แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 54,600 บาท โจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ที่สถานีตำรวจว่า จำเลยจะชำระหนี้แก่โจทก์โดย ออกเช็คลงวันที่ล่วงหน้าสั่งจ่ายเงินตาม จำนวนหนี้แก่โจทก์ โจทก์ไม่ติดใจฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาครั้นเช็ค ถึง กำหนด จำเลยนำเงิน5,000 บาทไปชำระหนี้แก่โจทก์ และได้ ออกเช็ค พิพาทชำระหนี้ส่วนที่เหลือมอบให้โจทก์ไว้ แต่ สั่งจ่ายเงินขาดไป 1,000 บาท โดย รับรองว่าจะชำระให้โจทก์ในคราวหน้า ครั้นวันเช็ค พิพาทถึง กำหนด จำเลยนำเงินไปชำระแก่โจทก์ 2,000 บาท เป็นการชำระเงินที่ขาดอยู่ 1,000 บาทและให้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีก 1,000 บาท ต่อมาโจทก์เรียกเก็บเงินตาม เช็ค พิพาท ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ดังนี้ ถือ ไม่ ได้ว่าเป็นการยอมความในกรณีความผิดตาม เช็ค พิพาทซึ่ง จำเลยออกชำระหนี้แก่โจทก์แทนเช็ค ฉบับ จำนวน เงิน 54,600 บาท.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3ให้จำคุก 4 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…จำเลยได้ซื้อข้าวสารจากโจทก์ 130กระสอบ เป็นเงิน 54,600 บาท แต่จำเลยไม่ได้ชำระเงินให้โจทก์ต่อมาวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2530 โจทก์และจำเลยได้ไปทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหลังสวน มีใจความว่า ในวันดังกล่าวจำเลยได้ชำระหนี้ค่าข้าวสารให้โจทก์เป็นเงิน 54,600 บาท โดยจ่ายเป็นเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาหลังสวน เลขที่ 0161530 ลงวันที่ 20มีนาคม 2530 ในการนี้จำเลยได้ให้คำรับรองไว้ด้วยว่าเมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดจะมีเงินชำระตามเช็ค ให้เรียกเก็บเงินจากธนาคารได้ทันที โจทก์พอใจไม่ติดใจที่จะฟ้องจำเลยในทางคดีแพ่งและคดีอาญารายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2530ซึ่งเป็นวันที่เช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระ จำเลยได้นำเงินจำนวน5,000 บาท ไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์ และได้ออกเช็คพิพาทลงวันที่ 20เมษายน 2530 ชำระหนี้ส่วนที่เหลือมอบให้โจทก์ไว้ด้วย แต่เช็คดังกล่าวสั่งจ่ายเงินเพียง 48,600 บาท ขาดไป 1,000 บาท จำนวนเงินที่ขาดไปนี้จำเลยได้ตกลงว่าจะชดใช้ให้โจทก์ในคราวหน้า ครั้นวันที่ 20 เมษายน 2530 จำเลยนำเงินไปชำระให้โจทก์อีก 2,000 บาทเป็นการชำระเงินที่ขาดอยู่ 1,000 บาท และให้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีก1,000 บาท มีการทำบันทึกกันไว้เป็นหลักฐานตามเอกสารหมาย ล.2โดยจำเลยยังคงเป็นหนี้โจทก์อยู่อีก 48,600 บาท ตามเช็คพิพาท และเช็คพิพาทยังคงอยู่ที่โจทก์ ต่อมาวันที่ 5 มิถุนายน 2530 โจทก์นำเช็คพิพาทไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ปรากฏว่าในวันที่ 20 เมษายน 2530 และวันที่ 5 มิถุนายน2530 บัญชีของจำเลยไม่มีเงินพอจ่ายตามเช็คพิพาท คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่จำเลยฎีกาสรุปได้ว่าการที่โจทก์และจำเลยได้ตกลงกันตามบันทึกเอกสารหมาย ล.1 ว่าโจทก์ไม่ติดใจฟ้องจำเลยทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญานั้น เป็นการยอมความกันมีผลทำให้สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2)โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 มีลักษณะเป็นข้อตกลงเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย เกี่ยวกับเรื่องจำเลยซื้อข้าวสารไปจากโจทก์แล้วไม่ชำระเงินซึ่งมีอยู่ก่อนที่จะมีการจัดทำบันทึกดังกล่าว มิใช่เป็นข้อตกลงที่ทำกันไว้ว่าถ้าโจทก์ไม่ได้รับเงินตามเช็คที่จำเลยออกให้แล้ว โจทก์จะไม่ต้องฟ้องจำเลยเกี่ยวกับมูลหนี้ ดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้ เพราะปรากฏว่าในการตกลงกันเกี่ยวกับหนี้ค่าซื้อข้าวสารตามเอกสารหมาย ล.1 นั้น จำเลยได้ออกเช็คชำระหนี้ค่าซื้อข้าวสารจำนวนเงิน 54,600 บาท มอบให้โจทก์ไว้โดยเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้า จึงเป็นที่เห็นได้ว่าหากเช็คฉบับนี้ถึงกำหนดชำระและโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้โจทก์ก็คงจะต้องฟ้องจำเลยให้รับผิดตามเช็คนั้นต่อไป ดังนั้นข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย ล.1 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการยอมความในกรณีความผิดตามเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คที่จำเลยออกชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนเช็คฉบับจำนวนเงิน 54,600 บาท อันเนื่องมาแต่มูลหนี้ค่าซื้อข้าวสาร และไม่มีผลทำให้สิทธินำคดีนี้มาฟ้องของโจทก์เป็นอันระงับไปแต่อย่างใด…”
พิพากษายืน.