คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1495/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทำบันทึกว่าถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไปราชการต่างจังหวัด ซึ่งไม่เป็นความจริง และขอยืมเงินทดรองราชการ ได้เขียนเตรียมไว้ให้ผู้บังคับบัญชาเซ็น และมีลายเซ็นปลอมของผู้บังคับบัญชาจนจำเลยสามารถเบิกเงินของกรมตำรวจไปได้ เป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและโดยสุจริต ไม่ใช่เป็นการกู้ยืมเงินตามธรรมดา
การที่จำเลยอ้างว่าผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไปราชการต่างจังหวัด และทำหนังสือขอยืมเงินทดรองราชการ ได้ทำบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อสั่งอนุมัติ ผู้บังคับบัญชาลำดับสูงและเจ้าหน้าที่การเงินก็ได้สั่งอนุมัติ และจ่ายเงินทดรองราชการให้ตามที่จำเลยเสนอมาเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารราชการ เมื่อจำเลยทำบันทึกเสนอให้ยืมเงินทดรองราชการ ข้อความที่เขียนไว้ให้ผู้บังคับบัญชาเซ็นและมีลายเซ็นของผู้บังคับบัญชาจึงเป็นเอกสารราชการปลอมเมื่อจำเลยนำไปใช้โดยรู้ว่าเป็นเอกสารปลอมย่อมมีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1, 2 เป็นตำรวจสันติบาล จำเลยที่ 1 มีหน้าที่เป็นเสมียนประมวลข่าวชายแดน จำเลยที่ 2 มีหน้าที่สืบสวนพฤติการณ์ของบุคคลทางการเมือง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันทำบันทึกแสดงข้อความเท็จหลอกลวงผู้บังคับบัญชามีใจความว่าที่ผู้บังคับบัญชาให้จำเลยที่ 1 ไปสืบสวนพฤติการณ์บุคคลทางการเมืองในเขตท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำเลยมีความจำเป็นยืมเงินทดรองราชการเพื่อนำไปใช้จ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงค่าที่พักโรงแรมและค่าพาหนะมีกำหนด 30 วัน รวม 2,380 บาท ซึ่งความจริง จำเลยมิได้รับสั่งบันทึกดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้บันทึกลงในเอกสารราชการที่มีลายเซ็นของพันตำรวจโทสุพร ณ ระนอง ผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 1 ในขณะที่เป็นผู้ทำการแทนผู้กำกับการสันติบาล 1 ปลอม โดยได้เขียนข้อความสวมลายเซ็น ณ ระนองปลอมลงไปว่า เสนอรอง ผบก.ส. เพื่อโปรดนำเสนอ กง.ตร. ให้ยืมเงินทดรองไปราชการได้ จำเลยที่ 2 ได้เขียนข้อความลงในเอกสารราชการซึ่งมีลายเซ็นปลอมดังกล่าวต่อไปว่าเสนอ ผบช.ก. โปรดนำเสนอกง.ตร. ให้ยืมเงินทดรองไปราชการได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งเสนอจนถึงหัวหน้ากองการเงินกรมตำรวจเพื่ออนุมัติจ่ายเงิน จำเลยร่วมกันเสนอเอกสารต่อพันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ พันตำรวจเอกชุมพล โลหะชาละ หลงเชื่อจึงเซ็นลงนามแล้วเสนอไปจนถึงพันตำรวจเอกประวิทย์ ไชยลาโภ รองหัวหน้ากองการเงินกรมตำรวจพันตำรวจเอกประวิทย์หลงเชื่อ จึงได้จ่ายเงินทดรอง 2,380 บาท ให้แก่สิบตำรวจเอกสนุ่น คุ้มทรัพย์ รับมอบส่งให้แก่จำเลย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 268, 341, 83

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 268 ประกอบกับมาตรา 265 และ 341 ให้จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 เดือน

