คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1031/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สายการเดินเรือ ซ.รับจ้างขนส่งสินค้าจากต่างประเทศมายังประเทศไทย แต่ไม่มีสาขาในประเทศไทย จึงให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการแทนระหว่างเดินทาง เรือบรรทุกสินค้าของสายการเดินเรือ ซ.เกิดเพลิงไหม้ ทำให้สินค้าเสียหายบางส่วน ต้องขนสินค้าที่เสียหายขึ้นที่เมืองฮ่องกง จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องกับสินค้าบนเรือขอให้ใช้กฎแห่งการเฉลี่ยทั่วไปในรูปแบบของหลักประกันเฉลี่ยของบริษัทลอยด์ จำกัด จากผู้รับตราส่งสินค้าเรียกหนังสือค้ำประกันเพื่อกฎแห่งการเฉลี่ยอย่างไม่จำกัดจำนวนจากผู้รับประกันภัยสินค้าและขอให้ลงชื่อในแบบฟอร์มหลักประกันเฉลี่ยและหนังสือค้ำประกัน เมื่อเรือสินค้ามาถึงประเทศไทยจำเลยที่ 1 เป็นผู้แจ้งเรือเข้าต่อกรมเจ้าท่าและต่อการท่าเรือแห่งประเทศไทยแจ้งให้กรมศุลกากรทราบว่าสินค้าที่บรรทุกมาบนเรือมีอะไรบ้าง ประกาศหนังสือพิมพ์ให้ผู้รับตราส่งทราบเพื่อให้นำใบตราส่งมาแลกกับใบปล่อยสินค้าซึ่งจำเลยที่ 1เป็นผู้ออกให้เพื่อไปรับสินค้าจากคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับค่าระวางขนส่งจากผู้รับตราส่ง มีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าบนเรือทั้งหมดไปเก็บไว้ในคลังสินค้า และเมื่อเรือบรรทุกสินค้าไม่สามารถแล่นผ่านปากแม่น้ำเจ้าพระยา จำเลยที่ 1 ต้องหาเรือลำเลียงมาขนถ่ายสินค้า การดำเนินการดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นวิธีการรับขนทางทะเล มีลักษณะร่วมกันขนส่งสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่จำเลยที่ 1 ประกาศหนังสือพิมพ์ให้ผู้รับตราส่งทราบเพื่อให้นำใบตราส่งมาแลกกับใบปล่อยสินค้าซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกให้เพื่อนำไปรับสินค้าจากคลังสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นขั้นตอนสำคัญของการรับขนตามป.พ.พ. มาตรา 615 และมาตรา 622 จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตาม ป.พ.พ. มาตรา 618 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
เมื่อเรือบรรทุกสินค้าบรรทุกน้ำหนักมาก ไม่สามารถเข้ามาที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ จำเลยที่ 1 ได้ให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าจากเรือบรรทุกสินค้าจากเกาะสีชังมากรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 4และที่ 5 ขนถ่ายสินค้า โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นคนขับเรือเล็ก จำเลยที่ 2 ที่ 4และที่ 5 เป็นผู้ดำเนินการขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่สู่เรือเล็กแล้วนำเข้าเก็บไว้ในคลังสินค้า จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทกับจำเลยที่ 1 เพื่อให้สินค้าถึงมือผู้ซื้อในการขนส่งช่วงสุดท้าย จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 3 มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้างของจำเลยที่ 4 และที่ 5ซึ่งเป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 3 จึงย่อมไม่ใช่ผู้ร่วมขนส่งหลายทอด

Share