คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2131/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาจ้างก่อสร้างข้อหนึ่งระบุว่า ถ้าผู้รับจ้างทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ แต่สัญญาข้อต่อไปได้ระบุว่า ผู้รับจ้างสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขและจัดทำงานที่ไม่ได้ทำไปโดยความซื่อสัตย์สุจริตและปรากฏว่าไม่ประณีตเรียบร้อยให้เรียบร้อยดีภายใน 15 วัน ดังนี้ หมายความว่าผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้เมื่อผู้รับจ้างผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญที่ไม่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้เพราะมิฉะนั้นแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อสัญญากำหนดระยะเวลาให้ผู้รับจ้างแก้ไขให้ถูกต้องไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 ได้แก้ไขการก่อสร้างส่วนที่ผิดสัญญาให้ถูกต้องตรงตามสัญญาจนโจทก์ตรวจรับงานและชำระเงินค่าจ้างสำหรับงานงวดนั้นแล้วโจทก์จึงไม่สามารถหยิบยกเอาเหตุดังกล่าวมาบอกเลิกสัญญาได้
จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 จะฎีกาเพียงผู้เดียว เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหาย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245(1) ประกอบด้วยมาตรา247.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 รับจ้างก่อสร้างอาคารเรียนให้โจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1ภายในวงเงิน 1,097,500 บาท จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างก่อสร้าง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน 10,616,000 บาทแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นจำนวน 1,097,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาแต่คณะกรรมการตรวจการจ้างของโจทก์กลั่นแกล้งไม่ยอมรับมอบงานและสั่งให้จำเลยที่ 1 หยุดงานก่อสร้างเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำงานให้เสร็จตามสัญญาและทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินค่าเสียหายจำนวน 7,872,141บาทแก่จำเลยที่ 1
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาจำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและมิได้กลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 จะเสียหายก็ไม่เกิน 1,000,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน9,220,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดเป็นเงิน 1,097,500 บาท
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่ามิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ข้อ 5 ระบุไว้ว่า ‘ผู้รับจ้างสัญญาว่าจะทำงานจ้างรายนี้ให้แล้วเสร็จบริบูรณ์ภายใน 480 วันถ้าผู้รับจ้างมิได้ลงมือทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนด หรือทำการไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดหรือล่วงเลยเวลากำหนดไปแล้วก็ดี ทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดก็ดีผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และการที่ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างทำการล่วงกำหนดเวลาไปไม่หมายความว่า ผู้ว่าจ้างผ่อนเวลาให้แก่ผู้รับจ้างอันจะไม่ต้องรับผิดตามสัญญา’ ตามสัญญาดังกล่าวกรณีที่จะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาอันโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ได้แก่กรณีที่จำเลยที่ 1 มิได้ลงมือทำงานเลยจนพ้นกำหนดเวลาตามสัญญา หรือลงมือทำงานแต่ทำไม่เสร็จภายในกำหนดหรือปรากฏว่าในการทำงานจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด แต่ในกรณีทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดนี้น่าจะหมายถึงการทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นสาระสำคัญ ไม่ใช่หมายความว่าไม่ว่าผู้รับจ้างทำผิดสัญญาข้อใดโจทก์ก็ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้เสมอไปเพราะในสัญญาข้อ 16 มีข้อความตอนหนึ่งว่า ‘ผู้รับจ้างสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขและจัดทำงานซึ่งได้ตรวจพบว่าไม่ได้ทำไปโดยความซื่อสัตย์สุจริตและปรากฏว่าไม่ประณีตเรียบร้อยนี้ให้เรียบร้อยดีภายใน 15 วัน’แสดงให้เห็นชัดว่าแม้มีการทำงานผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดโจทก์ก็ได้ตกลงไว้ว่าจะให้โอกาสแก่จำเลยที่ 1 ในอันที่จะแก้ไขปรับปรุงงานให้เรียบร้อยใน 15 วัน นับแต่ที่มีการตรวจพบและเมื่อจำเลยที่ 1 แก้ไขปรับปรุงตามสัญญาข้อ 16 นี้แล้วก็ไม่อาจจะมาถือเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาได้อีก มิฉะนั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีข้อความตามข้อ 16 ไว้ในสัญญา ส่วนที่ในสัญญาระบุไว้ว่าการที่ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างทำการล่วงกำหนดเวลาไปไม่หมายความว่าผู้ว่าจ้างผ่อนเวลาให้แก่ผู้รับจ้างนั้น มีความหมายว่าถ้าโจทก์ยอมให้จำเลยทำงานต่อไปอีกทั้งๆที่พ้นกำหนดเวลาตามสัญญาแล้วจำเลยที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจะอ้างว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาให้เองจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาไม่ได้เท่านั้น สำหรับกรณีของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์อ้างว่าเป็นการทำผิดสัญญามี 3เรื่องด้วยกันคือใช้เหล็กเส้นในงานโครงสร้างไม่ตรงตามสัญญาคอนกรีตที่ใช้หล่อคานไม่ได้มาตรฐานเพราะมีน้ำผสมมากเกินไปและเจาะคานคอนกรีตซึ่งเป็นคานคอดินเพื่อวางท่อสายไฟฟ้าและท่อน้ำทิ้งโดยโจทก์ไม่ได้อนุมัติก่อน ศาลฎีกาเห็นว่าทั้ง 3 กรณีล้วนเป็นสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อยได้ดังจะเห็นได้ว่า ในเรื่องเหล็กเส้นไม่ตรงตามรายการในที่สุดโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ชดเชยเป็นเงินเพียง 7,864 บาท เรื่องเจาะคานคอดินโจทก์ให้จำเลยที่ 1 ใช้อีพ็อคซี่อุด ส่วนคอนกรีตที่ทำไปแล้วปรากฏจากการทดสอบว่าสามารถรับน้ำหนักได้ตามที่กำหนดไว้ในแบบ ยิ่งกว่านั้นโจทก์ยังได้ตรวจรับงานและชำระเงินให้จำเลยที่ 1 เรียบร้อยแล้ว โจทก์จึงไม่สามารถหยิบยกเหตุดังกล่าวมาบอกเลิกสัญญาและเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามฟ้อง
อนึ่ง จำเลยที่ 2 ถูกฟ้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 1 จะฎีกาเพียงผู้เดียว เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ 1มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาที่โจทก์มีสิทธิเรียกค่าปรับหรือค่าเสียหาย ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share