แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์เกินกว่าเงินฝากในบัญชีโดยอาศัยข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญา ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไปก่อนคืน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2539 และไม่ปรากฏว่าในเดือนถัดไปโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินอีก คงมีเพียงรายการคิดดอกเบี้ยเท่านั้น ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันโดยปริยายตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่มีการคำนวณดอกเบี้ยของรอบเดือนดังกล่าว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2541 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความเดิม ตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 23 มิถุนายน 2548 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 142,482.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 63,489.84 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 63,489.84 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 23 มิถุนายน 2548 ) ต้องไม่เกิน 78,992.53 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ไว้กับธนาคารโจทก์สาขาแพร่ และเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏกับโจทก์ สาขาแพร่ จำนวนเงิน 94,000 บาท มีข้อตกลงว่า หากหน่วยงานที่จำเลยที่ 1 สังกัดไม่นำเงินเดือนหรือเงินพึงได้เข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์บอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยที่ค้างชำระทั้งหมดได้ทันที มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญากู้กรุงไทยธนวัฏโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ได้เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเบิกถอนไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2539 จำนวน 2,000 บาท หน่วยงานที่จำเลยที่ 1 สังกัดได้โอนเงินเดือนหรือเงินที่จำเลยที่ 1 พึงได้เข้าบัญชีออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เรื่อยมา ทั้งจำเลยที่ 1 ก็ได้ชำระหนี้ให้โจทก์หลายครั้ง ครั้งสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2541 จำนวน 5,000 บาท ณ วันดังกล่าวจำเลยที่ 1 ยังค้างชำระหนี้โจทก์จำนวน 74,295.75 บาท
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองเพียงประการเดียวว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7) หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 สามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 เปิดไว้กับโจทก์สาขาแพร่ได้เกินกว่าเงินฝากในบัญชีโดยอาศัยข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญากู้และสัญญาค้ำประกันกรุงไทยธนวัฏและ/หรือธนวัฏพิเศษนั้น เป็นเพียงการให้สินเชื่อรูปแบบหนึ่ง โดยโจทก์กำหนดวงเงินสินเชื่อขึ้นมาแล้วให้จำเลยที่ 1 สามารถเบิกถอนเงินได้เป็นคราว ๆ โดยใช้ใบถอนเงินหรือใช้บัตร เอ. ที. เอ็ม. เบิกถอนจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของโจทก์หรือจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารอื่น โดยเงินที่จำเลยที่ 1 สามารถเบิกถอนได้นั้นอาจน้อยกว่าวงเงินที่กำหนดไว้ก็ได้ และตราบใดที่สัญญายังไม่สิ้นสุดลง จำเลยที่ 1 ย่อมจะเบิกถอนเงินในวงเงินที่ตกลงกันได้เสมอ จึงหาใช่เป็นเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปเป็นปริมาณมีกำหนดให้แก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณเช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินซึ่งให้ยืม อันจะถือเป็นการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ไม่ แต่การที่โจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 สามารถเบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์โดยใช้ใบถอนเงิน หรือใช้บัตร เอ. ที. เอ็ม. เบิกถอนจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติได้ดังกล่าว โดยโจทก์จะเป็นผู้ออกเงินทดรองจ่ายแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อนแล้วมาเรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 ในภายหลัง ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไปก่อนคืน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (7)
จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2539 และไม่ปรากฏว่าในเดือนถัดไปโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินอีก คงมีเพียงรายการคิดดอกเบี้ยเท่านั้น ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เลิกกันโดยปริยายตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่มีการคำนวณดอกเบี้ยของรอบเดือนดังกล่าว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2539 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2541 อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง และเริ่มนับอายุความใหม่ตามอายุความเดิมตั้งแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์มาฟ้องคดีนี้วันที่ 23 มิถุนายน 2548 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 10 ปี นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น และเมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองเนื่องจากคดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยทั้งสองอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นศาลฎีกาให้เป็นพับ