คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2684/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข้อตกลงที่ว่าสัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์พิพาทจะมีผลบังคับได้ต่อเมื่อบริษัทขนส่งจำกัด อนุมัติให้เข้าร่วมวิ่งในเส้นทางกรุงเทพมหานคร-จันทบุรี หรือกรุงเทพมหานคร-ตราด ซึ่งการจะได้รับอนุมัติหรือไม่เป็น เหตุการณ์ ในอนาคตไม่แน่นอน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไข ต่อมา กระทรวงคมนาคมอนุมัติให้รถยนต์พิพาทเข้าร่วมวิ่งกับบริษัทขนส่งจำกัด เงื่อนไขตามสัญญามีผลบังคับคู่สัญญาแล้วเมื่อจำเลยไม่สามารถโอนรถยนต์พิพาทให้โจทก์ได้ เพราะเหตุที่จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ เนื่องจากไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อ บริษัท ค. ผู้ให้เช่าซื้อได้ยึดรถยนต์พิพาทดังกล่าวไป ดังนี้เป็นเรื่องที่จำเลยไม่ขวนขวายจัดการปัญหาของจำเลยเองให้เรียบร้อย มิใช่ เรื่องนอกเหนืออำนาจจำเลย จึงเป็นความผิดของจำเลย มิใช่เป็นเหตุ พ้นวิสัย หรือสุดวิสัย ซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถของจำเลยจะ ป้องกันได้แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศรวม 2 คัน ซึ่งเช่าซื้อมาจากบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด จำเลยได้ทำสัญญาให้ไว้แก่โจทก์ว่า ถ้าหากบริษัทขนส่งจำกัด อนุมัติให้รถยนต์โดยสารทั้งสองคันดังกล่าวเข้าร่วมในเส้นทางสายกรุงเทพมหานคร-จันทบุรี และสายกรุงเทพมหานคร-ตราดเมื่อใดแล้ว จำเลยจะขายรถยนต์ทั้งสองคันพร้อมกับสิทธิการเดินรถร่วมที่ได้รับมาให้แก่โจทก์ในราคาคันละ 2,000,000 บาท ถ้าหากจำเลยผิดข้อตกลงยอมให้โจทก์ปรับเเป็นเงินจำนวน 2,000,000 บาท ต่อมาจำเลยได้โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์โดยสารปรับอากาศทั้งสองคันดังกล่าวให้แก่นายกวี ศักดิ์สมบูรณ์ พร้อมกับดำเนินการให้นายกวีได้รับอนุญาตให้นำรถยนต์ทั้งสองคันเข้าร่วมสัมปทานกับบริษัทขนส่ง จำกัดซึ่งได้รับอนุมัติ จำเลยผิดข้อตกลงกับโจทก์ จึงต้องชำระค่าปรับแก่โจทก์ตามสัญญาโจทก์ได้รับความเสียหาย รวมกับเงินค่าปรับแล้วเป็นเงินจำนวน 18,500,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทราบดีว่า จำเลยค้างชำระเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาททั้งสองคันเป็นเงินจำนวนมาก เนื่องจากถูกจับฐานนำรถยนต์แล่นทับเส้นทางสัมปทานของบริษัทขนส่ง จำกัด จึงออกวิ่งไม่ได้ โจทก์จึงมาทำสัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์พิพาทดังกล่าวกับจำเลย ต่อมาบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อเลิกสัญญาเช่าซื้อกับจำเลย แล้วยึดรถยนต์พิพาททั้งสองคันไป และต่อมานายกวีได้เช่าซื้อไป จึงเป็นเหตุพ้นวิสัยที่จำเลยจะโอนขายรถยนต์พิพาททั้งสองคันแก่โจทก์จำเลยไม่ได้โอนสิทธิตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาททั้งสองคันและจำเลยก็มิได้ดำเนินการให้นายกวีนำรถยนต์พิพาททั้งสองคันเข้าร่วมกับบริษัทขนส่ง จำกัด จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีเรียกร้องให้จำเลยชำระเบี้ยปรับ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.5 เป็นเงื่อนไข โดยยกประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 146 ขึ้นมาปรับ และวินิจฉัยว่า การที่จำเลยไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้อ อ้างว่าไม่มีเงิน ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย