คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5232/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อโจทก์ร่วมเป็นฝ่ายก่อเหตุโดยด่าว่ามารดาจำเลยด้วยถ้อยคำรุนแรงและพูดท้าทายจำเลยเป็นทำนองให้ไปต่อสู้กันในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพราะถูกโจทก์ร่วมข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม อันเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ดังนี้โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด และไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ม. ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ร่วมย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนโจทก์ร่วมได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการกับยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 และ มาตรา 44/1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายมนัส โดยนายมานพ ผู้แทนโดยชอบธรรม ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ส่วนข้อหามีและพาอาวุธปืนโจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาตและยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาล 150,000 บาท ค่าเจ็บปวดทนทุกข์ทรมาน 150,000 บาท ค่าขาดรายได้จากการที่ผู้เสียหายช่วยบิดามารดาทำงาน 117,000 บาท และค่าขาดรายได้จากการที่บิดามารดาต้องหยุดทำงานเพื่อดูแลผู้เสียหายเป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นเงิน 100,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทน 517,000 บาท
จำเลยให้การคดีในส่วนแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืน(ที่ถูก มีอาวุธปืนมีเครื่องหมายทะเบียนของผู้อื่น) และเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 10 ปี 12 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี 16 เดือน กับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 90,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และ 72 ลงโทษจำคุก 6 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกของจำเลยในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว คงให้จำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีโจทก์ร่วม นายศักดา นายสำราญ นายคหบดี และนายนัทพงศ์ เป็นประจักษ์พยาน ส่วนจำเลยมีจำเลยและนายคณิต เป็นพยานเห็นว่า แม้นประจักษ์พยานโจทก์และโจทก์ร่วมต่างเป็นเพื่อนของโจทก์ร่วม และให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุนาน 1 เดือนเศษก็ตาม แต่พยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้ง 4 ปากดังกล่าวต่างรู้จักจำเลย ทั้งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าจะเบิกความเพื่อช่วยเหลือโจทก์ร่วมและปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ พยานโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวได้ให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความยืนยันว่า จำเลยยิงปืนในที่เกิดเหตุ 2 นัด นัดแรกยิงขึ้นฟ้า นัดที่สองยิงโจทก์ร่วม มิได้ให้การถึงข้อเท็จจริงดังที่จำเลยอ้าง สำหรับนายคณิต พยานจำเลยเพิ่งมาเบิกความว่า จำเลยตบหน้าโจทก์ร่วม 1 ครั้ง หลังจากนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด เป็นเสียงปืนของโจทก์ร่วม แล้วโจทก์ร่วมวิ่งไปทางทิศตะวันตก ส่วนจำเลยรีบลงหมอบและใช้ปืนยิงไปทางทิศตะวันตก โดยจำเลยมิได้อ้างนายคณิตเป็นพยานในชั้นสอบสวนตั้งแต่แรก ดังนั้น ที่จำเลยอ้างว่าไม่อยากให้การพาดพิงถึงนายคณิตจึงเป็นข้อพิรุธ ทั้งจำเลยเบิกความเพียงว่า ขณะเดินกลับไปขับรถจักรยานยนต์ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด โดยไม่ได้ระบุว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้ยิง ซึ่งแตกต่างจากคำเบิกความของนายคณิต นอกจากนี้หากในขณะเกิดเหตุโจทก์ร่วมหรือพวกของโจทก์ร่วมมีอาวุธปืนติดตัวไปด้วย โจทก์ร่วมคงไม่ยินยอมให้จำเลยใช้อาวุธปืนจี้ที่หน้าผากเพื่อข่มขู่และตบหน้า ทั้งยังต้องวิ่งหลบหนีไปจากที่เกิดเหตุ และพวกของโจทก์ร่วมซึ่งมีอาวุธปืนติดตัวไปคงไม่เพียงเข้าไปห้ามปรามเท่านั้น แต่อาจจะใช้อาวุธปืนข่มขู่ให้จำเลยออกไปจากที่เกิดเหตุด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับบาดแผลกระสุนปืนที่ไหล่ซ้ายด้านหลัง จึงน่าเชื่อว่าเป็นบาดแผลที่ถูกยิงขณะจำเลยวิ่งไล่ติดตามโจทก์ร่วม หาใช่จำเลยยิงปืนขณะโจทก์ร่วมกำลังหันหลังวิ่งหนีตามฎีกาของจำเลยไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมสอดคล้องต้องกัน จึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วมขณะจำเลยวิ่งไล่ติดตามโจทก์ร่วมไป พยานหลักฐานของจำเลยไม่อาจหักล้างพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ การกระทำของจำเลยจึงมิใช่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จึงมิใช่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่การที่โจทก์ร่วมตะโกนด่ามารดาจำเลย ซึ่งเป็นผู้บังเกิดเกล้าด้วยถ้อยคำที่หยาบคายแล้วยังพูดท้าทายจำเลยเป็นทำนองให้ไปต่อสู้กันในที่เกิดเหตุเมื่อจำเลยไปถึง โจทก์ร่วมยังด่ามารดาจำเลยด้วยถ้อยคำที่หยาบคายอีก ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ร่วมเป็นฝ่ายก่อเหตุโดยด่าว่ามารดาจำเลยด้วยถ้อยคำรุนแรงและพูดท้าทายจำเลยเป็นทำนองให้ไปต่อสู้กันในที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพราะถูกโจทก์ร่วมข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม เป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ และพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 และ 72 โจทก์ร่วมไม่ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำความผิด ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยสำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) นายมานพ ผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ร่วมย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนโจทก์ร่วมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 5 (2) และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 30 กับยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายมนัส โดยนายมานพ ผู้แทนโดยชอบธรรมเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ และศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม 90,000 บาท สูงเกินส่วน จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์และคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของนายมนัส โดยนายมานพ ผู้แทนโดยชอบธรรม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share