ่งใด จำเลยที่ 1 จะยอมแบ่งให้แก่บุตรทั้งสาม อันหมายถึงบุตรของโจทก์และจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เนื้อหาตามข้อตกลงดังกล่าวเป็นลักษณะที่ตกลงกันกว้าง ๆ ไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการระบุทรัพย์อันเป็นวัตถุแห่งหนี้ เป็นการระบุที่ครอบคลุมทรัพย์สินทั้งสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งย่อมรวมทรัพย์สินทุกชนิดที่ได้มาในอนาคตและไม่จำกัดเวลา และในข้อตกลงส่วนที่เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นั้น ก็ไม่ระบุชัดเจนว่า จะแบ่งแก่บุตรคนใด เท่าใด อันหมายความแล้วแต่ดุลยพินิจของจำเลยที่ 1 ข้อตกลงดังกล่าวนี้ จึงไม่ชัดแจ้ง ไม่มีสภาพบังคับให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งสามารถปฏิบัติให้ตรงตามวัตถุที่ประสงค์แห่งข้อตกลงได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาข้ออื่นต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