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย 2 ข้อ คือ

(1) การยืมเงินทดรองราชการรายนี้ เป็นการกู้ยืมเงินกันตามธรรมดาโดยทั่วไประหว่างจำเลยที่ 1 กับเจ้าหน้าที่กองการเงินกรมตำรวจไม่มีใครเสียหาย จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าการที่จำเลยที่ 1 จะได้รับเงินจากกรมตำรวจ ได้มีการทำบันทึกจำเลยที่ 1 เซ็นชื่อเป็นข้อความว่าจำเลยที่ 1 ถูกผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไปราชการต่างจังหวัด จึงขอยืมเงินทดรองในบันทึกนี้มีข้อความซึ่งจำเลยที่ 1 เขียนว่า เสนอรอง ผบก.ส. เพื่อนำเสนอ กง.ตร. ให้ยืมเงินทดรองไปราชการได้ ข้อความนี้เขียนเตรียมไว้ให้พันตำรวจโทสุพรเซ็น และปรากฏว่ามีลายเซ็นปลอมของพันตำรวจโทสุพรอยู่ในช่องดังกล่าว พฤติการณ์ที่จำเลยได้ทำมาโดยตลอดจนสามารถเบิกเอาเงินของกรมตำรวจไปได้นั้น เป็นการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและโดยทุจริต การกระทำดังกล่าวจึงไม่ใช่การกู้ยืมกันธรรมดาทั่ว ๆไป แต่เป็นการหลอกลวงว่าจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งผู้บังคับบัญชาให้ไปราชการต่างจังหวัด อันเป็นเหตุให้มีสิทธิขอยืมเงินทดรองราชการได้ ซึ่งไม่ใช่ความจริงและได้บันทึกลงในเอกสารหมาย จ.1 ที่มีลายเซ็นของพันตำรวจโทสุพร ณ ระนอง ปลอมว่า เสนอ รอง ผบก.ส.เพื่อนำเสนอ กง.ตร. ให้ยืมเงินทดรองไปราชการได้ พันตำรวจเอกชุมพลหลงเชื่อจึงได้ลงนาม แล้วเสนอตามระเบียบจนถึงพันตำรวจเอกประวิทย์พันตำรวจเอกประวิทย์หลงเชื่อจึงได้จ่ายเงินทดรองดังกล่าวให้ไปการกระทำดังกล่าวย่อมเสียหายแก่พันตำรวจโทสุพร พันตำรวจเอกชุมพลพันตำรวจเอกประวิทย์ และกรมตำรวจ ย่อมเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341

(2) จำเลยฎีกาว่า เอกสารของกลางไม่ใช่เอกสารที่จำเลยได้ทำขึ้นในหน้าที่ จึงไม่ใช่เอกสารราชการ

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นตำรวจสันติบาล ผู้บังคับบัญชาอาจสั่งให้ไปราชการต่างจังหวัดได้ ถ้าเป็นความจริง จำเลยที่ 1 ก็มีสิทธิขอยืมเงินทดรองราชการได้ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 1 อ้างเท็จว่า ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ไปราชการต่างจังหวัด และทำหนังสือขอยืมเงินทดรองราชการ และได้บันทึกเสนอให้ยืมเงินทดรองข้อความนี้เขียนเตรียมไว้ให้ และปรากฏว่ามีลายเซ็นปลอมของพันตำรวจโทสุพรอยู่ในช่องดังกล่าว และยังได้นำเสนอต่อพันตำรวจเอกชุมพล ในตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจสันติบาล และพันตำรวจเอกประวิทย์รองหัวหน้ากองการเงินกรมตำรวจ เพื่อสั่งอนุมัติ ผู้บังคับบัญชาลำดับสูงและเจ้าหน้าที่การเงินก็สั่งอนุมัติ และจ่ายเงินทดรองราชการให้ตามที่จำเลยเสนอเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารในราชการกรมตำรวจซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นในหน้าที่ราชการ จึงเป็นเอกสารราชการตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1(8) เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกว่า เสนอรอง ผบก.ส. เพื่อนำเสนอ กง.ตร. ให้ยืมเงินทดรองราชการ ข้อความนี้เขียนเตรียมไว้ให้พันตำรวจโทสุพรเซ็นและมีลายเซ็นปลอมของพันตำรวจโทสุพร เอกสารเฉพาะข้อความตอนนี้จึงเป็นเอกสารราชการปลอม เมื่อจำเลยนำไปใช้โดยรู้ว่าเป็นเอกสารปลอม จำเลยย่อมมีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอม

พิพากษายืน

Share