คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6304/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องบริษัทสยามพัฒนา จำกัด เป็นจำเลยที่ 2ให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นบริษัทสยามพัฒนาเซอร์วิส (1988) จำกัด เมื่อพ้นกำหนดเวลา1 ปี แล้ว แต่เป็นเวลาก่อนจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การซึ่งโจทก์มีสิทธิกระทำได้ เพราะเป็นการขอแก้ไขข้อผิดพลาดเกี่ยวกับชื่อคู่ความที่โจทก์ฟ้องในระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องแก่คู่ความ ไม่มีกฎหมายห้าม ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 2จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำละเมิดฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 70,823 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 70,779 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ได้ขอแก้ไขคำฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับจากวันเกิดเหตุ เหตุคดีนี้มิได้เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 72-0605 กรุงเทพมหานคร แต่เกิดจากความประมาทของผู้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดด้วย ค่าเสียหายโจทก์ไม่เกิน32,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน70,823 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน70,779 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์เอกสารหมาย จ.2 ได้ระบุว่ามอบอำนาจให้ฟ้องร้องดำเนินคดีกับบริษัทสยามพัฒนา จำกัด จำเลยที่ 2 มีชื่อว่าบริษัทสยามพัฒนาเซอร์วิส (1988)จำกัด ไม่เคยมีชื่อว่าบริษัทสยามพัฒนา จำกัด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2โดยอาศัยหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว เดิมโจทก์ได้ฟ้องบริษัทสยามพัฒนา จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2537 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดสยามพัฒนา ศาลชั้นต้นอนุญาต และต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2537 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ชื่อจำเลยที่ 2 อีกครั้งหนึ่งเป็นบริษัทสยามพัฒนาเซอร์วิส (1988) จำกัด ศาลชั้นต้นอนุญาตทั้งนี้เป็นเวลาก่อนจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ ดังนั้นจึงต้องถือว่าโจทก์ได้ฟ้องบริษัทสยามพัฒนาเซอร์วิส (1988) จำกัดเป็นจำเลยที่ 2 โดยกล่าวในฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดต่อรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วยแต่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้คดีแต่เพียงว่า โจทก์แก้ไขคำฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำละเมิดฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความและปฏิเสธในข้อที่ว่าเหตุละเมิดตามฟ้องเกิดจากความประมาทของคนขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้มิได้เกิดจากคนขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 และค่าเสียหายตามฟ้องไม่เป็นความจริงโดยไม่ได้ให้การปฏิเสธชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยอันเป็นการฟ้องผิดตัว ดังนั้นผู้โต้แย้งสิทธิที่แท้จริงกับโจทก์คือจำเลยที่ 2 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 คดีนี้โจทก์กล่าวในฟ้องว่าได้มอบอำนาจให้นายสุภาพ ทองภูธรณ์ ฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2โดยระบุในหนังสือมอบอำนาจว่าให้ฟ้องบริษัทสยามพัฒนา จำกัดไม่ตรงกับชื่อของจำเลยที่ 2 ที่ได้จดทะเบียนไว้ และต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเกี่ยวกับชื่อของจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงดังที่ได้จดทะเบียนไว้ตามเอกสารหมาย จ.4และศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตแล้ว กรณีจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2เป็นบุคคลคนเดียวกับชื่อที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจโจทก์จึงอาศัยหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ฟ้องและดำเนินคดีต่อจำเลยที่ 2 แทนโจทก์ได้ นอกจากนี้โจทก์ได้แต่งตั้งนายสุภาพ ทองภูธรณ์ ผู้รับมอบอำนาจเป็นทนายความของโจทก์ตามใบแต่งทนายความท้ายฟ้อง ด้วยผลก็คือผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์กับทนายโจทก์จึงเป็นบุคคลคนเดียวกัน ดังนั้นนายสุภาพ ทองภูธรณ์ ในฐานะทนายโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจการเป็นตัวแทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 นายสมบูรณ์ ทองภูธรณ์ ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาแสดงว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องคดีแทนโจทก์อีก ฟ้องโจทก์ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแม้โจทก์จะไม่ได้แก้ไขชื่อบริษัทสยามพัฒนา จำกัดในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 ให้ถูกต้องเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 ที่แท้จริง ก็ไม่มีผลกระทบกระเทือนฟ้องโจทก์ที่สมบูรณ์ดังกล่าวแล้วให้กลับกลายเป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์แต่อย่างไรโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์ได้ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเปลี่ยนเป็นชื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 2 เมื่อพ้นกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ได้ฟ้องบริษัทสยามพัฒนาจำกัด เป็นจำเลยที่ 2 ให้รับผิดต่อโจทก์ในฐานะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ชื่อจำเลยที่ 2 เป็นบริษัทสยามพัฒนาเซอร์วิส (1988) จำกัด เมื่อพ้นกำหนดเวลา 1 ปีแล้ว แต่เป็นเวลาก่อนจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การซึ่งโจทก์มีสิทธิกระทำได้ เพราะเป็นการขอแก้ไขข้อผิดพลาดเกี่ยวกับชื่อคู่ความที่โจทก์ฟ้องในระหว่างส่งหมายเรียกและสำเนาฟ้องแก่คู่ความไม่มีกฎหมายห้าม ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 2 จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่โจทก์ยื่นคำฟ้องภายในกำหนด1 ปี นับแต่วันทำละเมิด ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความฎีกาจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์เป็นการมอบอำนาจเฉพาะการหรือทั่วไปนั้นไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไปจึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน

Share