แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลูกบ้านและรั้วรุกล้ำที่ดินพิพาทของโจทก์จำเลยให้การว่าได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์มิได้ให้การว่าเป็นกรณีปลูกบ้านรุกล้ำที่ดินพิพาทของโจทก์โดยสุจริตคดีจึงไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1312 หรือไม่ แม้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านและรั้วที่รุกล้ำที่พิพาทไม่ได้ เป็นผู้ปลูก บ้านและรั้วก็ตาม โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทก็มีสิทธิที่จะเรียกเอาที่พิพาทคืนจากจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1336 โดยให้จำเลยรื้อถอนบ้านและรั้วออกไปได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ และส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 200 บาท จนกว่าจะรื้อถอนอาคารและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5879 ซึ่งด้านทิศเหนือติดต่อกับที่ดินโฉนดเลขที่ 5878 ของโจทก์ จำเลยซื้อที่ดินดังกล่าวพร้อมบ้านเลขที่ 8มีรั้วล้อมรอบปลูกอยู่ในที่ดิน แต่ส่วนเหนือของบ้านและรั้วรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ ปรากฏตามหมายอักษร ก.ข.ค.ง. ในแผนที่วิวาทโดยจำเลยซื้อจากผู้จัดการมรดกของพันตรีขุนศรนัยประจักษ์เจ้าของเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2517 บ้านและรั้วดังกล่าวรวมทั้งส่วนที่รุกล้ำเจ้าของเดิมปลูกขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2512 โจทก์นำคดีมาฟ้องมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและรั้วที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินของโจทก์ ที่จำเลยฎีกาว่าที่พิพาทตามหมายอักษร ก.ข.ค.ง. ในแผนที่วิวาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยพลตรีน้อม เกตุนุติ พันตรีจขุนศรนัยประจักษ์เจ้าของเดิมและจำเลยครอบครองโดยสงบ เปิดเผยและโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปีแล้วนั้น ปรากฏตามคำให้การจำเลยว่าที่ดินของจำเลยเลขที่ 210 ตามแผนที่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 (โจทก์อ้างศาลหมาย จ.2) ซึ่งเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินหมายเลข 209 ของโจทก์ และจำเลยให้การต่อไปว่าที่ดินหมายเลขที่ 210 ของจำเลยได้ออกโฉนดเป็นโฉนดเลขที่ 5875 โดยพลตรีน้อม เกตุนุติ มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ต่อมาปี พ.ศ. 2513 พลตรีน้อม เกตุนุติ ยกให้พันตรีขุนศรนัยประจักษ์ พันตรีขุนศรนัยประจักษ์เข้าครอบครองและปลูกบ้านเลขที่ 8 กับทำรั้วล้อมรอบ พันตรีขุนศรนัยประจักษ์ถึงแก่กรรม จำเลยซื้อครอบครองที่ดินและอยู่อาศัยในบ้านสืบต่อมาดังนี้ เห็นว่า แม้จำเลยจะกล่าวว่าพลตรีน้อม เกตุนุติพันตรีขุนศรนัยประจักษ์ และจำเลยได้ครอบครองโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมานับแต่ปี พ.ศ. 2499 (ปีที่ออกโฉนดเลขที่ 5879ของจำเลย) เป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าตามคำให้การของจำเลย พลตรีน้อม เกตุนุติ หาได้ครอบครองที่ดินของโจทก์ไม่ และหากนับแต่ปี พ.ศ. 2513 ที่พันตรีขุนศรนัยประจักษ์เข้าครอบครองและปลูกบ้านในที่ดินของโจทก์ และจำเลยครอบครองต่อมาถึงวันฟ้อง (วันที่ 15 พฤษภาคม 2521) ก็ยังไม่ครบ 10 ปี ฉะนั้นที่จำเลยฎีกากล่าวอ้างระยะการครอบครองปรปักษ์ที่ดินของโจทก์พลตรีน้อม เกตุนุติ เป็นผู้ครอบครองจึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ ไม่มีประเด็น ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์กล่าวว่าจำเลยไม่โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แล้ววินิจฉัยว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทไม่ถึง 10 ปี ไม่ได้กรรมสิทธิ์นั้น เห็นว่าคำกล่าวที่ว่าจำเลยไม่โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย คงมีความหมายเพียงว่า จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของจำเลยเท่านั้น หาใช่ไม่ถูกต้องคลาดเคลื่อนดังที่จำเลยโต้เถียงมาในฎีกาไม่ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยปลูกบ้านและรั้วรุกล้ำที่ดินพิพาทของโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมิได้เป็นผู้ปลูก จำเลยซื้อที่ดินของจำเลยพร้อมบ้านโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ชอบที่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 มาใช้บังคับและพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น เห็นว่า จำเลยให้การว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ซึ่งความจริงปรากฏว่าอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์มิได้ให้การว่าเป็นกรณีปลูกบ้านรุกล้ำที่ดินพิพาทของโจทก์โดยสุจริต คดีจึงไม่มีประเด็นให้ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 นั้นหรือไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ 1848/2512 ระหว่าง นายอมฤทธิ์ จิรา โจทก์ คุณหญิงอรุณ เมธาธิบดี จำเลย และคำพิพากษาฎีกาที่ 561/2522 ระหว่าง นายบุญมีแย้มโกสุม โจทก์ นางกาบไพบูลย์ กับพวก จำเลย ที่จำเลยอ้าง ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ฉะนั้นเมื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์จากจำเลยผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 แม้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของบ้านและรั้วที่รุกล้ำที่ดินพิพาทจะไม่ได้ปลูกบ้านและรั้วนั้นก็ตาม ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรื้อบ้านและรั้วส่วนที่รุกล้ำออกไปจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน