คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 779/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 มิได้บัญญัติห้ามว่า การนับโทษจำคุกของจำเลยคดีหนึ่งต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นของจำเลยที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไปเมื่อนับรวมกันแล้วจะเกินกำหนดในมาตรา 91 ไม่ได้ การขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากโทษจำคุก ของจำเลยคดีอื่น เป็นการขอให้ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษา เป็นอย่างอื่นเกี่ยวกับการเริ่มนับโทษจำคุกของจำเลยใน คดีนั้นว่าจะให้เริ่มนับแต่เมื่อใด ซึ่งหากไม่ได้กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นก็จะต้องเริ่มแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่ง อันขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าสมควรให้นับต่อหรือไม่ เพียงใด และมิได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน เมื่อฟังว่าจำเลยกระทำผิดทั้งสองสำนวนเป็นหลายกระทงจึงต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิด อันเป็นการนับโทษจำคุกของจำเลยทุกกระทงในสองสำนวนติดต่อกัน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดในมาตรา 91 ดังนั้นเมื่อมีการลงโทษจำคุกทุกกรรมเป็นกระทงความผิดในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ไปแล้ว จึงไม่อาจนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาเรื่องอื่นของศาลชั้นต้นต่อกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 ได้อีก เป็นการลงโทษจำคุกจำเลยเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 บัญญัติไว้ โจทก์มีคำขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีสองสำนวนที่ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาที่เกิดขึ้นนอกเขตอำนาจศาลชั้นต้น แม้เป็นกรณีที่จำเลยกระทำผิดในข้อหาเดียวกับข้อหาที่จำเลยถูกลงโทษในคดีทั้งสองสำนวนของศาลชั้นต้นที่รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันนี้ก็ตาม เมื่อในทางปฏิบัติก็ไม่อาจยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และไม่อาจรวมพิจารณาพิพากษากับคดีทั้งสองสำนวนของศาลชั้นต้น จึงเป็นคดีที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไป กรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ถึงแม้ศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีดังกล่าวมีกำหนด 50 ปี เต็มตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ศาลก็ชอบที่จะนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีทั้งสองสำนวนของศาลชั้นต้นนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22วรรคหนึ่ง ได้ ฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยถูกฟ้องต่อศาลชั้นต้นอีก1 สำนวน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก 7 ปี 6 เดือน จึงต้องพิพากษารวมโทษของจำเลยทั้งสองสำนวนนี้กับโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(3) นั้น แต่ตามฎีกาจำเลยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับคดีนี้อย่างไร หรือไม่ ในอัน ที่จะวินิจฉัยว่าจะต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)หรือไม่ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ประกอบ มาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกันโดยโจทก์ฟ้องทั้งสองขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 157, 161 นับโทษจำเลยในคดีทั้งสองสำนวนนี้ต่อกันและต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1118/2532 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 726,290 บาทและจำนวน 951,874 บาท ตามลำดับ แก่กรมที่ดินผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่หลังจากสืบพยานไปบ้างแล้ว จำเลยกลับให้การรับสารภาพตามฟ้อง และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 157, 161 ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี เรียงกระทงลงโทษตามจำนวนครั้งที่กระทำผิดในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 970/2533 (คดีแรก) จำเลยกระทำผิดรวม 399 กรรม แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุก 50 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 552/2534 (คดีหลัง) จำเลยกระทำความผิดรวม 573 กรรม แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงให้จำคุกจำเลยไว้ 50 ปี เช่นเดียวกันลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลยทั้งสองสำนวนไว้สำนวนละ 25 ปีให้จำเลยในสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 970/2534 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 552/2534 คืนหรือใช้เงินจำนวน 726,290 บาท และจำนวน 951,874 บาท ตามลำดับแก่กรมที่ดิน ข้อหาหรือคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้เรียงกระทงลงโทษและลดโทษเป็นสุทธิแล้วจึงกำหนดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) กับให้นับโทษจำเลยในทั้งสองสำนวนนี้ต่อกันและต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1118/2532 ของศาลจังหวัดพิษณุโลกด้วย
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองสำนวนรวม 972 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมเป็นจำคุก 4,860 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2,430 ปี แต่ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์แยกฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญา รวม 2 คดีในข้อหาเดียวกัน คือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามคดีอาญาหมายเลขดำที่970/2533 และหมายเลขดำที่ 552/2534 และบรรยายฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 970/2533 ด้วยว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1118/2532 ของศาลจังหวัดพิษณุโลกกับบรรยายฟ้องไว้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 552/2534 ว่า จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 970/2533 ของศาลชั้นต้น และจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1118/2532 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก ขอให้นับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 970/2533 ของศาลชั้นต้น ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1118/2532 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก และนับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 552/2534 ของศาลชั้นต้น ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 970/2533 ของศาลชั้นต้นและคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1118/2532 ของศาลจังหวัดพิษณุโลกและโจทก์ยื่นแถลงลงวันที่ 18 มกราคม 2538 ว่าศาลจังหวัดพิษณุโลกพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1118/2532 แล้ว โดยพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 บทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เรียงกระทงลงโทษรวม 82 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1125/2536 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาพิพากษาคดีอาญาหมายเลขดำที่ 970/2533 และ 552/2534 เข้าด้วยกันเป็นคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 28/2537 และ 29/2537 ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ต่อมา และศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองสำนวนรวม 972 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 รวมโทษทุกกระทงแล้วจำคุกจำเลย 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จะนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 28/2537 และ 29/2537 และศาลชั้นต้นต่อกันและต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่1125/2536 ของศาลจังหวัดพิษณุโลกได้หรือไม่ เห็นว่า ข้อความที่ระบุไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ว่า “เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฯลฯ” มีความหมายว่าบทบัญญัติมาตรา 91 นี้ใช้ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาอันเดียวกันสำหรับคำฟ้องคดีเดียวที่รวมเอาความผิดหลายกระทงไว้ด้วยกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 หรือคำฟ้องหลายคดีที่พิจารณาพิพากษารวมกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 25 หากปรากฏว่าจำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกันก็ให้ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่มีข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ต่อไปว่า “แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษ หรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้ (1) … (3) ห้าสิบปีสำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป” อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91มิได้บัญญัติห้ามว่าการนับโทษจำคุกของจำเลยคดีหนึ่งต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นของจำเลยที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไปเมื่อนับรวมกันแล้วจะเกินกำหนดในมาตรา 91 ไม่ได้ซึ่งการขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีหนึ่งต่อจากโทษจำคุกของจำเลยคดีอื่นเป็นการขอให้ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษาเป็นอย่างอื่นเกี่ยวกับการเริ่มนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนั้นว่าจะให้เริ่มนับแต่เมื่อใด ซึ่งหากไม่ได้กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นก็จะต้องเริ่มแต่วันมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่งอันขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่าสมควรให้นับต่อหรือไม่เพียงใด และมิได้อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91สำหรับคำขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่28/2537 และ 29/2537 ของศาลชั้นต้นต่อกันนั้น เห็นว่าคดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันเมื่อฟังว่าจำเลยกระทำผิดทั้งสองสำนวนเป็นหลายกระทงจึงต้องอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ที่ต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดอันเป็นการนับโทษจำคุกของจำเลยทุกกระทงในสองสำนวนติดต่อกัน แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่ว่า เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วโทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดห้าสิบปีในมาตรา 91(3) ดังนั้นเมื่อมีการลงโทษจำคุกทุกกรรมเป็นกระทงความผิดในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าวตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ไปแล้ว จึงไม่อาจนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 28/2537 และ 29/2537 ของศาลชั้นต้นต่อกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 ได้อีก เพราะจะเป็นการลงโทษจำคุกจำเลยเกินกำหนดที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) บัญญัติไว้ส่วนคำขอให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่28/2537 และ 29/2537 ของศาลชั้นต้นต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1125/2536 ของศาลจังหวัดพิษณุโลกนั้นเห็นว่า คดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตอำนาจศาลชั้นต้นแม้เป็นกรณีที่จำเลยกระทำผิดในข้อหาเดียวกับข้อหาที่จำเลยถูกลงโทษในคดีทั้งสองสำนวนของศาลชั้นต้นที่รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่อาจยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลชั้นต้น และไม่อาจรวมพิจารณาพิพากษากับคดีทั้งสองสำนวนของศาลชั้นต้น จึงเป็นคดีที่มีคำฟ้องและคำพิพากษาต่างสำนวนต่างหากออกไป ไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ถึงแม้ศาลจะพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยในคดีดังกล่าวมีกำหนด 50 ปีเต็มตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) ก็ชอบที่จะนับโทษจำคุกของจำเลยในคดีทั้งสองสำนวนของศาลชั้นต้นต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีดังกล่าวตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญามาตรา 22 วรรคหนึ่งได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 28/2537 และ 29/2537 ของศาลชั้นต้นต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1125/2536ของศาลจังหวัดพิษณุโลก นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ว่า จำเลยถูกฟ้องต่อศาลชั้นต้นอีก 1 สำนวน ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่648/2536 หมายเลขแดงที่ 1382/2538 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำคุก7 ปี 6 เดือน จึงต้องพิพากษารวมโทษของจำเลยทั้งสองสำนวนนี้กับโทษของจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91(3) นั้น เห็นว่า ตามฎีกาจำเลยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคดีดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับคดีนี้อย่างไร หรือไม่ ในอันที่จะวินิจฉัยว่าจะต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91(3) หรือไม่จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193 ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นับโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 28/2537 และ 29/2537 ของศาลชั้นต้นต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1125/2536 ของศาลจังหวัดพิษณุโลกนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 คำขอนอกจากนี้ให้ยก

Share