แล้วพิพากษาให้จำเลยรับผิดนั้นไม่ชอบจำเลยเห็นว่าเพราะรถยนต์พิพาททั้งสองคันได้ถูกบริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อยึดไปโดยจำเลยไม่อยู่ในวิสัยที่จะชำระค่าเช่าซื้อได้เพราะรถวิ่งไม่ได้และรถยนต์พิพาทดังกล่าวถูกยึดไปเสียก่อน อยู่นอกเหนือความสามารถของจำเลยที่จะป้องกันได้ การชำระหนี้ (โอนรถยนต์พิพาท) ให้โจทก์จึงตกเป็นพ้นวิสัย จำเลยไม่ต้องรับผิด นั้น ได้ความว่าจำเลยได้ตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายกับโจทก์ ตามเอกสารหมาย จ.5 หรือเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 4 ข้อ 3 มีข้อความว่า หากรถยนต์พิพาททั้งสองคันดังกล่าวทางบริษัทขนส่ง จำกัด ไม่รับเข้าร่วมในเส้นทางสาย 34 กรุงเทพมหานคร-จันทบุรี หรือสาย 33 กรุงเทพมหานคร-ตราดสัญญาซื้อขายเป็นอันยกเลิก และข้อ 4 มีข้อความว่า ถ้ารถยนต์พิพาททั้งสองคันดังกล่าวได้รับอนุมัติให้เข้าร่วมกับบริษัทขนส่ง จำกัด แล้ว “ผู้ขาย” (จำเลย) ไม่ยอมขายให้ “ผู้ซื้อ” (โจทก์) จำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาทเห็นว่า สัญญาจะซื้อจะขายรถยนต์พิพาทดังกล่าวจะมีผลบังคับได้ก็ต่อเมื่อบริษัทขนส่ง จำกัด อนุมัติให้เข้าร่วมวิ่งในเส้นทางกรุงเทพมหานคร-จันทบุรี หรือกรุงเทพมหานคร-ตราด ซึ่งการจะได้รับอนุมัติหรือไม่เป็นเหตุการณ์ในอนาคตไม่แน่นอน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นเงื่อนไข ต่อมาปรากฏว่ากระทรวงคมนาคมอนุมัติตามเรื่องเดิมที่จำเลยยื่นไว้ให้รถยนต์พิพาททั้งสองคันดังกล่าวเข้าร่วมวิ่งกับบริษัทขนส่ง จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.1 เงื่อนไขตามสัญญาซื้อขายสำเร็จลงมีผลบังคับคู่สัญญา เมื่อจำเลยไม่สามารถโอนรถยนต์พิพาทดังกล่าวให้โจทก์ได้เพราะเหตุที่จำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อ เนื่องจากไม่ชำระเงินค่างวดเช่าซื้อ บริษัทโค้วยู่ฮะมอเตอร์ จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อได้ยึดรถยนต์พิพาททั้งสองคันดังกล่าวไปการที่จำเลยถูกยึดเอารถยนต์พิพาทไป เพราะไม่ชำระเงินค่างวดเช่าซื้อ เป็นเรื่องที่จำเลยไม่ขวนขวายจัดการปัญหาของจำเลยเองให้เรียบร้อย ซึ่งมิใช่เรื่องนอกเหนืออำนาจของจำเลยแต่อย่างใด จึงเป็นความผิดของจำเลย มิใช่เป็นเหตุพ้นวิสัยหรือเหตุสุดวิสัยซึ่งอยู่นอกเหนือความสามารถของจำเลยที่จะป้องกันได้ดังที่จำเลยอ้างข้ออ้างดังกล่าวของจำเลยไม่มีความหมายที่จะเป็นเหตุพ้นวิสัยหรือแม้แต่จะเป็นเหตุสุดวิสัยในมาตรา 8 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่ง “หมายความว่าเหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดีจะให้ผลพิบัติก็ดี ไม่มีใครจะอาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้น จะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลนั้นในฐานะเช่นนั้น” จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและต้องรับผิดที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชดใช้เบี้ยปรับจำนวน 1,000,000 บาทแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นจำนวนเงินที่ยังสูงเกินส่วน ได้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์แล้วสมควรลดค่าปรับลง โดยกำหนดเสียใหม่ให้พอสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 โดยกำหนดให้จำเลยชดใช้เบี้ยปรับจำนวน 500,000 บาท แก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

Share