แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การพิจารณาเรื่องอำนาจฟ้องต้องพิจารณาในขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล โจทก์ประมูลซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาล ดังนั้นนับแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้ โจทก์ย่อมมีสิทธิในทรัพย์พิพาทโดยบริบรูณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติแม้ภายหลังการขายทอดตลาดจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตามคงเป็นเพียงการร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดเท่านั้น หาใช่เรื่องการขายทอดตลาดตกเป็นโมฆะไม่ และตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดสิทธิของโจทก์ในทรัพย์พิพาทก็ยังคงบริบูรณ์อยู่ คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีสบัญญัติของจำเลยไม่กระทบต่อสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายสารบัญญัติ จำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์พิพาทอีกต่อไป เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกไปจากทรัพย์พิพาทและจำเลยเพิกเฉยโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากทรัพย์พิพาท และเรียกค่าเสียหายจากการเพิกเฉยไม่ออกไปจากทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นการละเมิดต่อโจทก์ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 92998 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น เลขที่ 550/265 โดยประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดในคดีแพ่งของศาลชั้นต้นและชำระราคาครบถ้วนแล้ว โจทก์แจ้งให้จำเลยซึ่งเดิมเป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและออกไปจากที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยและบริวารเพิกเฉยทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 92998 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายออกไปจนสิ้นเชิง
จำเลยให้การว่า ทรัพย์พิพาทยังเป็นของจำเลย การขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้กระทำโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 309 ทวิ เป็นการขายโดยไม่สุจริต ขายราคาต่ำมากเกินสมควรโดยเกิดจากการคบคิดกันฉ้อฉลระหว่างโจทก์และผู้เข้าสู้ราคา จำเลยยื่นคำร้องให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาด ขณะนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล คำร้องของจำเลยมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด การที่จำเลยพักอาศัยในทรัพย์พิพาทจึงไม่เป็นการละเมิด โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายและไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่ทรัพย์พิพาทอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยบริวารพร้อมกับให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากทรัพย์พิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 92998 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทาวน์เฮาส์เลขที่ 550/265 ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องกับทรัพย์พิพาท และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เป็นเงินเดือนละ5,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะได้ออกไปและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากทรัพย์พิพาทจนเสร็จสิ้น
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 92998 ตำบลห้วยขวาง (สามเสนนอกฝั่งเหนือ) อำเภอห้วยขวาง (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น เลขที่ 550/265 อันเป็นทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดในคดีหมายเลขแดงที่ 21260/2538 ของศาลชั้นต้น จำเลยยื่นคำร้องให้ศาลเพิกถอนการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2542 และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากทรัพย์พิพาทและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า การพิจารณาเรื่องอำนาจฟ้องต้องพิจารณาในขณะที่โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาล คดีนี้โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งศาล ดังนั้น นับแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีผู้ทอดตลาดแสดงความตกลงด้วยการเคาะไม้โจทก์ย่อมได้สิทธิในทรัพย์พิพาทโดยบริบรูณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1330 อันเป็นกฎหมายสารบัญญัติ แม้ภายหลังการขายทอดตลาด จำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ ซึ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลก็ตาม คงเป็นเพียงการร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดเท่านั้น หาใช่เรื่องการขายทอดตลาดตกเป็นโมฆะไม่ และตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาด สิทธิของโจทก์ในทรัพย์พิพาทก็ยังคงบริบูรณ์อยู่ คำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีสบัญญัติของจำเลยไม่กระทบต่อสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายสารบัญญัติ จำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ในทรัพย์พิพาทอีกต่อไป เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยและบริวารออกจากทรัพย์พิพาทและจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากทรัพย์พิพาท สำหรับปัญหาเรื่องค่าเสียหาย การที่จำเลยเพิกเฉยไม่ออกไปจากทรัพย์พิพาทย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายแต่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 5,000 บาท นั้น เป็นจำนวนที่สูงเกินไป เนื่องจากทรัพย์พิพาทเป็นทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น กว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ 10 เมตร มีเพียง 1 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ ตั้งอยู่บนที่ดินเนื้อที่ 10 ตารางวา และทำเลอยู่สุดซอย เมื่อพิจารณาประกอบกับทางได้เสียของโจทก์แล้ว เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เพียงเดือนละ 3,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท