คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1243/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 รับสินค้าจากโจทก์เพื่อดำเนินการขนส่ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 ครั้นเมื่อมีการขนส่งสินค้าไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อแล้ว ปรากฏในขณะนั้นว่าสินค้าสูญหายไป 1 กล่อง แต่ได้ความต่อมาว่าจำเลยที่ 2 พบสินค้าที่คิดว่าสูญหายดังกล่าวที่ท่าอากาศยานเบรเมน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2550 ดังนี้ย่อมไม่มีเหตุอันจะถือได้ว่าสินค้า 1 กล่องนี้สูญหายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงกำหนดเวลาในการขนส่งสินค้าให้จำเลยที่ 1 ต้องขนส่งไปมอบแก่ผู้ซื้อไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ตามปกติในการขนส่งทางอากาศย่อมเป็นที่เข้าใจและคาดหมายกันได้ระหว่างโจทก์ผู้ส่งกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งว่าควรขนส่งไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อโดยคู่สัญญามีเจตนาให้ขนส่งไปส่งมอบได้ภายในกำหนดเวลาเท่าที่พึงคาดหมายว่าการขนส่งทางอากาศในระยะทางเช่นนี้ควรส่งมอบแก่ผู้ซื้อได้ ประกอบกับผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความทำนองว่า พยานได้รับแจ้งจากผู้ซื้อว่าได้รับสินค้าไม่ครบถ้วน ไม่เกินวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 จึงเชื่อได้ว่าการขนส่งครั้งนี้มีกำหนดเวลาอันคาดหมายได้ว่าควรส่งสินค้าถึงผู้ซื้อได้ไม่เกินวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 และมีการส่งสินค้าไปมอบแก่ผู้ซื้อแล้วเพียงแต่ส่งมอบได้ไม่ครบถ้วนเท่านั้น เมื่อสินค้าขาดหายไป 1 กล่อง และค้นพบวันที่ 27 มีนาคม 2550 ย่อมเป็นกรณีที่หากส่งมอบสินค้า 1 กล่องนี้ได้ก็เป็นการส่งมอบชักช้ากว่าเวลาอันควรส่งมอบได้ จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งคนอื่นที่ได้รับมอบหมายให้ขนส่งต้องร่วมกันรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการส่งมอบชักช้าดังกล่าว อันเกิดจากโจทก์ต้องผลิตสินค้าใหม่และส่งให้ผู้ซื้อทดแทน
ตามกรมธรรม์ประกันภัยมีข้อความแสดงถึงกรณีที่สัญญาประกันภัยไม่คุ้มครองไว้ในข้อ 2.6 ว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองในกรณีการสูญหาย เสียหาย หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าโดยเฉพาะ เมื่อสินค้า 1 กล่อง หายไปโดยหาไม่พบแต่แรก แต่ต่อมาก็ค้นพบภายหลังในเวลาประมาณ 40 วัน ซึ่งถือว่าเป็นกรณีส่งได้ชักช้าเท่านั้น ไม่ถึงกับถือว่าเป็นการสูญหาย จึงไม่อยู่ในความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินค่าเสียหายรวมกับดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 946,520.53 บาท และชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 887,266.53 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์มอบอำนาจให้นางสาววิมล ดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ บริษัทโนวาการ์ด อินฟอร์เมชั่นซิสเต็มส์ จีเอ็มบีเอช ในประเทศเยอรมนีสั่งซื้อสินค้าบัตรอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 9 กล่องจากโจทก์ในราคาดีดีพี (DDP-Delivered Duty Paid) เป็นเงินรวม 99,590.56 ยูโรซึ่งโจทก์มีหน้าที่ขนส่ง ทำพิธีการศุลกากร ณ ท่าส่งออกและท่าปลายทาง และต้องเสี่ยงภัยสำหรับความสูญหายหรือเสียหายจนกว่าสินค้าจะส่งถึงผู้ซื้อ โจทก์ได้เอาประกันภัยสินค้าระหว่างการขนส่งดังกล่าวไว้กับจำเลยที่ 3 โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินการจัดส่งสินค้าไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อที่ประเทศเยอรมนี