คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7802/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ช. นำหนังสือมอบอำนาจที่มี ส. ลงลายมือชื่อและหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทของจำเลยไปมอบให้แก่พนักงานสอบสวน แม้ ส. มิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยลงในหนังสือมอบอำนาจ แต่การที่ ช. เจรจาตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ 70,000 บาท และรับรถกระบะจากโจทก์เพื่อนำไปซ่อม ทั้งยังนำรถบรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุคืนไปจากพนักงานสอบสวน ถือได้ว่าเป็นการเชิด ส. เป็นตัวแทนในการตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดตามบันทึกตกลงค่าเสียหายนั้น แม้จำเลยไม่มีชื่อเป็นเจ้าของรถบรรทุกสิบล้อทางทะเบียน
บันทึกการตกลงค่าเสียหายระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีข้อความระบุชัดแจ้งว่าฝ่ายจำเลยจะชำระค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงินเท่าใดและหากฝ่ายจำเลยไม่ซ่อมโจทก์จะเรียกร้องได้เพียงใด ไม่ชัดแจ้งที่จะเป็นการระงับข้อพิพาท จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถกระบะหมายเลขทะเบียน บ-9557 กาญจนบุรี จำเลยเป็นเจ้าของผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์รถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-4656 กาญจนบุรี นายไพทูร ลูกจ้างจำเลยขับรถบรรทุกสิบล้อคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยโดยประมาทชนรถกระบะของโจทก์ได้รับความเสียหายและโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส ต่อมาจำเลยมอบอำนาจให้ตัวแทนไปพบพนักงานสอบสวนบันทึกตกลงค่าเสียหายกับโจทก์โดยยอมรับว่า นายไพทูรเป็นลูกจ้างของจำเลย และชดใช้ค่าเสียหายซึ่งเป็นค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ 70,000 บาทแล้ว ทั้งรับว่าจะซ่อมรถกระบะของโจทก์ให้อยู่ในสภาพใช้การได้ดี จำเลยได้นำรถยนต์ของโจทก์ไปซ่อม แต่มิได้ซ่อมให้แก่โจทก์ ต่อมาอู่ซ่อมรถที่จำเลยนำรถยนต์ของโจทก์ไปซ่อมถูกเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นและยึดเอาเครื่องยนต์ของโจทก์ไป โจทก์ต้องติดตามขอรับเครื่องยนต์คืน และเจ้าของอู่ซ่อมรถนำหัวเก๋งรถกระบะของโจทก์ไปขาย โจทก์ทวงถามค่าเสียหายแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยส่งซากรถกระบะหมายเลขทะเบียน บ-9557 กาญจนบุรี คืนให้แก่โจทก์ในสภาพเดียวกับที่จำเลยรับไปซ่อม ให้จำเลยชดใช้เงิน 365,097.70 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 350,894 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของรถกระบะ จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองรถบรรรทุกสิบล้อ นายไพทูรไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยไม่เคยมอบหมายให้นายไพทูรขับรถบรรทุกดังกล่าว และไม่เคยมอบอำนาจให้บุคคลใดไปทำบันทึกตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ ทั้งไม่เคยนำรถกระบะของโจทก์ไปซ่อม ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินความเป็นจริง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
คาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันที่ 1 สิงหาคม 2541 นายไพทูรขับรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน 80-4656 กาญจนบุรี ชนรถกระบะหมายเลขทะเบียน บ-9557 กาญจนบุรี ของโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับอันตรายสาหัสและรถได้รับความเสียหาย วันที่ 1 ธันวาคม 2541 นางสุจิตรา มอบอำนาจให้นายสุชาติตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ นายสุชาติได้ชำระค่ารักษาพยาบาลให้โจทก์ 70,000 บาท รับรถกระบะของโจทก์ไปซ่อมและรับรถบรรทุกสิบล้อคืนไปจากพนักงานสอบสวน ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจยึดเครื่องยนต์รถกระบะของโจทก์จากอู่ซ่อมรถไป โจทก์ติดตามเอาคืนได้แล้ว ส่วนหัวเก๋งรถกระบะของโจทก์หายไป
มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของนายสุชาติที่ตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ตามบันทึกตกลงค่าเสียหายตามเอกสารหมาย จ.5 มีผลผูกพันจำเลยหรือไม่ โจทก์มีร้อยตำรวจเอกไพบูลย์พนักงานสอบสวนในคดีที่นายไพทูรขับรถเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่โจทก์ขับเบิกความเป็นพยานว่า นายสุชาติได้รับมอบอำนาจจากนางสุจิตรากรรมการของจำเลยมาเจรจาและตกลงเกี่ยวกับเรื่องความเสียหายโดยนายสุชาตินำหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนางสุจิตราและนายสุชาติ หนังสือรับรองของบริษัทจำเลยตามเอกสารหมาย ป.จ.1 ถึง ป.