แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรมพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวังซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดในนามสำนักพระราชวัง โดยใช้เงินจากบัญชีประกันอัคคีภัย ซึ่งเป็นเงินผลประโยชน์ในการที่กรมพระคลังข้างที่รับประกันภัยทรัพย์สินในความดูแลจัดการของตนเอง และมีข้ออาณัติซึ่งได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตขึ้นใช้บังคับบัญชีประกันอัคคีภัยนั้น แยกไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากบัญชีผลประโยชน์ทั้งหลายในกรมพระคลังข้างที่ และได้จัดเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นับแต่ได้ออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์แล้ว เมื่อที่ดินพิพาทได้จากเอาเงินในบัญชีประกันอัคคีภัยไปซื้อย่อมถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์พ.ศ.2479 การขายที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมพระคลังข้างที่ หรือสำนักงานพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวัง นั้น เป็นราชการแผ่นดิน จำเป็นจะต้องมีพระบรมราชานุญาตให้ขายเสียก่อนจึงจะขายได้และพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น จะต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามความในมาตรา 57 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในเวลาที่มีการขาย
พระราชหัตถเลขาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 มีบันทึกของเจ้าหน้าที่ปะหน้าพระราชหัตถเลขาและมีรัฐมนตรีผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรีในสำนักพระราชวังสมัยนั้น เขียนคำว่า ‘ทราบ’ และเซ็นชื่อไว้ข้างใต้คำว่าทราบในบันทึกของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะเป็นการเซ็นรับทราบรายงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ไม่มีข้อความใดแสดงว่าเป็นการรับสนองพระบรมราชโองการเลย จึงหาเป็นการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญไม่
จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทและได้รับโอนกรรมสิทธิ์แล้ว แม้ว่าการซื้อขายเป็นไปโดยไม่สมบูรณ์ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ก็ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผยตลอดมา ได้รื้อสิ่งปลูกสร้างเดิมออกแล้วปลูกตึกแทน แม้จำเลยที่ 1 จะเคยมีหนังสือทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระมหากรุณาขอให้งดเว้นการเรียกที่ดินคืน ก็ไม่มีลักษณะเป็นการยอมรับอำนาจโจทก์เหนือที่ดิน เป็นแต่การให้เหตุผลโต้แย้งหนังสือของโจทก์ที่เรียกที่ดินคืนเท่านั้นพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวแล้วจึงเป็นการครอบครองปรปักษ์ต่อโจทก์
ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 มาตรา 7 ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะโอนหรือจำหน่ายได้ก็แต่โดยได้รับพระบรมราชานุมัติเพื่อสาธารณประโยชน์หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2491 มาตรา 8 เป็นว่าทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะโอนหรือจำหน่ายได้ก็แต่เพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และโดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตหรือเพื่อสาธารณประโยชน์อันได้มีกฎหมายให้โอนหรือจำหน่ายได้เท่านั้น ดังนี้ผู้ใดจะได้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นกรรมสิทธิ์ย่อมจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้วแต่ประการเดียว ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษยกเว้นกฎหมายทั่วไปจะอ้างการครอบครองปรปักษ์ขึ้นใช้ยันสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์หาได้ไม่
ขณะที่มีการโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ที่ดินพิพาทอยู่ในความดูแลรักษาของสำนักงานพระคลังข้างที่ แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479ให้โอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทด้วย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยที่ 1 เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักพระราชวัง และต่อมาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระคลังข้างที่ ขณะซื้อที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทสองด้วย ซึ่งรู้ดีว่ามีการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่าเป็นไปโดยไม่สุจริตเมื่อปี 2480 จนรัฐบาลสมัยนั้นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาสอบสวนและเรียกที่ดินคืน 36 ราย ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย การที่จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างตึกในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2481 จึงเป็นการทำไปทั้งๆ ที่รู้ว่าที่ดินยังไม่เป็นสิทธิของจำเลยโดยสมบูรณ์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 แต่กรณีต้องด้วยมาตรา 1311(วรรค 2,3,4 และ 5 วินิจฉัยในที่ประชุมครั้งที่ 8-9/2516)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทโฉนดที่ 603 เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ วันที่ 1 มกราคม 2479 คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีพระราชหัตถเลขาพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้ขายแก่จำเลยที่ 1 ในราคา 4,400 บาท วันที่ 18 เดือนเดียวกันสำนักงานพระคลังข้างที่ได้ทำสัญญาขายโอนโฉนดใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยจำเลยที่ 1 มิได้ชำระราคาเลย แต่พระบรมราชานุญาตไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการจึงเป็นโมฆะ ต่อมาที่ดินพิพาทตกมาอยู่ในความดูแลรักษาและจัดการของโจทก์ โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินคืน กลับเพิกเฉย เดิมที่พิพาทมีสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 1 ได้รื้อเรือนไม้สองชั้น 2 หลัง ราคา 1 แสนบาทออกไป และปลูกตึกเลขที่ 362 ขึ้นใหม่ และยังนำที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปจำนองกับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 3 แสนบาท ขอให้พิพากษาว่านิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทและนิติกรรมจำนองเป็นโมฆะ ให้จำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดเป็นชื่อโจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ในสภาพเดิม ห้ามเกี่ยวข้อง สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไปหากส่งคืนไม่ได้ ให้ใช้ราคา 1 แสนบาท
จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์โดยชอบพระบรมราชานุญาตไม่ใช่ราชการแผ่นดิน ไม่ต้องมีรัฐมนตรีรับสนองพระบรมราชโองการ ทั้งมีการรับสนองแล้ว จำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทจนได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382 การจำนองกระทำโดยสุจริต สิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 รื้อมีราคาเพียง 400 บาท
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ได้ไถ่ถอนจำนองจากจำเลยที่ 2และได้จดทะเบียนไถ่ถอนแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 เปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดมาเป็นชื่อโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินคืนในสภาพเดิมห้ามเกี่ยวข้องและให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินค่าสิ่งปลูกสร้างที่รื้อไป 5,000 บาทแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะข้อที่ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนในสภาพเดิม แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ฟ้องใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม ศาลมีคำสั่งตั้งให้ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 เป็นคู่ความแทนผู้มรณะ
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 พระราชทรัพย์และทรัพย์สินของแผ่นดินที่ตกทอดจากพระมหากษัตริย์องค์ก่อน คงรวมกันอยู่ในความดูแลจัดการของกรมพระคลังข้างที่ กระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเรียกว่าสำนักงานพระคลังข้างที่ นอกจากนี้กรมพระคลังข้างที่ยังรับจัดการผลประโยชน์ทรัพย์สินของพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเจ้านายบางพระองค์หรือวัดต่าง ๆ ที่ฝากให้จัดทำผลประโยชน์
ตึกและโรงเรือนที่กรมพระคลังข้างที่ดูแลรักษานั้น บางรายได้เอาประกันอัคคีภัยไว้ ซึ่งต้องเสียเบี้ยประกันภัยปีละไม่น้อยกรมพระคลังข้างที่เห็นว่าเงินค่าประกันภัยที่ต้องเสียให้บริษัทประกันภัยต่าง ๆ ถ้ารวมกันเก็บรับทำเสียเองในกรมพระคลังข้างที่แยกบัญชีประกันอัคคีภัยไว้เป็นส่วนหนึ่ง เมื่อเกิดไฟไหม้ขึ้นปีหนึ่ง ตำบลหนึ่งหรือสองตำบล เงินที่เก็บไว้คงพอใช้ทุน จึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 และแจ้งให้เจ้าของโรงเรือนที่มอบให้กรมพระคลังข้างที่ดูแลรักษาทราบก็เป็นอันทรงเห็นชอบ การรับประกันภัยจึงได้ก่อตั้งมาแต่ปี 2451 เมื่อก่อตั้งครบ 3 ปี มีเงินรวบรวมได้สี่แสนบาทเศษ จึงได้ยกตั้งเป็นทุนสมมุติเป็นบริษัทขึ้น และมีข้ออาณัติซึ่งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้บังคับ