โดยจำเลยที่ 1 ได้ออกใบรับขนของทางอากาศ (House Air Waybill) ให้แก่โจทก์ และจำเลยที่ 1ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งทางอากาศโดยจำเลยที่ 2 ได้ออกใบรับขนของทางอากาศ (Master Air Waybill) ให้ไว้แก่จำเลยที่ 1 และเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 2 ได้ขนส่งสินค้าจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปยังท่าอากาศยานเบรเมน ประเทศเยอรมนีแล้ว แต่ปรากฏว่าขณะนั้นสินค้าดังกล่าวสูญหายไป 1 กล่อง ซึ่งมีสินค้าจำนวน 40,633 ชิ้น โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1ติดตามสินค้าที่สูญหาย ต่อมาโจทก์ได้ผลิตสินค้าอย่างเดียวกันขึ้นทดแทนแล้วจัดส่งให้แก่ผู้ซื้อ แต่หลังจากนั้นในวันที่ 29 มีนาคม 2550 จำเลยที่ 1 แจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 พบสินค้าที่สูญหายไปเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2550 โจทก์เรียกร้องให้จำเลยทั้งสามรับผิดต่อโจทก์แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาขนส่งต่อโจทก์เพียงใดหรือไม่ ปัญหานี้ตามข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ยุติว่า จำเลยที่ 1 รับสินค้าจากโจทก์ไว้เพื่อดำเนินการขนส่ง เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 ตามใบรับขนของทางอากาศ ครั้นเมื่อมีการขนส่งสินค้าไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อแล้ว ปรากฏในขณะนั้นว่าสินค้าสูญหายไป 1 กล่อง แต่ได้ความต่อมาว่าจำเลยที่ 2 พบสินค้าที่คิดว่าสูญหายดังกล่าวที่ท่าอากาศยานเบรเมน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2550 ดังนี้ย่อมไม่มีเหตุอันจะถือได้ว่าสินค้า 1 กล่องนี้สูญหายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ปรากฏว่าโจทก์ตกลงกำหนดเวลาในการขนส่งสินค้าให้จำเลยที่ 1ต้องขนส่งไปมอบแก่ผู้ซื้อไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องที่ตามปกติในการขนส่งทางอากาศย่อมเป็นที่เข้าใจและคาดหมายกันได้ระหว่างโจทก์ผู้ส่งกับจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งว่าควรขนส่งไปส่งมอบแก่ผู้ซื้อได้โดยคู่สัญญามีเจตนาให้ขนส่งไปส่งมอบได้ภายในกำหนดเวลาเท่าที่พึงคาดหมายว่าการขนส่งทางอากาศในระยะทางเช่นนี้ควรส่งมอบแก่ผู้ซื้อได้ ประกอบกับนางสาววิมลผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความทำนองว่า พยานได้รับแจ้งจากผู้ซื้อว่าได้รับสินค้าไม่ครบถ้วน ไม่เกินวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 แสดงว่ามีการส่งสินค้าไปมอบแก่ผู้ซื้อแล้วเพียงแต่ส่งมอบได้ไม่ครบถ้วนเท่านั้น จึงเชื่อได้ว่าการขนส่งครั้งนี้มีกำหนดเวลาอันคาดหมายได้ว่าควรส่งสินค้าถึงผู้ซื้อได้ไม่เกินวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 แต่เมื่อขณะนั้นสินค้าขาดหายไป 1 กล่อง และค้นพบวันที่ 27 มีนาคม 2550 ย่อมเป็นกรณีที่หากส่งมอบสินค้า 1 กล่อง นี้ได้ก็เป็นการส่งมอบชักช้ากว่าเวลาอันควรส่งมอบได้ ซึ่งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาและการค้นพบสินค้าดังกล่าวปรากฏในคำฟ้องและคำให้การจำเลยทั้งสามอยู่แล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลปรับบทกฎหมายว่าเป็นกรณีสูญหายหรือส่งมอบชักช้า และแม้ฟังได้ว่าเป็นกรณีส่งมอบชักช้าก็ถือได้ว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งคนอื่นที่ได้รับมอบหมายให้ขนส่งต้องร่วมกันรับผิดชอบในความเสียหายอันเกิดขึ้นจากการส่งมอบชักช้าดังกล่าว ส่วนปัญหาว่าโจทก์เสียหายจากการที่ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ส่งมอบสินค้าชักช้านั้น โจทก์มีนางสาววิมลยื่นบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงและเบิกความประกอบว่า เมื่อทราบว่าสินค้าสูญหายไป 1 กล่อง โจทก์ได้สอบถามจำเลยที่ 1 และต่อมาจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งว่าโจทก์ควรเรียกร้องจากผู้รับประกันภัยก่อน หลังจากนั้นผู้รับประกันภัยจึงจะเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 ต่อไป ตามหนังสือของจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2550 โจทก์จึงได้ผลิตสินค้าใหม่ขึ้นทดแทนและส่งให้แก่ผู้ซื้อใหม่เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2550 รายละเอียดปรากฏตามใบอินวอยซ์และใบรับขนของทางอากาศ โดยรายละเอียดของสินค้าและราคาสินค้ามตามใบอินวอยซ์ ที่ส่งไปทดแทนก็ตรงกับสินค้าที่หาไม่พบแต่แรกตามใบอินวอยซ์สินค้า 1 กล่องดังกล่าว จำนวนสินค้าที่ส่งไปใหม่หักด้วยสินค้าผู้ซื้อไม่รับมาแต่เดิมแล้วจำนวน 40,213 ชิ้น ก็ใกล้เคียงกับจำนวนสินค้า 1 กล่อง ที่หาไม่พบแต่แรกที่โจทก์มีหนังสือเรียกร้องไปยังจำเลยที่ 1 ตาม จำนวน 40,200 ชิ้น ส่วนฝ่ายจำเลยที่ 3 อ้างเพียงว่า การส่งสินค้าของโจทก์ใหม่ตามใบรับขนของทางอากาศ ระบุเป็นสินค้า 11 กล่อง มากกว่าสินค้าที่หายไปแต่แรก จึงเป็นการขายและส่งสินค้าใหม่ต่างหากมากกว่า ในข้อนี้เมื่อพิจารณาคำเบิกความนางสาววิมลที่อ้างว่าการส่งสินค้าตามใบรับขนของทางอากาศฉบับนี้เป็นการส่งสินค้าทดแทนรวมไปกับสินค้าที่ผู้ซื้อสั่งซื้อเพิ่มประกอบกับใบรับขนของทางอากาศ ซึ่งมีรายละเอียดสินค้าที่ขนส่งตามใบอินวอยซ์ 3 ฉบับ เป็นสินค้าที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน 3 ประเภท แต่เป็นประเภทเดียวกับสินค้าที่หาไม่พบแต่แรก 1 ประเภท ตามใบอินวอยซ์เลขที่ SMC 2- 02410 ซึ่งตรงกับเลขที่อินวอยซ์ ดังกล่าวแล้ว และเมื่อโจทก์เป็นคู่สัญญากับผู้ซื้อที่ต้องผูกพันในการส่งสินค้าแก่ผู้ซื้อ ย่อมมีเหตุผลให้โจทก์ต้องผลิตและส่งสินค้าทดแทนดังกล่าว พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสาม เชื่อได้ว่าโจทก์ต้องผลิตสินค้าใหม่ขึ้นและส่งให้ผู้ซื้อทดแทนโดยเสียค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 16,085.20 ยูโร ตามใบอินวอยซ์จริง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพียงใดหรือไม่ เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัย มีข้อความแสดงถึงกรณีที่สัญญาประกันภัยไม่คุ้มครองไว้ในข้อ 2.6 ว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองในกรณีการสูญหายเสียหาย หรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าโดยเฉพาะ ซึ่งย่อมเข้าใจได้ชัดเจนว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความเสียหายในกรณีการส่งมอบชักช้าและเมื่อกรณีสินค้า 1 กล่อง ตามฟ้องที่หายไปโดยหาไม่พบแต่แรก แต่ต่อมาก็ค้นพบภายหลังในเวลาประมาณ 40 วัน ซึ่งถือว่าเป็นกรณีส่งได้ชักช้าเท่านั้น ไม่ถึงกับจะถือได้ว่าเป็นการสูญหาย จึงไม่อยู่ในความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 4,180 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่12 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจะชำระเป็นเงินไทยให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาท ตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด หากไม่มีประกาศดังกล่าว ให้ใช้อัตราขายถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ในกรุงเทพมหานครในวันใช้เงิน หากไม่มีอัตราในวันดังกล่าวให้ใช้อัตราที่มีก่อนวันใช้เงิน และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share