จ.4 มาแสดงต่อร้อยตำรวจเอกไพบูลย์ และนายสุชาติตกลงเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาล และค่าซ่อมรถให้แก่โจทก์ ทั้งได้รับรถบรรทุกสิบล้อคืนไป เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกไพบูลย์เป็นพยานคนกลาง คำเบิกความจึงน่าเชื่อถือ การที่นายสุชาตินำใบมอบอำนาจที่มีนางสุจิตราลงลายมือชื่อโดยไม่ประทับตราของจำเลย และหนังสือรับรองของสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทของจำเลยไปมอบให้แก่ร้อยตำรวจเอกไพบูลย์แสดงให้เห็นว่านางสุจิตรากระทำในนามของจำเลย มิฉะนั้นแล้วก็ไม่มีเหตุผลประการใดที่จะมอบหนังสือรับรองของจำเลยไปให้แก่ร้อยตำรวจเอกไพบูลย์ แม้นางสุจิตราจะมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยลงในหนังสือมอบอำนาจก็ตาม แต่การที่นายสุชาติเจรจาตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ 70,000 บาท และรับรถกระบะจากโจทก์เพื่อนำไปซ่อม ทั้งยังนำรถบรรทุกสิบล้อคันเกิดเหตุคืนไปจากพนักงานสอบสวนและไม่ปรากฏว่าจำเลยมิได้รับรถคันดังกล่าวไว้ พฤติการณ์ของจำเลยจึงถือได้ว่าเป็นการเชิดนางสุจิตราเป็นตัวแทนในการตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ แม้ว่านางสุจิตราจะมิได้กระทำด้วยตนเองแต่มอบอำนาจให้นายสุชาติกระทำการแทนก็ตาม จำเลยจึงต้องรับผิดตามบันทึกตกลงค่าเสียหายนั้น แม้จำเลยจะมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของรถบรรทุกสิบล้อทางทะเบียน แต่ทะเบียนรถมิใช่เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์เป็นแต่เพียงหลักฐานการควบคุมรถของทางการเท่านั้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
เมื่อคู่ความได้นำสืบพยานหลักฐานครบถ้วนแล้ว จึงเห็นควรวินิจฉัยประเด็นต่อไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างวินิจฉัย โดยเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่าบันทึกการตกลงค่าเสียหายตามเอกสารหมาย จ.5 เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดหรือไม่ เห็นว่า บันทึกดังกล่าวไม่มีข้อความระบุชัดแจ้งว่าฝ่ายจำเลยจะชำระค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงินเท่าใด และหากฝ่ายจำเลยไม่ซ่อมโจทก์จะเรียกร้องได้เพียงใด ไม่ชัดแจ้งที่จะเป็นการระงับข้อพิพาท จึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความจำเลยยังคงต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้าง
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของนายไพทูรคนขับรถบรรทุกสิบล้อหรือไม่ โจทก์มีโจทก์เบิกความเป็นพยานว่าขณะที่โจทก์จอดรถอยู่ที่ไหล่ทาง นายไพทูรขับรถบรรทุกสิบล้อมาด้วยความเร็วไม่สามารถควบคุมทิศทางได้เป็นเหตุให้รถแฉลบชนรถที่โจทก์ขับ และโจทก์มีร้อยตำรวจเอกไพบูลย์เบิกความว่าจากการสอบสวนได้ความว่านายไพทูรเป็นคนขับรถโดยประมาทเฉี่ยวชนรถโจทก์ และนายไพทูรยอมรับสารภาพร้อยตำรวจเอกไพบูลย์ได้เปรียบเทียบปรับไปแล้ว เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน ส่วนจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าเหตุเกิดจากความประมาทของนายไพทูร มีข้อวินิจฉัยต่อไปว่า นายไพทูรเป็นลูกจ้างของจำเลยและกระทำไปทางการที่จ้างของจำเลยหรือไม่ โจทก์มีโจทก์เบิกความว่านายสุชาติรับมอบอำนาจจากจำเลยให้มาเจรจากับโจทก์ยอมรับว่านายไพทูรเป็นลูกจ้างของจำเลย เห็นว่า คำเบิกความของโจทก์สอดคล้องกับพฤติการณ์ในการที่จำเลยมอบอำนาจให้นายสุชาติมาเจรจาตกลงค่าเสียหายกับโจทก์ แสดงให้เห็นว่าจำเลยยอมรับว่านายไพทูรเป็นลูกจ้างของจำเลย มิฉะนั้นก็ไม่มีเหตุผลประการใดที่จำเลยจะสอดเข้ามายอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์เป็นจำนวนมาก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่านายไพทูรเป็นลูกจ้างของจำเลยและกระทำไปในการที่จ้าง
ประเด็นสุดท้ายที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด โจทก์มีนายวีระชัย ลูกจ้างร้านซ่อมรถศานติการช่างซึ่งเป็นผู้ประเมินราคารถกระบะของโจทก์ว่ารถกระบะของโจทก์ได้รับความเสียหายหลายรายการตามเอกสารหมาย จ.7 รวมเป็นเงิน 197,344 บาท เห็นว่า นายวีระชัยเป็นช่างมีอาชีพในการซ่อมรถย่อมมีความชำนาญในการตีราคา ทั้งจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่ารถยนต์โจทก์ได้รับความเสียหายดังกล่าวจริง แต่เนื่องจากรถกระบะของโจทก์เป็นรถผ่านการใช้งานมาก่อนเกิดเหตุ 8 ปีเศษ จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้ 130,000 บาท ส่วนหัวเก๋งของรถกระบะโจทก์ที่หายไปโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายมา 50,000 บาทนั้น โจทก์มิได้นำสืบให้ชัดว่ามีราคาดังกล่าวจริง เห็นควรกำหนดให้ 30,000 บาท ส่วนที่โจทก์เรียกค่าใช้จ่ายในการติดตามขอรับเครื่องยนต์คืนจากเจ้าพนักงานตำรวจเป็นเงิน 5,000 บาท นั้นเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีหลักฐานมาแสดง เห็นควรกำหนดให้ 2,000 บาท ส่วนที่โจทก์อ้างว่าขาดรายได้จากการนำรถออกประกอบอาชีพซื้อยางรถยนต์เก่าไปขายวันละ 500 บาท นั้น เห็นสมควรกำหนดให้วันละ 300 บาท นับแต่วันที่ 15 มกราคม 2542 ซึ่งเป็นวันผิดนัดจนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 197 วัน เป็นเงิน 59,100 บาท”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 221,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (30 กรกฎาคม 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท

Share