คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1118/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4(5) ประกอบมาตรา 11 วรรคหนึ่ง การชักลากไม้ถือเป็นการทำไม้ ดังนั้นการชักลากไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือระเบียบในการชักลากไม้ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย จึงเป็นการทำไม้โดยไม่รับอนุญาตตามมาตรา 11 ซึ่งผู้กระทำ ต้องรับโทษตามมาตรา 73 จำเลยชักลากไม้โดยยังไม่ได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจวัดคำนวณค่าภาคหลวงตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการกำหนด หลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขและระยะเวลาในการชักลาก และนำ ไม้เคลื่อนที่ภายหลังสัมปทานสิ้นสุดลง พ.ศ. 2532 ซึ่งออกตามความในมาตรา 68 เบญจ วรรคท้าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตรวม 2 กระทง พระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 68 เบญจ วรรคสาม ที่บัญญัติว่าผู้รับสัมปทานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไข และระยะเวลาตามที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนดดังกล่าวให้หมดสิทธิในไม้นั้น และให้ไม้นั้นตกเป็นของแผ่นดินเป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้รับสัมปทานหมดสิทธิในไม้โดยให้ไม้ตกเป็นของแผ่นดิน มิใช่หมายความว่าเมื่อไม้ตกเป็นของแผ่นดินแล้วการกระทำไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตราอื่นอีก และเมื่อการกระทำความผิดของจำเลยเป็นการทำไม้ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยจึงมีความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนอีกด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อระหว่างวันที่ 20 มีนาคม2532 ถึงวันที่ 28 เมษายน 2533 เวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกันจำเลยทั้งห้าร่วมกันทำไม้ยางซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ตามกฎหมาย จำนวน 61 ท่อน กับทำไม้หวงห้ามประเภท ก.ตามพระราชกฤษฎีกา คือ ไม้กระท้อนป่า 15 ท่อน ไม้กระบก 9 ท่อนไม้กระบาก 11 ท่อน ไม้ลำไยป่า 4 ท่อน ไม้แลนไห้ 34 ท่อนไม้มะหาด 11 ท่อน ไม้จำปีป่า 1 ท่อน ไม้เต็งตานี 33 ท่อนไม้ตะเคียนทอง 5 ท่อน ไม้แดงน้ำ 56 ท่อน ไม้ตะคร้ำ 11 ท่อนไม้ตะเคียนหนู 2 ท่อน ไม้ตะแบก 16 ท่อน ไม้เสลา 4 ท่อนไม้ปู่เจ้า 2 ท่อน ไม้มะอ้าตาเสือ 1 ท่อน ไม้ตาเสือ 10 ท่อนไม้บุนนาค 5 ท่อน ไม้เนา 1 ท่อน ไม้พระเจ้าห้าพระองค์ 2 ท่อนไม้คำดง 24 ท่อน ไม้มะกล่ำต้น 7 ท่อน ไม้มะค่าโมง 95 ท่อนไม้ยมหิน 17 ท่อน และไม้สมพง 65 ท่อน รวมไม้หวงห้ามประเภท ก.ดังกล่าวจำนวน 441 ท่อน รวมเป็นไม้หวงห้ามทั้งสิ้น 502 ท่อนในเขตป่าแม่สิน-ป่าแม่สาน ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม้ยางและไม้หวงห้ามจำนวน 502 ท่อนดังกล่าวเป็นไม้ที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันตัดฟันลงตามสัมปทานที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตดังกล่าวและอยู่ในระหว่างการชักลากภายหลังจากสัมปทานไม้ที่จำเลยที่ 1ได้รับอนุญาตสิ้นสุดลง จำเลยทั้งห้าต้องหยุดการตัดฟันไม้รวมถึงการชักลากและนำไม้เคลื่อนที่ออกจากจุดที่ไม้นั้นอยู่โดยสิ้นเชิง แต่จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันทำไม้โดยการชักลากและนำไม้เคลื่อนที่ออกจากจุดที่ไม้ดังกล่าวเคยอยู่เดิม ขณะที่สัมปทานไม้ที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตสิ้นสุดลง ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งห้าไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไข และระยะเวลาในการชักลากไม้และนำไม้เคลื่อนที่ภายหลังการสัมปทานสิ้นสุดลง โดยจำเลยทั้งห้ายังมิได้เสียค่าภาคหลวงสำหรับไม้ดังกล่าวและยังไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมายและเมื่อระหว่างวันที่ 20 มีนาคม 2532 ถึงวันที่ 29 ตุลาคม 2533ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนติดต่อกัน จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำไม้ยางซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. จำนวน 16 ท่อน กับทำไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกา คือ ไม้กระท้อนป่า 17 ท่อนไม้กระบก 1 ท่อน ไม้กระบาก 6 ท่อน ไม้ลำไยป่า 1 ท่อนไม้แลนไห้ 5 ท่อน ไม้มะหาด 13 ท่อน ไม้จำปีป่า 8 ท่อน ไม้เต็งตานี7 ท่อน ไม้ตะเคียนทอง 1 ท่อน ไม้แดงน้ำ 32 ท่อน ไม้ตะคร่ำ 3 ท่อนไม้ตะแบก 3 ท่อน ไม้เสลา 3 ท่อน ไม้ปู่เจ้า 2 ท่อน ไม้มะอ้าตาเสือ10 ท่อน ไม้ตาเสือ 16 ท่อน ไม้คำดง 2 ท่อน ไม้มะกล่ำต้น 1 ท่อนไม้มะค่าโมง 12 ท่อน ไม้ยมหอม 2 ท่อน ไม้ยมหิน 2 ท่อน และไม้สมพง 15 ท่อน รวมไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามพระราชกฤษฎีกาจำนวน 162 ท่อน รวมไม้หวงห้ามทั้งสิ้นจำนวน 178 ท่อน ภายในเขตป่าแม่สิน-ป่าแม่สาน ซึ่งเป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยไม้ยางและไม้หวงห้าม 178 ท่อน ดังกล่าวเป็นไม้ที่จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันตัดฟันลงตามสัมปทานไม้ที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตสิ้นสุดลงจำเลยทั้งห้าต้องหยุดการตัดฟันไม้รวมถึงการชักลากและนำไม้เคลื่อนที่ออกจากจุดที่ไม้นั้นอยู่โดยสิ้นเชิง แต่จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำไม้โดยชักลากและนำไม้ดังกล่าวข้างต้นเคลื่อนที่ออกจากจุดที่ไม้ดังกล่าวเคยอยู่เดิมขณะที่สัมปทานไม้ที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตสิ้นสุดลง ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งห้าไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไข และระยะเวลาในการชักลากไม้และนำไม้เคลื่อนที่ภายหลังสัมปทานสิ้นสุดลง โดยจำเลยทั้งห้ายังไม่ได้เสียค่าภาคหลวงสำหรับไม้ดังกล่าว และไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่และไม่ได้รับยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย เหตุเกิดที่ตำบลแม่สินตำบลแม่สำ และตำบลบ้านแก่ง อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัยเกี่ยวพันกัน ต่อมาระหว่างวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2533 ถึงวันที่28 เมษายน 2533 เจ้าพนักงานตรวจยึดได้ไม้หวงห้ามที่จำเลยทั้งห้าร่วมกันทำโดยการชักลากผิดกฎหมาย จำนวน 502 ท่อน และระหว่างวันที่ 18 ถึง 29 ตุลาคม 2533 ตรวจยึดได้ไม้หวงห้ามอีกจำนวน178 ท่อน รวมเป็นไม้หวงห้ามทั้งสิ้น 680 ท่อน ปริมาตร 1,715.17ลูกบาศก์เมตร เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 68 ทวิ, 68 จัตวา,68 เบญจ, 73, 74 พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507มาตรา 14, 31 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 และให้ริบไม้ของกลางทั้งหมด กับให้นับโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 345/2534ของศาลชั้นต้น และให้นับโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 453/2536 ของศาลชั้นต้นตามลำดับ
จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธ แต่รับว่าจำเลยทั้งห้าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 345/2534 ของศาลชั้นต้น และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 453/2536 ของศาลชั้นต้น ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยที่ 2ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2เป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(1)ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 จากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2เป็นกรรมการผู้จัดการ จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีจำเลยที่ 4 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 5เป็นผู้จัดการสนามของจำเลยที่ 3 และที่ 4 จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ทำไม้หวงห้ามธรรมดา นอกจากไม้สักในเขตสัมปทานป่าสงวนแห่งชาติแม่สิน-แม่สาน การทำไม้ในเขตสัมปทานดังกล่าว จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 4เป็นผู้ดำเนินการ จำเลยที่ 4 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้จัดการสนามเป็นผู้เข้าไปดำเนินการตัด ฟัน และชักลากไม้ในเขตสัมปทาน ภายหลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีคำสั่งให้สัมปทานของจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงแล้ว จำเลยที่ 1ได้ขอพิสูจน์สิทธิและได้รับอนุญาตให้ทำไม้ต่อไปอีก 180 วันไม้ที่ได้รับการตรวจพิสูจน์สิทธิมีจำนวนดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13และ จ.14 ในการชักลากไม้ที่ขอพิสูจน์สิทธิดังกล่าว จำเลยที่ 1จะต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไข และระยะเวลาในการชักลากและนำไม้เคลื่อนที่ภายหลังสัมปทานสิ้นสุดลง พ.ศ. 2532 กล่าวคือ จะต้องมีการตรวจวัดคำนวณค่าภาคหลวง ณ จุดที่ไม้อยู่ ตามวันเวลาและสถานที่ที่เกิดเหตุ จำเลยทั้งห้าได้ร่วมกันชักลากไม้ซึ่งมีรอยตราชักลากและเป็นไม้ที่ผ่านการตรวจพิสูจน์แล้วจำนวน 680 ท่อนปริมาตร 1712.16 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งต้องเสียค่าภาคหลวง71,343.10 บาท โดยไม้ดังกล่าวทั้งหมดยังไม่มีการคำนวณและตีตราค่าภาคหลวงเพื่อให้ชักลากออกจากจุดที่ไม้อยู่ อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขและระยะเวลาในการชักลากและนำไม้เคลื่อนที่ ภายหลังจากสัมปทานสิ้นสุด พ.ศ. 2532 โดยอาศัยอำนาจตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 68 เบญจ วรรคท้าย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในข้อนี้พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4(5) บัญญัติไว้ว่า “ทำไม้” หมายความว่าตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด ชักลากไม้ในป่าหรือนำไม้ออกจากป่าด้วยประการใด ๆ ฯลฯ” และมาตรา 11 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ผู้ใดทำไม้ หรือเจาะ หรือสับ หรือเผา หรือทำอันตรายด้วยประการใด ๆ แก่ไม้หวงห้าม ต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือได้รับสัมปทานตามความในพระราชบัญญัตินี้และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงหรือในการอนุญาต”จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า การชักลากไม้ถือเป็นการทำไม้ด้วยการชักลากไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดหรือระเบียบในการชักลากไม้ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายจึงถือเป็นการทำไม้โดยไม่รับอนุญาตตามมาตรา 11 ซึ่งผู้กระทำต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 คดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ดังกล่าวข้างต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5ได้ร่วมกันชักลากไม้จำนวน 680 ท่อน ปริมาตร 1712.16 ลูกบาศก์เมตรโดยยังไม่ได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทำการตรวจวัดคำนวณค่าภาคหลวงตามระเบียบกรมป่าไม้ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาในการชักลากและนำไม้เคลื่อนที่ภายหลังสัมปทานสิ้นสุดลง พ.ศ. 2532 ซึ่งออกตามความในมาตรา 68 เบญจ วรรคท้ายแห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 แล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นความผิดฐานทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตรวม 2 กระทง ส่วนที่มาตรา 68 เบญจ วรรคสาม บัญญัติว่า”ผู้รับสัมปทานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและระยะเวลาตามที่อธิบดีกรมป่าไม้กำหนดดังกล่าว ให้หมดสิทธิในไม้นั้น และให้ไม้นั้นตกเป็นของแผ่นดิน” นั้น เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดให้จำเลยหมดสิทธิในไม้โดยให้ไม้ตกเป็นของแผ่นดินมิใช่หมายความว่าเมื่อไม้ตกเป็นของแผ่นดินแล้วการกระทำไม่เป็นความผิดตามบทบัญญัติมาตราอื่นอีก และเมื่อการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ดังกล่าว เป็นการทำไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 จึงมีความผิดฐานทำไม้ในเขตป่าสงวนอีกด้วย
พิพากษากลับ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 73 วรรคสองและพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มาตรา 14, 31 วรรคสองให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 73 วรรคสองซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90ปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละกระทงละ 150,000 บาท รวม 2 กระทงรวมปรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 คนละ 300,000 บาท จำเลยที่ 4 และที่ 5ให้ลงโทษจำคุกคนละกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง รวมจำคุกจำเลยที่ 4และที่ 5 คนละ 4 ปี ริบไม้ของกลาง จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ส่วนคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ต่อจากโทษในคดีอื่นนั้นไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยดังกล่าวแล้วหรือไม่จึงให้ยกเสีย

Share