แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเพราะโจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนที่คณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่กำหนดราคาเบื้องต้นฯ กำหนด โดยโจทก์อุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์และโจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลภายใน 1 ปี นับแต่วันที่พ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับคำอุทธรณ์ ทั้งคดีไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบว่ามีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนเงินค่าทดแทน ดังนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยโดยไม่จำต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอีกครั้งหนึ่งก่อน
สัญญาซื้อขายที่ดิน 1 งาน 50 ตารางวา และสัญญาซื้อขายที่ดิน 12 ตารางวา โจทก์และจำเลยทำต่างวันกันและเป็นคนละฉบับต่างกันอีกทั้งคำอุทธรณ์ของโจทก์ฉบับลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2534 อุทธรณ์ขอให้เพิ่มค่าทดแทนที่ดิน 1 งาน 50 ตารางวา ส่วนคำอุทธรณ์ของโจทก์ฉบับลงวันที่ 19กันยายน 2534 ก็อุทธรณ์ขอให้เพิ่มค่าทดแทนเฉพาะที่ดิน 12 ตารางวา เป็นอีกฉบับหนึ่งต่างหากและเป็นคำอุทธรณ์ที่พ้นระยะเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากเจ้าหน้าที่ให้มารับเงินค่าทดแทนที่ดิน 1 งาน 50 ตารางวา ดังนี้จึงถือไม่ได้ว่า คำอุทธรณ์ค่าทดแทนที่ดินจำนวน 12 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของคำอุทธรณ์ค่าทดแทนที่ดินจำนวน 1 งาน 50 ตารางวา เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ภายในกำหนด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องต่อศาลขอให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนในส่วนนี้เพิ่มขึ้น
เมื่อปรากฏว่ามีการกำหนดค่าทดแทนไว้เป็นพิเศษใน พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ฉบับใดโดยเฉพาะ ดังนี้ การกำหนดเงินค่าทดแทนที่จะให้แก่โจทก์จึงต้องบังคับตามมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์พ.ศ. 2530 ซึ่งตามมาตรา 21 (1) ให้กำหนดเงินค่าทดแทนโดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.ออกตามมาตรา 6 ประกอบด้วยประการหนึ่ง แต่ทั้งโจทก์และจำเลยนำสืบฟังไม่ได้ว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินของโจทก์ที่จะต้องถูกเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.คือวันที่ 1 มกราคม 2531เป็นราคาเท่าไร ส่วนที่โจทก์นำสืบราคาซื้อขายที่ดินรวม 68 โฉนด ก็ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงใหญ่อยู่ติดถนน 3 ด้าน คือถนนเจริญกรุง ถนนสีลม และถนนศรีเวียง แต่ที่ดินของโจทก์ติดซอยธนวัฒน์ มิได้ติดถนนใหญ่ ทั้งระยะเวลาที่ซื้อขายก็เป็นเวลาภายหลังและห่างจากวันใช้บังคับ พ.ร.ฎ.ถึง 2 ปี ราคาประเมินก็เพียงตารางวาละ 70,000 บาท จึงไม่น่าเชื่อว่าราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของที่ดินโจทก์ในวันที่ 1 มกราคม 2531 จะเป็นตารางวาละ 252,800 บาทที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้โจทก์ได้รับค่าทดแทนที่ดินเพิ่มเป็นตารางวาละ 150,000 บาทนั้น จึงเป็นการกำหนดเงินค่าทดแทนโดยได้คำนึงถึงหลักเกณฑ์ตามมาตรา 21 (1)ถึง (5) เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์ผู้ถูกเวนคืนและสังคมแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์และจำเลยมิได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ทั้งศาลอุทธรณ์ก็มิได้วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยและศาลอุทธรณ์พิพากษาในตอนท้ายว่า นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แสดงว่าศาลอุทธรณ์ยังคงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ แต่อย่างไรก็ตามที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีคงที่นั้น ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหา-ริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 26 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติให้โจทก์มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าทดแทนที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน ส่วนจะได้รับอัตราเท่าใดต้องเป็นไปตามประกาศของธนาคารออมสินที่ประกาศอัตราดอกเบี้ยขึ้นลง แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเนื่องจากโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาให้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นจากที่ศาลล่างทั้งสองกำหนด