คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12168/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เพราะโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วจำนวน 17,000,000 บาท โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่าๆ กัน จำนวน 8,500,000 บาท ป.พ.พ. มาตรา 229 (3) และมาตรา 296เนื่องจากบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตราทั้งสองดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยที่1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินจากธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) มีโจทก์และจำเลยที่ 2 ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญา ธนาคารยื่นฟ้องโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อศาลชั้นต้น บริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิแทนธนาคาร ศาลชั้นต้นอนุญาต และมีคำพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระเงินตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัทดังกล่าว คดีถึงที่สุดแล้วจำเลยที่ 1 เจรจาประนอมหนี้กับบริษัทดังกล่าวตกลงกันว่า บริษัทดังกล่าวยอมรับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากโจทก์ 17,000,000 บาท และจะยอมปลดหนี้ในส่วนที่โจทก์ต้องรับผิดให้ ต่อมาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2550 โจทก์ชำระเงิน 5,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2550 โจทก์ชำระเงินอีก 12,000,000 บาท ให้แก่บริษัทดังกล่าวแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิไล่เบี้ยจำเลยที่ 1 และรับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวที่มีต่อจำเลยที่ 2 เรียกให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 17,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2550 คืนให้แก่โจทก์ได้ แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 17,062,876 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มิถุนายน 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 17,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 15 มิถุนายน 2550) ต้องไม่เกิน 62,876 บาท ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 13,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2550 จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่งชอบหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 อ้างว่า ความรับผิดของผู้ค้ำประกันที่ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมแตกต่างจากความรับผิดของลูกหนี้ร่วม โจทก์คงไล่เบี้ยได้จากจำเลยที่ 1 เต็มจำนวน ส่วนจำเลยที่ 2 หาต้องรับผิดต่อโจทก์ไม่นั้น เห็นว่า ความรับผิดของโจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งค้ำประกันหนี้รายเดียวกันนั้นเป็นความรับผิดต่อเจ้าหนี้อย่างลูกหนี้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 682 วรรคสอง และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันร่วมกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้รับผิดต่อบริษัทบริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าหนี้แล้วตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1382/2548 ของศาลชั้นต้นและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 การที่โจทก์เรียกให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์เพราะเหตุที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา 17,000,000 บาท ตามสำเนาใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.9 จึงเป็นการฟ้องผู้ค้ำประกันซึ่งต้องรับผิดร่วมกันด้วยตนเอง เมื่อบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้ จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 และ 296 ดังนั้น โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่าๆ กันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 229 (3) และมาตรา 296 ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่งนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ประการต่อไปว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้แก่โจทก์ 13,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยชอบหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์กึ่งหนึ่ง ย่อมหมายถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่โจทก์ชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไป เมื่อโจทก์ชำระให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว 17,000,000 บาท โจทก์ย่อมไล่เบี้ยจากจำเลยที่ 2 ได้ 8,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้แก่โจทก์ 13,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบ อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง ศาลชั้นต้นไม่ได้พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระดอกเบี้ยของเงินต้นจำนวนใด ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ชัดเจน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 17,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,000,000 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ในวงเงิน 8,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 8,500,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share