ที่ดินพิพาทเดิมเป็นของพระยาอภิรักษ์ราชอุทยาน ได้จำนองไว้กับกรมพระคลังข้างที่แล้วค้างชำระดอกเบี้ย กรมพระคลังข้างที่ฟ้องบังคับจำนองและมีการยึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลกรมพระคลังข้างที่ได้ซื้อไว้แล้วลงชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดในนามสำนักพระราชวัง (สำนักงานพระคลังข้างที่บัญชีประกันภัย) ในการรับจำนองที่ดินพิพาทตลอดจนรับซื้อจากการขายทอดตลาดได้ใช้เงินจากบัญชีประกันอัคคีภัยทั้งสิ้น และบัญชีประกันอัคคีภัยดังกล่าวได้จัดเข้าไว้เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นับแต่ได้ออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ฯ แล้ว
1. จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายพิพาทไม่ใช่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะได้ความว่าทรัพย์สินรายพิพาทได้ใช้เงินจากบัญชีประกันอัคคีภัยซื้อมา แต่เงินทุนตามบัญชีประกันอัคคีภัยนั้นปรากฏตามข้ออาณัติซึ่งมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้บังคับว่า เงินทุนนี้เจ้าของไม่ได้ส่งมาเข้าหุ้นส่วน แต่กรมพระคลังข้างที่เก็บรวบรวมจากเบี้ยประกันภัยซึ่งเจ้าของทรัพย์ที่เอาประกันได้เสียไว้เงินเหล่านี้ผู้ชำระไม่มีทางจะได้รับคืน เมื่อเจ้าของรายใดถอนตึกเรือนโรง ออกไปจากความปกครองของกรมพระคลังข้างที่แล้ว ทุนนั้นต้องเป็นพับอยู่ในบริษัท (คือรวมอยู่ในกองกลาง) เงินทุนและดอกเบี้ยค่ารับประกันอัคคีภัยมีบัญชีแยกไว้เป็นส่วนหนึ่งต่างหากจากบัญชีผลประโยชน์ทั้งหลายในกรมพระคลังข้างที่ เห็นได้ว่าทุนหรือผลประโยชน์ในบริษัทสมมุติดังกล่าว หาได้เป็นของเจ้าของทรัพย์สินที่มอบไว้แก่กรมพระคลังข้างที่ไม่ หากแต่เป็นทุนที่ได้จากกิจการที่จัดขึ้นอยู่ในความดูแลของกรมพระคลังข้างที่ซึ่งบัญชีประกันอัคคีภัยดังกล่าวได้จัดเข้าไว้เป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นับแต่ได้ออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์แล้ว เมื่อที่ดินพิพาทได้จากการเอาเงินในบัญชีประกันอัคคีภัยไปซื้อ จึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
2. จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า การขายที่ดินพิพาทไม่ใช่ราชการแผ่นดินไม่ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ทั้งมีผู้รับสนองแล้ว
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมพระคลังข้างที่หรือสำนักงานพระคลังข้างที่ สำนักพระราชวังการขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 นี้ย่อมเป็นราชการแผ่นดิน จำเป็นจะต้องมีพระบรมราชานุญาตให้ขายเสียก่อนจึงจะขายได้ และพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระบรมราชานุญาตนั้น จะต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามความในมาตรา 57 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น
สำหรับพระราชหัตถเลขาพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.4 นั้น ปรากฏว่ามีบันทึกของเจ้าหน้าที่ปะหน้าพระราชหัตถเลขา พระดุลยธารณ์ปรีชาไวทย์รัฐมนตรีผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรีในสำนักพระราชวังสมัยนั้นเขียนคำว่า “ทราบ” และเซ็นชื่อไว้ข้างใต้คำว่าทราบ ในบันทึกของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งมีลักษณะเป็นการเซ็นรับทราบรายงานของเจ้าหน้าที่เท่านั้น ไม่มีข้อความใดแสดงว่าเป็นการรับสนองพระบรมราชโองการเลย จึงหาเป็นการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญไม่
3. จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยทางครอบครองแล้ว
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาจากสำนักงานพระคลังข้างที่สำนักพระราชวังตั้งแต่ปี 2479 แล้ว แม้ว่าการซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นไปโดยไม่สมบูรณ์ถูกต้อง แต่จำเลยที่ 1 ก็ครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและเปิดเผยตลอดมา ปี 2481 จำเลยที่ 1 ก็ได้รื้อสิ่งปลูกสร้างเดิมคือเรือนเก่าและโรงไม้ออกแล้วปลูกตึกสองชั้นขึ้นในที่ดินพิพาทแม้จะปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยมีหนังสือลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2492 ตามเอกสารหมาย จ.10 ทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระมหากรุณาขอให้งดเว้นการเรียกที่ดินคืน ก็ไม่มีลักษณะเป็นการยอมรับอำนาจโจทก์เหนือที่ดิน เป็นแต่การให้เหตุผลโต้แย้งหนังสือของโจทก์ที่เรียกคืนที่ดินเท่านั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า กรณีที่จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าว เป็นการครอบครองปรปักษ์ต่อโจทก์
เมื่อถือว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทตลอดมาซึ่งเป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้ว มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 จะอ้างการครอบครองปรปักษ์นั้นยันโจทก์ได้หรือไม่ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 มาตรา 7 บัญญัติว่า “ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะโอนหรือจำหน่ายได้ก็แต่โดยได้รับพระบรมราชานุมัติเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือเพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์” และต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2491 มาตรา 8 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 เดิม และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 7 ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 6 ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จะโอนหรือจำหน่ายได้ก็แต่เพื่อประโยชน์แก่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และโดยได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตหรือเพื่อสาธารณประโยชน์อันได้มีกฎหมายให้โอนหรือจำหน่ายได้เท่านั้น” และปรากฏว่าเมื่อพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479ประกาศใช้บังคับ จำเลยที่ 1 เพิ่มครอบครองที่ดินพิพาทมาได้ 6 เดือนเศษ ยังไม่ได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ดังกล่าวได้บัญญัติถึงลักษณะการโอนหรือจำหน่ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไว้เป็นกรณีพิเศษ ผู้ใดจะได้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นกรรมสิทธิ์ก็ย่อมจะต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแล้วแต่ประการเดียว ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษยกเว้นกฎหมายทั่วไป ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยที่ 1 จะอ้างการครอบครองปรปักษ์ดังกล่าวแล้วยันโจทก์หาได้ไม่
4. จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพราะที่ดินพิพาทไม่เคยอยู่ในความดูแลของโจทก์
ศาลฎีกาเห็นว่าขณะที่มีการโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ทรัพย์สินรายพิพาทอยู่ในความดูแลรักษาของสำนักงานพระคลังข้างที่ไม่ใช่โจทก์ก็จริงแต่ต่อมามีพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2479 ให้โอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์ ขณะฟ้องที่ดินพิพาทจึงอยู่ในความดูแลรักษาของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
5. จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยรื้อไป จำเลยที่ 1ควรรับผิดไม่เกิน 400 บาท
ศาลฎีกาเห็นพ้องกับข้อวินิจฉัยของศาลล่างที่กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้แก่โจทก์ 5,000 บาท
6. จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ปลูกสร้างตึกบนที่ดินพิพาทโดยสุจริตตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ โจทก์ต้องใช้ค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นแก่จำเลยที่ 1 โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างโดยไม่สุจริต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 1 เคยดำรงตำแหน่งเลขานุการสำนักพระราชวัง และต่อมายังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานพระคลังข้างที่เมื่อปี 2482 ขณะซื้อที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ยังเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรประเภทสองด้วยตามพฤติการณ์ที่เป็นมาเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ย่อมรู้ดีว่ามีการตั้งกระทู้ถามในสภาผู้แทนราษฏรเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่าเป็นไปโดยไม่สุจริตเมื่อปี 2480 จนรัฐบาลในสมัยนั้นต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาสอบสวนและเรียกที่ดินคืนทั้ง 36 รายรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย การที่จำเลยที่ 1ได้ปลูกสร้างตึกในที่ดินพิพาทเมื่อปี 2481 จึงเป็นการทำไปทั้ง ๆ ที่รู้ว่าที่ดินยังไม่เป็นสิทธิของจำเลยโดยสมบูรณ์ ดังนั้น จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้ปลูกสร้างตึกเรือนโรงในที่ดินพิพาทโดยสุจริตไม่ได้ กรณีเช่นว่านี้หาต้องด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1310 ดังที่จำเลยที่ 1 อ้างไม่ รูปคดีต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1311 ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างตึกในที่ดินพิพาทโดยสุจริตนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ข้อที่โจทก์ฎีกาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเป็นพับไปนั้นเป็นดุลพินิจที่สมควรแล้ว ไม่มีเหตุจะพึงแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเดิม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